โครงการบริการทางการแพทย์ เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย
รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2558 นับเป็นปีมหามงคลที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558 เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมจัดทำโครงการบริการทางการแพทย์เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา และสาธารณสุขขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีภาวะโรคซับซ้อนยากแก่การรักษาหรือโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น โครงการดังกล่าวจึงเป็นช่องทางให้ผู้ป่วยยากไร้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งมีทั้งหมด 8 โครงการ ดังนี้
1. โครงการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดรักษาโรคทางโลหิตวิทยาจำนวน 6 ราย
แพทย์ผู้รับผิดชอบโครงการ: ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์ ศูนย์การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ฝ่ายอายุรศาสตร์
โครงการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดรักษาโรคทางโลหิตวิทยา โดยฝ่ายอายุรศาสตร์ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคทางโลหิตวิทยาโดยเฉพาะมะเร็งโลหิต เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ตลอดจนภาวะไขกระดูกล้มเหลว เช่น ภาวะไขกระดูกฝ่อเป็นปัญหาสำคัญทางโลหิตวิทยา ซึ่งยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้นด้วยยาเคมีบำบัด หรือยากดภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีการกลับเป็นโรคซ้ำภายหลังจากการตอบสนองโดยการรักษาในเบื้องต้น ทางเลือกการรักษาในผู้ป่วยเหล่านี้ค่อนข้างจำกัด การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดเป็นเพียงทางเลือกเดียวที่มีโอกาสรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ให้มีโอกาสหายขาดจากโรคดังกล่าวโดยการปลูกถ่ายด้วยเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากผู้บริจาคที่เป็นญาติและผู้บริจาคที่ไม่ใช่เครือญาติ แต่ขาดทุนทรัพย์จำนวน 6 ราย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
2. โครงการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกแบบผ่านท่อทางผนังหัวใจห้องล่างซ้ายจำนวน 6 ราย
แพทย์ผู้รับผิดชอบโครงการ: อ.นพ.พัชร อ่องจริต หน่วยศัลยกรรมทรวงอกและหัวใจ ฝ่ายศัลยศาสตร์
โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบเป็นโรคที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป การรักษามาตรฐานในผู้ป่วยภาวะนี้คือ การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกแบบเปิด (Open Aortic Valve Replacement) ซึ่งต้องนำผู้ป่วยเข้า cardiopulmonary bypass และหยุดหัวใจเพื่อเปิดเข้าเปลี่ยนลิ้นที่ตีบด้วยลิ้นเทียม แต่ในผู้ป่วยบางกลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยที่อายุเกิน 80 ปี และผู้ที่มีสภาพร่างกายไม่เหมาะสมกับการผ่าตัดแบบเปิด เช่น มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย การผ่าตัดในคนไข้กลุ่มนี้มีอัตราการเสียชีวิตและภาวะแทรกซ้อนที่สูงจนบางครั้งไม่คุ้มค่าต่อความเสี่ยงที่จะนำไปผ่าตัด ดังนั้น ฝ่ายศัลยกรรมทรวงอกจึงจัดทำโครงการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกแบบผ่านท่อ (TAVI) ผ่านทางผนังหัวใจ (transapical) ให้แก่ผู้ป่วยจำนวน 6 ราย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
3. โครงการผ่าตัดปลูกถ่ายไตจำนวน 60 ราย
แพทย์ผู้รับผิดชอบโครงการ: ศ.นพ.ยิ่งยศ อวิหิงสานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายไต ฝ่ายอายุรศาสตร์
