เสียงดนตรีลดหวาดวิตกในผู้ป่วยวิกฤต
JAMA. 2013;309(22):2335-2344.
บทความเรื่อง Effects of Patient-Directed Music Intervention on Anxiety and Sedative Exposure in Critically Ill Patients Receiving Mechanical Ventilatory Support: A Randomized Clinical Trial รายงานว่า ทางเลือกอื่นแทนยาระงับประสาท เช่น ดนตรีอาจช่วยบรรเทาอาการหวาดวิตกจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ นักวิจัยจึงทดสอบว่าการให้ผู้ป่วยฟังดนตรีสามารถลดอาการหวาดวิตกและการใช้ยาระงับประสาทระหว่างใช้เครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยวิกฤตหรือไม่
การศึกษาเป็นแบบ randomized clinical trial รวมผู้ป่วย 373 รายจากหน่วยวิกฤต 12 แห่งจากโรงพยาบาล 5 แห่งในรัฐมิเนโซตาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจฉับพลันเนื่องจากทางเดินหายใจล้มเหลวระหว่างเดือนกันยายน ค.ศ. 2006 ถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 2011 ผู้ป่วย 86% มีเชื้อสายยุโรป และ 52% เป็นผู้หญิง อายุเฉลี่ย (SD) เท่ากับ 59 (14) ปี ผู้ป่วยมีคะแนน Acute Physiology, Age and Chronic Health Evaluation III เฉลี่ย (SD) เท่ากับ 63 (21.6) และมีจำนวนวันที่ศึกษาเฉลี่ย (SD) เท่ากับ 5.7 (6.4) วัน
การแทรกแซงประกอบด้วยให้ผู้ป่วยฟังดนตรี (n = 126) ซึ่งผู้ป่วยเลือกเองโดยมีนักดนตรีบำบัดดูแลความเหมาะสมเมื่อต้องการฟังเพลงระหว่างใช้เครื่องช่วยหายใจ, ใช้หูฟังตัดเสียงรบกวน (n = 122) หรือการดูแลมาตรฐาน (n = 125) โดยนักวิจัยได้ประเมินอาการหวาดวิตก (จาก 100-mm visual analog scale) และการได้รับยาระงับประสาท (ทั้งความแรงและความถี่)
ผู้ป่วยในกลุ่มฟังดนตรีได้ฟังเพลงเฉลี่ย (SD) 79.8 (126) (median [range], 12 [0-796]) นาที/วัน และผู้ป่วยในกลุ่มใช้หูฟังตัดเสียงรบกวนได้ใช้หูฟังเฉลี่ย (SD) 34.0 (89.6) (median [range], 0 [0-916]) นาที/วัน ผลลัพธ์จาก mixed-models analysis ชี้ว่า ในทุกช่วงเวลาผู้ป่วยในกลุ่มฟังดนตรีมีคะแนนอาการหวาดวิตกต่ำกว่า 19.5 จุด (95% CI, -32.2 ถึง -6.8) เทียบกับผู้ป่วยในกลุ่มรักษามาตรฐาน (p = 0.003) และภายในวันที่ห้าพบว่า อาการหวาดวิตกลดลง 36.5% ในกลุ่มที่ฟังดนตรี ปฏิกิริยาระหว่างการรักษาและเวลาชี้ว่า การฟังดนตรีลดความแรงและความถี่การใช้ยาระงับประสาทได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐานพบว่า กลุ่มที่ฟังดนตรีมีความแรงของยาระงับประสาทลดลง -0.18 (95% CI, -0.36 ถึง -0.004) จุด/วัน (p = 0.05) และมีความถี่การใช้ยาลดลง -0.21 (95% CI, -0.37 ถึง -0.05) จุด/วัน (p = 0.01) กลุ่มที่ได้ฟังดนตรีมีความถี่การใช้ยาระงับประสาทลดลง -0.18 (95% CI, -0.36 ถึง -0.004) จุด/วัน เทียบกับกลุ่มใช้หูฟังตัดเสียงรบกวน (p = 0.04) เมื่อถึงวันที่ห้าพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มฟังดนตรีได้รับยาระงับประสาทครั้งละ 2 โด๊ส (ลดลง 38%) และมีความแรงของยาระงับประสาทลดลง 36%
การฟังดนตรีในกลุ่มผู้ป่วยวิกฤตที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเนื่องจากทางเดินหายใจล้มเหลวสามารถลดอาการหวาดวิตกได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐาน นอกจากนี้กลุ่มที่ฟังดนตรียังมีความถี่การใช้ยาระงับประสาทที่ลดลงเมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐานหรือการใช้หูฟังตัดเสียงรบกวน และมีความแรงของยาระงับประสาทลดลงเมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐาน