“เพราะเรามี... ลมหายใจเดียวกัน” 11 ปีแห่งความสำเร็จ Easy Asthma/COPD Clinic Network
ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหืดประมาณ 3 ล้านคน พบในเด็กร้อยละ 10 และผู้ใหญ่ร้อยละ 5 มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณปีละ 1,500 คน เฉลี่ยถึง 3 คนต่อวัน โดยพบว่าร้อยละ 70 ของการเสียชีวิตดังกล่าวสามารถป้องกันได้หากมีการจัดระบบที่จะเพิ่มบทบาทของพยาบาลและเภสัชกรในการร่วมดูแลผู้ป่วย การให้ความรู้เรื่องโรคหืด รวมทั้งแนวทางในการรักษาโรค ความรู้เรื่องยา และวิธีการใช้ยาพ่นชนิดต่าง ๆ แก่ผู้ป่วย รวมถึงการสร้างเครือข่ายการดูแลรักษาโรคหืดที่เป็นระบบ ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
จากการดำเนินงานด้วยความมุ่งมั่นตลอดระยะเวลา 11 ปี ของเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic Network) ซึ่งนำโดย รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความมุ่งหวังเช่นเดียวกันคือ อยากเห็นผู้ป่วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังมีคุณภาพชีวิตที่ดี และหายใจได้เต็มปอดดังเช่นคนปกติ นำไปสู่ความสำเร็จในการเข้าถึงการรักษาโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังของผู้ป่วยทั่วประเทศ
รศ.นพ.วัชรา กล่าวในงานประชุมใหญ่ ครั้งที่ 11 ของเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย ภายใต้แนวคิด “เพราะเรามี... ลมหายใจเดียวกัน” ว่า การประชุมในครั้งนี้มุ่งเน้นเรื่องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และให้ผู้ป่วยทุกคนสามารถมีลมหายใจในสภาพแวดล้อมเดียวกันกับคนทั่วไป นอกจากนี้การประชุมดังกล่าวยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้สมาชิกได้นำเสนอแนวทางการรักษาโรค แลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ระหว่างกันเพื่อนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป และภายในงานยังมีการประกาศผลและมอบรางวัลแก่โรงพยาบาลที่ส่งผลงานเข้าประกวด โดยโรงพยาบาลที่ได้รับรางวัล EACC Excellence Award 2014 ในปีนี้ประเภท COPD ในกลุ่ม Advanced Experience ได้แก่ โรงพยาบาลชัยภูมิ และรางวัลประเภท ASTHMA ในกลุ่ม Advanced Experience ได้แก่ โรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น
สำหรับเครือข่ายคลินิกโรคหืดฯ มีการดำเนินงานมาเป็นเวลา 11 ปี โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จึงทำให้การดำเนินงานของเครือข่ายคลินิกโรคหืดฯ ประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเครือข่ายที่มีคลินิกโรคหืดแบบง่ายจำนวน 1,374 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งในโรงพยาบาลชุมชนที่ห่างไกลซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากจำนวน 98 โรงพยาบาลในปี พ.ศ. 2551 ทำให้ผู้ป่วยในทุกภูมิภาคสามารถเข้ารับการรักษาได้โดยสะดวก และลดอัตราการหอบรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
ในปี พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมามีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาและนอนในโรงพยาบาลลดลงกว่า 40% ซึ่งนับเป็นความสำเร็จประการสำคัญของเครือข่ายโรคหืดฯ อันเกิดจากความร่วมมือร่วมใจในการทำงานของทุกภาคส่วนที่มีส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันให้การดำเนินงานเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากขาดหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไป ความสำเร็จที่จะเห็นจำนวนผู้ป่วยที่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นย่อมไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และยังคงต้องทำงานร่วมกันต่อไป เพื่อให้เครือข่ายเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในการดูแลผู้ป่วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง เนื่องจากทั้ง 2 โรคเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องการความต่อเนื่องในการรักษา
การทำงานของเครือข่ายคลินิกโรคหืดฯ จะมุ่งเน้นการทำแนวทางการรักษาให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาครบทุกขั้นตอนอย่างมีคุณภาพ ตั้งเป้าให้ผู้ป่วยทุกคนสามารถมีลมหายใจในสภาพแวดล้อมเดียวกันกับคนปกติทั่วไปและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยบุคลากรในโรงพยาบาลชุมชนจะได้เรียนรู้ ฝึกอบรม และปฏิบัติให้สามารถรักษาผู้ป่วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังได้เช่นเดียวกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพื่อกระจายองค์ความรู้ในการรักษาให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้นอย่างทั่วถึงอยู่ในชุมชนของเขาเอง