เนื่องด้วยการให้บริการปลูกถ่ายไตถือเป็นพันธกิจสำคัญประการหนึ่งของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการตามยุทธศาสตร์ศูนย์ความเป็นเลิศด้านงานปลูกถ่ายอวัยวะ โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นสถาบันแรกในประเทศไทยที่ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตมานานกว่า 3 ทศวรรษ ปัจจุบันความต้องการรับบริการจากผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรณรงค์ให้มีการบริจาคไต และอีกส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนโดยตรงจากกองทุนรักษาพยาบาลทั้ง 3 กองทุน จนอาจกล่าวได้ว่าผู้ป่วยไทยทุกคนมีสิทธิได้รับการปลูกถ่ายไต แต่ด้วยอัตราการผ่าตัดจาก living-donor ในเวลาราชการมีเพียง 1-2 รายต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ คณะกรรมการปลูกถ่ายไตจึงให้มีโครงการผ่าตัดปลูกถ่ายไตจาก living-donor นอกเวลาราชการขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 และในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558 หน่วยโรคไตจึงได้จัดโครงการผ่าตัดปลูกถ่ายไตให้แก่ผู้ป่วยจำนวน 60 ราย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
4. โครงการผ่าตัดแก้ไขจอตาลอกหลุดจำนวน 60 ดวงตา
แพทย์ผู้รับผิดชอบโครงการ: อ.นพ.อดิศัย วราดิศัย และ อ.พญ.แพร์ พงศาเจริญนนท์ หน่วยจอตา ฝ่ายจักษุวิทยา
สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งของภาวะที่ทำให้คนเราตาบอดคือ โรคจอประสาทตาลอก ซึ่งเป็นโรคตาที่พบบ่อยในคนไทย มีสาเหตุต่าง ๆ เช่น จอตาลอกเนื่องจากการฉีกขาดของจอตา จอตาลอกเนื่องจากพังผืดดึงรั้งจากภาวะเบาหวานขึ้นตา เป็นต้น นำไปสู่การมองเห็นที่ลดลงหรือมองไม่เห็นแบบถาวร การรักษาโรคนี้ทำได้โดยการผ่าตัดแก้ไขจอตาลอก ได้แก่ การฉีดแก๊สในลูกตาและจี้เลเซอร์ การผ่าตัดวุ้นตา และใส่แก๊ส หรือซิลิโคนในลูกตา การผ่าตัดใส่ยางรัดลูกตา ซึ่งการรักษาจอตาลอกหลุดนั้นควรได้รับการรักษาในระยะเวลาอันเหมาะสม เนื่องจากหากปล่อยภาวะนี้ทิ้งไว้นานอาจทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นโดยถาวรได้ ในปัจจุบันผู้เข้ารับการผ่าตัดจอตาลอกในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีปริมาณมาก โดยคิวรอคอยในการผ่าตัดทางจอประสาทตามีระยะการรอคอยไปจนถึงปี พ.ศ. 2559 ฝ่ายจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงจัดโครงการผ่าตัดแก้ไขจอตาลอก เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ให้แก่ผู้ป่วยที่มีความขัดสนจำนวน 60 ดวงตา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
5. โครงการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกด้วยข้อโลหะเทียมชนิดพิเศษจำนวน 6 ราย
แพทย์ผู้รับผิดชอบโครงการ: อ.นพ.ชินดนัย หงสประภาส หน่วยวิทยาเนื้องอกทางออร์โธปิดิกส์ ฝ่ายออร์โธปิดิกส์
โรคมะเร็งกระดูกคือมะเร็งที่เกิดจากเซลล์กระดูกเจริญเติบโตผิดปกติจนกลายเป็นเนื้องอก ถือเป็นมะเร็งที่พบได้น้อย โรคมะเร็งกระดูกบางชนิดอาจใช้วิธีการผ่าตัดรักษาเพียงอย่างเดียว แต่บางชนิดอาจใช้วิธีควบคู่กันทั้งการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการใช้รังสีรักษา การผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งกระดูกจะทำการตัดกระดูกและเนื้อเยื่อรอบข้างออก ซึ่งส่วนใหญ่สามารถผ่าตัดเอาเนื้องอกออกได้โดยไม่ต้องตัดแขนหรือขาที่เป็นโรค หลังจากนั้นจะใส่โลหะข้อเทียมหรือกระดูกบริจาคมาแทนที่กระดูกที่ถูกตัดออกไป ในปัจจุบันมีวิวัฒนาการในการรักษาที่พัฒนาขึ้นมาก การผ่าตัดโดยใช้ข้อโลหะเทียมชนิดพิเศษถือเป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐานและมีประสิทธิภาพเพราะวัสดุที่ใช้มีความแข็งแรง ทนทาน ผู้ป่วยสามารถใช้งานแขนหรือขาที่เป็นโรคได้ทันทีภายหลังจากได้รับการผ่าตัด แต่ข้อโลหะเทียมชนิดพิเศษนี้มีข้อจำกัดด้านราคาที่สูงกว่าวิธีอื่น ๆ โดยมีราคาเฉลี่ยต่อชิ้นอยู่ที่ประมาณ 400,000 บาท ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558 ฝ่ายออร์โธปิดิกส์จึงได้จัดทำโครงการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกด้วยข้อโลหะเทียมชนิดพิเศษจำนวน 6 ราย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
6. โครงการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งทางนรีเวชวิทยาด้วยหุ่นยนต์จำนวน 10 ราย
แพทย์ผู้รับผิดชอบโครงการ: อ.นพ.นครินทร์ ศิริทรัพย์ ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
ปัจจุบันวิทยาการของการผ่าตัดได้ก้าวหน้าไปมาก ชุดเครื่องมือผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ Robotic surgery ได้รับการพัฒนาและออกแบบให้สามารถทำการผ่าตัดได้ดีขึ้น ในบางระบบอวัยวะที่การผ่าตัดเปิดหน้าท้องหรือการผ่าตัดด้วยกล้อง (Laparoscopic surgery) ยังมีข้อจำกัด เช่น การผ่าตัดมะเร็งเยื่อบุมดลูก การเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน เป็นต้น เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงจัดตั้งโครงการให้บริการผ่าตัดสตรีที่มีโรคของอวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งมีข้อบ่งชี้ที่ควรได้รับการผ่าตัดด้วย Robotic surgery และเป็นผู้ยากไร้ด้วยการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งทางนรีเวชวิทยาด้วยหุ่นยนต์จำนวน 10 ราย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
7. โครงการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสีขั้นสูงจำนวน 300 ราย
แพทย์ผู้รับผิดชอบโครงการ: ผศ.นพ.ชลเกียรติ ขอประเสริฐ และ อ.นพ.จักรพงษ์ จักกาบาตร์ ฝ่ายรังสีวิทยา
เพื่อเฉลิมฉลองและถวายเป็นพระราชกุศล ในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา ฝ่ายรังสีวิทยาได้จัดทำโครงการให้การรักษาด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสีขั้นสูงให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่าง ๆ ดังนี้ มะเร็งโพรงจมูก มะเร็งปากมดลูก มะเร็งสมอง มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม จำนวน 300 ราย
8. โครงการตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์สัญชาติไทยในบุคคลไร้สัญชาติ 660 ครอบครัว
แพทย์ผู้รับผิดชอบโครงการ: อ.นพ.กรเกียรติ วงศ์ไพศาลสิน ฝ่ายนิติเวชศาสตร์
ในระบบทะเบียนราษฎรนั้น การระบุสัญชาติไทยแก่บุคคลที่ไร้สัญชาติจำเป็นต้องได้รับการพิสูจน์ทั้งทางเอกสาร การยืนยันบุคคลจากญาติพี่น้อง รวมถึงการใช้กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ เช่น ดีเอ็นเอ เพื่อการยืนยันความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ในอดีตการใช้เพียงหลักฐานเอกสาร และพยานบุคคลข้างต้นประกอบการขอสัญชาตินั้น ทำให้เกิดปัญหาในความน่าเชื่อถือของหลักฐาน ส่งผลให้มีการระบุสัญชาติผิด ด้วยความก้าวหน้าทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ในการตรวจสารพันธุกรรมในการระบุเอกลักษณ์บุคคลสามารถนำมาใช้ในการเชื่อมโยงหาความสัมพันธ์ให้กับบุคคลที่ไร้สัญชาติ ซึ่งอาจมีบิดา มารดา หรือพี่น้องร่วมบิดา และ/หรือมารดาเดียวกัน ที่มีสัญชาติไทยโดยถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้การเข้าถึงบริการการตรวจทางดีเอ็นเอยังมีข้อจำกัดในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการตรวจที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้กลุ่มบุคคลที่ไร้สัญชาติหรือบุคคลที่มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงการบริการได้ อีกทั้งหน่วยงานที่มีศักยภาพและความสามารถในการตรวจด้วยวิธีดังกล่าวมีจำนวนน้อย ทำให้ระบบการพิสูจน์สัญชาติยังขาดซึ่งหลักฐานการตรวจสารพันธุกรรมที่มีความแม่นยำสูง และเป็นข้อมูลที่สำคัญในการระบุสัญชาติซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
หน่วยนิติเซโรวิทยา ฝ่ายนิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงจัดโครงการเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการพิสูจน์และระบุสัญชาติไทยให้แก่บุคคลไร้สัญชาติในพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าถึงการบริการให้ได้รับการบริการอย่างครบถ้วนและถูกต้อง และได้มาซึ่งสิทธิในการเป็นพลเมืองของประเทศไทย โดยจะให้บริการตรวจสารพันธุกรรมในบุคคลไร้สัญชาติในพื้นที่ภูมิภาค จำนวน 660 ครอบครัว โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ประมาณ 1,980 ตัวอย่าง)