เปรียบเทียบระยะให้ Glucocorticoid ใน COPD กำเริบฉับพลัน

เปรียบเทียบระยะให้ Glucocorticoid ใน COPD กำเริบฉับพลัน

JAMA. 2013;309(21):2223-2231.

            บทความเรื่อง Short-term vs Conventional Glucocorticoid Therapy in Acute Exacerbations of Chronic Obstructive Pulmonary Disease: The REDUCE Randomized Clinical Trial รายงานว่า แนวทางเวชปฏิบัติแนะนำให้ใช้ glucocorticoid แบบ systemic therapy ระยะ 7-14 วันในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ที่อาการกำเริบฉับพลัน แต่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับขนาดของยาและระยะการรักษาที่เหมาะสม

            บทความนี้รายงานผลจากการศึกษา REDUCE (Reduction in the Use of Corticosteroids in Exacerbated COPD) ซึ่งศึกษาแบบ randomized, noninferiority multicenter trial เพื่อประเมินว่า systemic glucocorticoid ระยะสั้น (5 วัน) ในผู้ป่วย COPD กำเริบมีผลลัพธ์ทางคลินิกไม่ด้อยกว่าการรักษามาตรฐาน (14 วัน) และศึกษาว่า systemic glucocorticoid ลดการใช้ steroid ได้หรือไม่ นักวิจัยศึกษาจากโรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ 5 แห่งในสวิตเซอร์แลนด์ รวมผู้ป่วย 314 รายซึ่งเข้ารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินเนื่องจาก COPD กำเริบฉับพลัน และผู้ป่วยมีทั้งผู้เคยสูบบุหรี่และยังคงสูบบุหรี่ (ปีละ ≥ 20 ซอง) ซึ่งไม่มีประวัติหอบหืด โดยรวบรวมตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 2006 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011

            การรักษาทำโดยให้ prednisone 40 มิลลิกรัมวันละครั้ง เป็นระยะ 5 หรือ 14 วัน แบบ placebo-controlled, double-blind โดยเกณฑ์ predefined noninferiority ดูจาก absolute increase ของการกำเริบที่ไม่ต่ำกว่า 15% โดยมี hazard ratio เท่ากับ 1.515 สำหรับ event rate อ้างอิงที่ 50% และมาตรวัดผลลัพธ์ ได้แก่ ระยะเวลาจนถึงการกำเริบครั้งต่อไปภายใน 180 วัน

            จากผู้ป่วยที่ได้รับการสุ่ม 314 ราย มี 289 ราย (92%) ที่ต้องนอนโรงพยาบาล โดย 311 รายได้รวบรวมไว้ใน intention-to-treat analysis ขณะที่ 296 รายรวมไว้ใน per-protocol analysis ค่า hazard ratios สำหรับกลุ่มรักษาระยะสั้นเทียบกับระยะมาตรฐานเท่ากับ 0.95 (90% CI, 0.70-1.29; p = 0.006 สำหรับ noninferiority) ใน intention-to-treat analysis และ 0.93 (90% CI, 0.68-1.26; p = 0.005 สำหรับ noninferiority) ใน per-protocol analysis ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์ noninferiority ในกลุ่มที่ให้ยาระยะสั้นพบว่า ผู้ป่วย 56 ราย (35.9%) มี primary endpoint เทียบกับ 57 ราย (36.8%) ในกลุ่มมาตรฐาน ค่าประมาณอัตราการกำเริบใน 180 วัน เท่ากับ 37.2% (95% CI, 29.5-44.9%) ในกลุ่มระยะสั้น และ 38.4% (95% CI, 30.6-46.3%) ในกลุ่มมาตรฐาน โดยมีผลต่างเท่ากับ -1.2% (95% CI, -12.2 ถึง 9.8%) ระหว่างกลุ่มระยะสั้นและกลุ่มมาตรฐาน ในผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบซ้ำพบว่า มัธยฐานของเวลาจนกว่าจะเกิดอาการเท่ากับ 13.5 วัน (interquartile range [IQR], 13-118) ในกลุ่มระยะสั้น และ 29 วัน (IQR, 16-85) ในกลุ่มมาตรฐาน ทั้งนี้ไม่พบผลต่างด้านระยะเวลาจนถึงเสียชีวิต, combined endpoint ของการกำเริบ ตาย หรือทั้งสองอย่าง และการฟื้นฟูด้านการทำงานของปอด ในกลุ่มรักษามาตรฐานพบว่า ขนาดสะสมของ prednisone เฉลี่ยสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (793 มิลลิกรัม [95% CI, 710-876 มิลลิกรัม] vs 379 มิลลิกรัม [95% CI, 311-446 มิลลิกรัม], p < 0.001) แต่ผลข้างเคียงจากการรักษา รวมถึงน้ำตาลในเลือดสูงและความดันโลหิตสูงไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยกว่า

            ในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษายังแผนกฉุกเฉินเนื่องจากเกิด COPD กำเริบฉับพลันพบว่า การรักษาด้วย systemic glucocorticoids ระยะ 5 วันไม่ด้อยกว่าการรักษาเป็นระยะ 14 วัน เมื่อพิจารณาจากการกำเริบภายใน 6 เดือนของการติดตาม ขณะที่สามารถลดการใช้ glucocorticoid ได้อย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลนี้สนับสนุนการรักษาด้วย glucocorticoid เป็นระยะเวลา 5 วันใน COPD ที่เกิดกำเริบฉับพลัน