Nitric Oxide ต่อการควบคุมความดันโลหิตสูงในสโตรคฉับพลัน
Lancet 2015;385:617-28.
บทความเรื่อง Efficacy of Nitric Oxide, with or without Continuing Antihypertensive Treatment, for Management of High Blood Pressure in Acute Stroke (ENOS): A Partial-Factorial Randomized Controlled Trial รายงานว่า ความดันโลหิตสูงสัมพันธ์กับผลลัพธ์ที่แย่หลังสโตรค และยังไม่มีข้อมูลว่าควรลดความดันโลหิตโดยเร็วหลังสโตรค รวมถึงให้ยาลดความดันโลหิตต่อเนื่องหรือถอนยาชั่วคราวหรือไม่
นักวิจัยได้ประเมินผลลัพธ์หลังสโตรคในผู้ป่วยที่ได้รับยาลดความดันโลหิต โดยสุ่มให้ผู้ป่วยที่รับเข้าโรงพยาบาลเนื่องจาก acute ischaemic หรือ haemorrhagic stroke และมีความดันซิสโตลิกสูงขึ้น (ความดันซิสโตลิก 140-220 มิลลิเมตรปรอท) transdermal glyceryl trinitrate (5 มิลลิกรัมต่อวัน) เป็นระยะเวลา 7 วัน โดยเริ่มให้ภายใน 48 ชั่วโมงนับจากมีอาการ หรือไม่ได้รับ glyceryl trinitrate (กลุ่มควบคุม) และในกลุ่มย่อยของผู้ป่วยซึ่งได้รับยาลดความดันโลหิตก่อนเกิดสโตรคได้สุ่มให้รับยาต่อหรือหยุดยา ผลลัพธ์หลักของการศึกษา ได้แก่ ความสามารถด้านหน้าที่ประเมินจาก Rankin Scale ปรับปรุงแล้วที่ 90 วัน
มีผู้ป่วยเข้าร่วมการศึกษา 4,011 คน ระหว่างวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 2001 ถึงวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 2013 ค่าเฉลี่ยความดันโลหิตเท่ากับ 167 (SD 19) มิลลิเมตรปรอท/90 (13) มิลลิเมตรปรอทที่พื้นฐาน (มัธยฐาน 26 ชั่วโมง [16-37] หลังเกิดสโตรค) และลดลงอย่างมีนัยสำคัญที่วันที่ 1 ในผู้ป่วย 2,000 คนซึ่งได้รับ glyceryl trinitrate เทียบกับ 2,011 คนในกลุ่มควบคุม (ความต่าง -7.0 [95% CI -8.5 to -5.6] มิลลิเมตรปรอท/-3.5 [-4.4 to -2.6] มิลลิเมตรปรอท, p < 0.0001) และที่ 7 วันใน 1,053 คนซึ่งได้รับยาลดความดันโลหิตต่อ เทียบกับ 1,044 คนซึ่งสุ่มให้หยุดยา (ความต่าง -9.5 [95% CI -11.8 to -7.2] มิลลิเมตรปรอท/-5.0 [-6.4 to -3.7] มิลลิเมตรปรอท, p < 0.0001) ผลลัพธ์ด้านหน้าที่ที่ 90 วันไม่ต่างกัน โดย odds ratio (OR) ที่ปรับแล้วสำหรับผลลัพธ์ที่แย่ลงในกลุ่มที่ได้รับ glyceryl trinitrate เทียบกับไม่ได้รับ glyceryl trinitrate เท่ากับ1.01 (95% CI 0.91-1.13, p = 0.83) และจากการได้รับยาลดความดันโลหิตต่อเทียบกับหยุดยาเท่ากับ 1.05 (0.90-1.22, p = 0.55)
การรักษาด้วย transdermal glyceryl trinitrate ในผู้ป่วยสโตรคฉับพลันและความดันโลหิตสูงลดความดันโลหิตและมีความปลอดภัยที่ยอมรับได้ แต่ไม่ได้ฟื้นฟูผลลัพธ์ด้านหน้าที่ ซึ่งจากข้อมูลนี้ไม่พบหลักฐานที่สนับสนุนการให้ยาลดความดันโลหิตต่อในช่วงไม่กี่วันแรกหลังเกิดสโตรคฉับพลัน