ผ่าตัดลดอ้วนเพื่อลดน้ำหนัก และคุมน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ผ่าตัดลดอ้วนเพื่อลดน้ำหนัก และคุมน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

JAMA. 2013;309(21):2250-2261.

            บทความวิจัยเรื่อง Bariatric Surgery for Weight Loss and Glycemic Control in Nonmorbidly Obese Adults With Diabetes: A Systematic Review รายงานการผ่าตัดลดน้ำหนักให้ผลดีในผู้ที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) เท่ากับ 35 หรือสูงกว่า และเป็นโรคจากความอ้วน ขณะเดียวกันก็มีการให้ความสนใจที่จะนำการรักษาวิธีนี้มาใช้สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่มี BMI ต่ำกว่า

            บทความนี้รายงานข้อมูลจากงานวิจัยซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการผ่าตัดลดน้ำหนักเปรียบเทียบกับการรักษาโดยไม่ผ่าตัดต่อการลดน้ำหนักและควบคุมน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวาน หรือมีภาวะความทนทานต่อน้ำตาลบกพร่อง และมี BMI ระหว่าง 30-35

            นักวิจัยสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูล PubMed, EMBASE และ Cochrane Library ตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 1985 ถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 2012 จากบทความที่คัดกรองทั้งหมด 1,291 ชิ้นได้รวบรวมการศึกษาด้วยการผ่าตัด 32 ชิ้น, การทบทวนอย่างเป็นระบบจากการรักษาโดยไม่ผ่าตัด 11 ชิ้น และการศึกษาโดยไม่ผ่าตัด 11 ชิ้นที่มีกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ และผู้ทบทวนได้แยกกันรวบรวมผลด้านการลดน้ำหนัก, ผลลัพธ์ด้านเมตาบอลิก และอาการไม่พึงประสงค์

            การศึกษาเปรียบเทียบ (RCTs) 3 ชิ้น (n = 290 ประกอบด้วยการศึกษาในผู้ป่วย 150 รายที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และมี BMI เฉลี่ยเท่ากับ 37, การศึกษาในผู้ป่วย 80 รายที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน [38% เป็น metabolic syndrome] และมี BMI ระหว่าง 30-35 และการศึกษาในผู้ป่วย 60 รายที่เป็นโรคเบาหวานและมี BMI ระหว่าง 30-40  [ผู้ป่วย 13 รายมี BMI < 35]) พบว่าการผ่าตัดสัมพันธ์กับผลลัพธ์ที่ดีกว่าด้านการลดน้ำหนัก (14.4-24 กิโลกรัม) และควบคุมน้ำตาล (ระดับ hemoglobin A1c ดีขึ้น 0.9-1.43 จุด) ระหว่าง 1-2 ปีในช่วงการติดตามเทียบกับการรักษาโดยไม่ผ่าตัด ซึ่งผลจากการเปรียบเทียบแบบ indirect comparisons ด้วยข้อมูลจากงานวิจัยเชิงสังเกตที่ศึกษาการผ่าตัดลดน้ำหนัก(n ≈ 600 ราย) และการวิเคราะห์อภิมานจากการรักษาโดยไม่ผ่าตัด (รวมงานวิจัย RCTs กว่า 300 ชิ้น) ก็สนับสนุนผลลัพธ์จากการติดตามที่ 1 หรือ 2 ปี อย่างไรก็ดี ไม่พบข้อมูลการผ่าตัดชัดเจนที่ภายหลังการติดตามระยะ 5 ปี ต่อผลลัพธ์ด้านเบาหวาน, การควบคุมน้ำตาล หรือผลลัพธ์ด้านโรคหลอดเลือดใหญ่และหลอดเลือดฝอย ขณะที่การศึกษา RCT บางชิ้นชี้ว่าการรักษาโดยไม่ผ่าตัดมีประโยชน์จากการติดตามที่ 10 ปีหรือนานกว่านั้น อาการไม่พึงประสงค์ซึ่งศัลยแพทย์เป็นผู้รายงานอยู่ในระดับต่ำ (เช่น การเสียชีวิตในโรงพยาบาลระหว่าง 0.3-1.0%) แต่ข้อมูลดังกล่าวได้จากโรงพยาบาลและศัลยแพทย์จำเพาะ และยังไม่มีข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์ในระยะยาว 

            หลักฐานในปัจจุบันเสนอแนะว่าการผ่าตัดลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่มี BMI 30-35 และเป็นเบาหวานสัมพันธ์กับการลดน้ำหนักในระยะสั้นที่ดีกว่า และการควบคุมน้ำตาลที่ดีกว่าเทียบกับการรักษาโดยไม่ผ่าตัด อย่างไรก็ดี ยังคงมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสรุปความเหมาะสมของการผ่าตัดลดน้ำหนักในผู้ป่วยกลุ่มนี้จนกว่าจะมีข้อมูลใหม่ที่ชี้ให้เห็นผลลัพธ์และภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดในระยะยาว