พลาสมา เกล็ดเลือด เม็ดเลือดแดง ต่อการตายในผู้ป่วยบาดเจ็บสาหัส
JAMA. 2015;313(5):471-482.
บทความเรื่อง Transfusion of Plasma, Platelets, and Red Blood Cells in a 1:1:1 vs a 1:1:2 Ratio and Mortality in Patients with Severe Trauma: The PROPPR Randomized Clinical Trial รายงานว่า ผู้ป่วยบาดเจ็บสาหัสที่เกิดภาวะช็อกจากการเสียเลือดมักจำเป็นต้องได้รับเลือดในปริมาณมาก ซึ่งแม้การให้ผลิตภัณฑ์เลือดในอัตราส่วนที่สูงขึ้น (พลาสมา เกล็ดเลือด และเซลล์เม็ดเลือดแดง) สัมพันธ์กับผลลัพธ์ที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลจากการศึกษาแบบ multicenter clinical trials ที่มีขนาดใหญ่
นักวิจัยได้ศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการให้พลาสมา เกล็ดเลือด และเซลล์เม็ดเลือดแดงแก่ผู้ป่วยบาดเจ็บสาหัสและเลือดออกรุนแรงในอัตราส่วน 1:1:1 เทียบกับ 1:1:2 โดยศึกษาจากผู้ป่วยบาดเจ็บสาหัส 680 คนซึ่งได้รับการส่งตัวไปยังศูนย์รองรับผู้บาดเจ็บทันที และคาดการณ์ว่าจำเป็นต้องได้รับผลิตภัณฑ์เลือดปริมาณมากระหว่างเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2012 ถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 2013 โดยผู้ป่วย 338 คนได้รับผลิตภัณฑ์เลือดในอัตราส่วน 1:1:1 และ 342 คนได้รับในอัตราส่วน 1:1:2 ร่วมกับการรักษามาตรฐาน (uncontrolled)
ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ การเสียชีวิตจากทุกสาเหตุที่ 24 ชั่วโมง และ 30 วัน โดย prespecified ancillary outcomes ได้แก่ เวลาจนถึงสามารถห้ามเลือด ปริมาณผลิตภัณฑ์เลือดที่ได้รับ ภาวะแทรกซ้อน การผ่าตัด และความสามารถในการทำหน้าที่ของผู้ป่วย
จากการศึกษาไม่พบความแตกต่างที่มีนัยสำคัญด้านการเสียชีวิตที่ 24 ชั่วโมง (12.7% ในกลุ่ม 1:1:1 vs 17.0% ในกลุ่ม 1:1:2; difference -4.2% [95% CI -9.6% to 1.1%]; p = 0.12) หรือที่ 30 วัน (22.4% vs 26.1%; difference -3.7% [95% CI -10.2% to 2.7%]; p = 0.26) การเสียชีวิตเพราะเสียเลือดซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในช่วง 24 ชั่วโมงแรกต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่ม 1:1:1 (9.2% vs 14.6% ในกลุ่ม 1:1:2; difference -5.4% [95% CI -10.4% to -0.5%]; p = 0.03) ผู้ป่วยในกลุ่ม 1:1:1 มีจำนวนผู้ที่สามารถห้ามเลือดได้มากกว่ากลุ่ม 1:1:2 (86% vs 78% respectively; p = 0.006) และแม้กลุ่ม 1:1:1 ได้รับพลาสมา (มัธยฐาน 7 U vs 5 U, p < 0.001) และเกล็ดเลือดมากกว่า (12 U vs 6 U, p < 0.001) โดยได้รับเซลล์เม็ดเลือดแดงใกล้เคียงกัน (9 U) ในช่วง 24 ชั่วโมงแรก แต่ก็ไม่พบความแตกต่างด้านภาวะแทรกซ้อน รวมถึงกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน อวัยวะบกพร่องหลายอวัยวะ ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ติดเชื้อในกระแสเลือด และภาวะแทรกซ้อนจากการให้ผลิตภัณฑ์เลือด
ข้อมูลจากผู้ป่วยบาดเจ็บ สาเหตุที่เลือดออกรุนแรงชี้ว่า การให้พลาสมา เกล็ดเลือด และเซลล์เม็ดเลือดแดงโดยเร็วในอัตราส่วน 1:1:1 เทียบกับ 1:1:2 ไม่ทำให้เกิดความแตกต่างที่มีนัยสำคัญด้านการเสียชีวิตที่ 24 ชั่วโมงหรือที่ 30 วัน อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยในกลุ่ม 1:1:1 มีจำนวนผู้ที่ห้ามเลือดได้มากกว่า และมีผู้เสียชีวิตจากการเสียเลือดภายใน 24 ชั่วโมงน้อยกว่า และแม้กลุ่ม 1:1:1 มีการใช้พลาสมาและเกล็ดเลือดสูงขึ้นแต่ก็ไม่พบความแตกต่างด้านความปลอดภัยระหว่างทั้งสองกลุ่ม