Roflumilast ต่อการกำเริบในผู้ป่วย Severe COPD
The Lancet. Published Online: 12 February 2015.
บทความเรื่อง Effect of Roflumilast on Exacerbations in Patients with Severe Chronic Obstructive Pulmonary Disease Uncontrolled by Combination Therapy (REACT): A Multicentre Randomized Controlled Trial รายงานว่า roflumilast ลดการกำเริบในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีอาการรุนแรง แต่ยังไม่มีข้อมูลในผู้ป่วยที่ใช้ fixed combinations ของ inhaled corticosteroids และ long acting β2 agonists นักวิจัยสันนิษฐานว่า roflumilast จะลดการกำเริบในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีอาการรุนแรง ซึ่งเสี่ยงต่อการกำเริบแม้ได้รับการรักษาด้วย combination ของ inhaled corticosteroid และlong acting β2 agonist
การศึกษา Roflumilast and Exacerbations in patients receiving Appropriate Combination Therapy (REACT) นี้ได้รวบรวมผู้ป่วยปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีอาการรุนแรงจาก 203 ศูนย์ ใน 21 ประเทศ ผู้ป่วยมีอายุ 40 ปีหรือมากกว่า และมีประวัติสูบบุหรี่อย่างน้อย 20 pack-years และตรวจพบโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังซึ่งมีการตีบแคบของหลอดลมที่รุนแรง เป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และเกิดการกำเริบอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี โดยสุ่มผู้ป่วยเป็นกลุ่มที่รักษาด้วย roflumilast 500 μg หรือยาหลอกซึ่งให้แบบยารับประทานวันละครั้งร่วมกับ fixed inhaled corticosteroid และ long acting β2 agonist combination โดยไม่ตัดการรักษาด้วย tiotropium ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ อัตราของการกำเริบของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังระดับปานกลางถึงรุนแรงต่อผู้ป่วยต่อปี และวิคราะห์แบบ intention to treat
ระหว่างวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 2011 ถึงวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 2014 มีผู้ป่วยเข้าร่วมในการศึกษา 1,945 คน โดยสุ่มให้ 973 คนได้รับ roflumilast และ 972 คนได้รับยาหลอก อัตราของการกำเริบของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังระดับปานกลางถึงรุนแรงต่ำกว่า 13.2% ในกลุ่ม roflumilast เทียบกับกลุ่มยาหลอกตาม Poisson regression analysis (roflumilast 0.805 vs placebo 0.927; rate ratio [RR] 0.868 [95% CI 0.753-1.002], p = 0.0529) และต่ำกว่า 14.2% ตาม predefined sensitivity analysis ด้วย negative binomial regression (0.823 vs 0.959; 0.858 [0.740-0.995], p = 0.0424) เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์มีรายงานใน 648 คน (67%) จาก 968 คนที่ได้รับ roflumilast และใน 572 (59%) จาก 967 คนในกลุ่มยาหลอก เช่นเดียวกับการถอนตัวจากการศึกษาเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ซึ่งพบมากกว่าในกลุ่มที่ได้รับ roflumilast (104/968 [11%]) เทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (52/967 [5%]) เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง ได้แก่ การกำเริบของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและปอดอักเสบ และพบผู้ป่วยเสียชีวิต 17 (1.8%) ในกลุ่ม roflumilast เทียบกับ 18 ราย (1.9%) ในกลุ่มยาหลอก
ข้อมูลจากการศึกษาชี้ว่า roflumilast ลดการกำเริบและการเข้าโรงพยาบาลในผู้ป่วยปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีอาการรุนแรง และหลอดลมอักเสบเรื้อรังซึ่งเสี่ยงต่อการกำเริบบ่อยและรุนแรงแม้ได้รับการรักษาด้วย inhaled corticosteroid และ long acting β2 agonist รวมถึงในผู้ป่วยที่ได้รับ tiotropium