Creatine Monohydrate ต่อการดำเนินโรคในผู้ป่วยพาร์กินสัน
JAMA. 2015;313(6):584-593.
บทความเรื่อง Effect of Creatine Monohydrate on Clinical Progression in Patients with Parkinson Disease: A Randomized Clinical Trial รายงานว่า ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาสำหรับชะลอหรือป้องกันการดำเนินโรคของโรคพาร์กินสัน นักวิจัยจึงได้ศึกษาประสิทธิภาพของ creatine monohydrate เทียบกับยาหลอกในการชะลอความเสื่อมระยะยาวในผู้ป่วยพาร์กินสันในการศึกษา Long-term Study 1
การศึกษามีขึ้นในผู้ป่วยชายและหญิง 1,741 คนที่เป็นพาร์กินสันระยะแรก (ภายใน 5 ปีหลังตรวจพบ) และได้รับการรักษา (ได้รับ dopaminergic therapy) การรวมผู้ป่วยทำระหว่างเดือนมีนาคม ค.ศ. 2007 ถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2010 และติดตามถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 2013 โดยสุ่มให้ผู้ป่วยได้รับยาหลอกหรือ creatine monohydrate (10 กรัม/วัน) อย่างน้อย 5 ปี (ติดตามนานที่สุด 8 ปี)
ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ ความต่างด้านความเสื่อมจากพื้นฐานถึงการติดตามที่ 5 ปี เปรียบเทียบระหว่างทั้งสองกลุ่มตาม global statistical test สถานะทางคลินิกประเมินจากมาตรวัดผลลัพธ์ 5 ข้อ ได้แก่ Modified Rankin Scale, Symbol Digit Modalities Test, PDQ-39 Summary Index, Schwab and England Activities of Daily Living scale และ ambulatory capacity โดยคะแนนที่สูงกว่าชี้ว่ามีผลลัพธ์ที่แย่กว่า ผลลัพธ์ได้วิเคราะห์ด้วย global statistical test โดย summed ranks (range 5-4,775) ที่สูงกว่าสะท้อนว่ามีผลลัพธ์ที่แย่กว่า
การศึกษายุติลงก่อนกำหนดจากผลลัพธ์ของ planned interim analysis ในผู้ป่วยที่เข้าร่วมการศึกษาอย่างน้อย 5 ปีนับถึงวันที่วิเคราะห์ (n = 955) และการติดตามมีมัธยฐาน 4 ปี จากผู้ป่วย 955 คนพบว่า ค่าเฉลี่ยของ summed ranks สำหรับยาหลอกเท่ากับ 2,360 (95% CI 2,249-2,470) และสำหรับ creatine เท่ากับ 2,414 (95% CI 2,304-2,524) โดย global statistical test ได้ผล t1865.8 =-0.75 (2-sided p = 0.45) และไม่พบความแตกต่างที่เห็นได้ชัด (p < 0.01 to partially adjust for multiple comparisons) ด้านเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง
การรักษาด้วย creatine monohydrate อย่างน้อย 5 ปีในผู้ป่วยพาร์กินสันระยะเริ่มเป็นและได้รับการรักษาไม่ช่วยให้ผลลัพธ์ทางคลินิกดีขึ้นเมื่อเทียบกับยาหลอก ซึ่งจากผลลัพธ์นี้ไม่สนับสนุนการใช้ creatine monohydrate ในผู้ป่วยพาร์กินสัน