นอกเหนือจากองค์ความรู้หลักในแนวทางการรักษาและดูแลผู้ป่วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแล้ว ยังจัดให้มีการจัดอบรมบุคลากรในเครือข่ายที่เหมาะสมกับองค์ความรู้เฉพาะทางของสาขาวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วย ทั้งความรู้เฉพาะของแพทย์ ความรู้เฉพาะพยาบาล และของเภสัชกร เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับข้อมูลในส่วนงานที่ตนเองรับผิดชอบต่อผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ แล้วจึงนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาบูรณาการเป็นภาพรวม รวมถึงการทำงานของโรงพยาบาลเครือข่ายเองก็สามารถทำการสืบค้นประวัติ และแบ่งปันกรณีศึกษาของผู้ป่วยต่อกันได้ ทำให้ผู้ป่วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังในประเทศไทยมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ต้องการลดอัตราการนอนรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคหืดให้ลดลงอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยเอง รวมถึงช่วยลดการสูญเสียงบประมาณด้านการสาธารณสุขของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อีกด้วย
“ขณะนี้เครือข่ายคลินิกโรคหืดฯ มีความสำเร็จมาก แม้ในช่วงแรกจะยังไม่ได้รับความสนใจมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบุคลากรไม่มีเวลา และคิดว่าการจัดตั้งเครือข่ายอาจจะเป็นการเพิ่มภาระงาน แต่พอเริ่มทำกลับพบว่าได้ผลดีอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อได้รับฟังความรู้สึกของผู้ป่วยโรคหืดที่บอกกับเราว่ารู้สึกเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ ทำให้คนทำงานรู้สึกมีกำลังใจ ถึงแม้จะเหนื่อยแต่ผลลัพธ์ที่ออกมาถือว่าคุ้มค่า จนเกิดการบอกต่อและขยายเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้น” รศ.นพ.วัชรา กล่าว
รศ.นพ.วัชรา กล่าวอีกว่า ความสำเร็จของเครือข่ายคลินิกโรคหืดฯ ประการแรก เกิดขึ้นจากจิตวิญญาณของความเป็นวิชาชีพ ทุกคนยินดีที่จะทำงานหนักโดยที่ไม่ได้ค่าตอบแทนเพิ่ม ประการที่สอง เครือข่ายคลินิกโรคหืดฯ เป็นเรื่องง่าย ไม่ซับซ้อน โดยได้มีการทำให้แนวทางการรักษาจากเล่มหนา ๆ เข้าใจยาก มาทำให้เข้าใจง่ายขึ้นและสามารถนำไปปฏิบัติได้ ประการที่สาม โรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นโรคที่รักษาง่าย เห็นผลเร็วใน 3-6 เดือน และประการสุดท้าย นโยบายสนับสนุนของ สปสช. โรงพยาบาลที่มีอัตราการรับไว้รักษาในโรงพยาบาลต่ำก็จะได้เงินตอบแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลนั้นไม่ขาดทุน ทั้งหมดนี้ทำให้อัตราผู้ป่วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังในปี พ.ศ. 2556-2557 มีจำนวนลดลงร้อยละ 20 ต่อปี และคาดว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีอัตราการรับไว้รักษาในโรงพยาบาลเหลือศูนย์ได้ภายใน 5 ปี
“เป้าหมายของเราคือ อยากให้ผู้ป่วยโรคหืดไม่ต้องนอนโรงพยาบาล เพราะตามทฤษฎีแล้วไม่มีเหตุผลที่ผู้ป่วยโรคหืดต้องนอนโรงพยาบาลหรือต้องหอบมาโรงพยาบาล เพราะโรคมันเข้าใจได้โดยตรง ปัญหาที่พบคือ จะมารักษาก็ต่อเมื่อมีอาการ เพราะฉะนั้นจึงต้องให้ความรู้ โดยการรักษาโรคหืดนั้นไม่ยาก เพียงแต่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์การรักษาว่าจะต้องรักษาโรค ไม่ใช่รักษาเฉพาะเมื่อมีอาการเท่านั้น นี่คือความยากของโรค” รศ.นพ.วัชรา กล่าว
ด้าน นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การดำเนินงานอย่างจริงจังของเครือข่ายคลินิกโรคหืดฯ ทำให้โครงการนี้เกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นพันธมิตรในการสนับสนุนด้านต่าง ๆ ทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านการรักษาโรค รวมถึงความร่วมมือที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาที่ใช้รักษาโรคได้อย่างทั่วถึง เหล่านี้นับเป็นตัวอย่างความร่วมมือที่มุ่งเน้นประโยชน์ที่ผู้ป่วยเป็นสำคัญ
“ในโอกาสครบ 11 ปีของการประชุมเครือข่ายคลินิกโรคหืดฯ ผมขอขอบคุณคนทำงานทุก ๆ ฝ่ายที่ช่วยให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพและมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอดเวลา 11 ปี จนทำให้การรักษาโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังของประเทศไทยมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล แม้แต่ในโรงพยาบาลเล็ก ๆ ที่อยู่ห่างไกล ผู้ป่วยเองก็สามารถเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลใกล้บ้านซึ่งมีแนวทางการรักษาที่เป็นแบบแผนเช่นเดียวกับโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ประจำจังหวัดได้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดภาระงบประมาณด้านการสาธารณสุขของประเทศ ทั้งยังเป็นการยกระดับของระบบสาธารณสุขในประเทศไทยอีกด้วย” นพ.พีรพล กล่าว
นายกนิษฐ์ สังข์สุวรรณ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาคุณภาพและตรวจสอบทางการแพทย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ภาครัฐและภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย โดยมีเป้าหมายไปในแนวทางเดียวกันคือ ลดอัตราการรับไว้รักษาในโรงพยาบาล (Admission rate) ให้เหลือศูนย์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง
“จากการประชุมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ในเรื่องการบริหารงบประมาณที่ผ่านมา แนวทางในการทำงานร่วมกันในปีนี้และปีต่อ ๆ ไปมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเดิมนั้นมีความชัดเจนอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ว่าตอนนี้เรียกได้ว่าเป็นจุดเน้นที่จะทำร่วมกัน เมื่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นในประเด็นเดียวกันจะนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้เข้มแข็งขึ้น อีกทั้งได้มีการพูดถึง Admission rate near Zero ใน 2 โรคคือ โรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เมื่อนโยบายระดับประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกันแล้ว ย่อมส่งผลถึงระดับเขต ระดับจังหวัด และระดับอำเภอต่อไป ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อนโยบายขยับ แต่ละระดับก็จะมีบทบาทที่แตกต่างกันไป การที่จะทำให้งานประสบความสำเร็จได้ แต่ละคนต้องรู้บทบาทและปฏิบัติงานในบทบาทของตนเองให้ดีที่สุด” นายกนิษฐ์ กล่าว
ขณะที่ รศ.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเภสัชกรประจำคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย กล่าวว่า แนวทางการรักษาของคลินิกโรคหืดฯ จะมีการอบรมทีมแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล เพื่อให้แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญในส่วนงานที่ตนเองต้องรับผิดชอบต่อผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ ปกติผู้ป่วยโรคหืดจะทุกข์ทรมานมาก แต่ปัจจุบันเมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่คลินิกโรคหืดฯ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้าห้องฉุกเฉินลดลง เวลาเจอสิ่งกระตุ้นก็มีอาการน้อยลงและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
อ.อุไรวรรณ แซ่อุย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และพยาบาลประจำคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย กล่าวว่า ที่คลินิกโรคหืดฯ จะจัดให้มีการอบรมแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลเพื่อสอนการประเมินความรุนแรงของโรค การตรวจสมรรถภาพปอด (Peak Flow Meter) การให้การรักษา การใช้ยาอย่างถูกวิธีเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งการจัดเวิร์คช็อปจำลองเหตุการณ์ การซักประวัติคนไข้ การสูดยา เป็นต้น เพื่อให้เกิดแนวทางการรักษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สำหรับการประชุมในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มองค์ความรู้ และแนวทางการรักษาอื่น ๆ เพื่อให้คนไข้ได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งถ้าหากทุกภาคส่วนมีความร่วมมือในการเผยแพร่ความรู้และข้อมูลของคลินิกฯ จะทำให้ผู้ป่วยที่ไม่มีโอกาสได้เข้ามารับการรักษาได้อย่างทั่วถึง
ในส่วนของภาคเอกชน นายวิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GSK กล่าวว่า GSK ได้ร่วมสนับสนุนเครือข่ายคลินิกโรคหืดฯ ตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งในด้านองค์ความรู้ แนวทางการรักษาโรค การพัฒนาเครื่องมือ และวิธีการและนวัตกรรมในการรักษาผู้ป่วย รู้สึกประทับใจและชื่นชมต่อการดำเนินงานของเครือข่ายคลินิกโรคหืดฯ ที่มีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือผู้ป่วยตลอด 11 ปีที่ผ่านมา โดยมุ่งหวังให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และทั่วถึงยิ่งขึ้น สอดรับกับนโยบาย “ยาดีเข้าถึงได้” ของ GSK ซึ่งทางบริษัทฯ พร้อมร่วมมือกับเครือข่ายคลินิกโรคหืดฯ และหน่วยงานภาครัฐด้านสุขภาพ ตลอดจนทุกภาคส่วนในการสนับสนุนและส่งเสริมด้านสุขภาพของผู้ป่วย และสร้างเสริมความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขของประเทศ