อาการแน่นลิ้นปี่
เพื่อนอายุรุ่นราวคราวเดียวกับผม (70 ปีขึ้นไป) ปรึกษาว่าเขามีอาการแน่น ๆ ตรงลิ้นปี่ จะเป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือโรคหัวใจ โรคหัวใจมักมีอาการแน่นตรงกลางของหน้าอก คล้าย ๆ มีอะไรหนัก ๆ มาทับ และอาจมีอาการแน่นที่ลิ้นปี่ด้วย หรือมีอาการแน่นที่ลิ้นปี่โดยไม่มีอาการแน่นที่หน้าอก ถ้าพูดถึงเฉพาะบริเวณที่มีอาการ โดยที่ยังไม่ได้ถามรายละเอียดเกี่ยวกับอาการแน่นลิ้นปี่ และอาการอื่น ๆ โรคต่าง ๆ ที่พบบ่อยก็มีโรคกระเพาะอาหาร โรคนิ่วในระบบทางเดินน้ำดี โรคตับ โรคหลอดอาหาร และโรคหัวใจ ฯลฯ
เพื่อนผมบอกว่าเป็นหลังอาหาร ถ้าบอกแค่นี้อาจทำให้นึกถึงโรคกระเพาะอาหาร หรือโรคระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ แต่โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตันก็ยังเป็นได้ กลไกของการเกิดอาการของโรคหัวใจในกรณีนี้ก็คือ ในคนที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่ก่อนแล้ว เวลารับประทานอาหารโดยเฉพาะถ้ารับประทานมาก ดื่มแอลกอฮอล์ มีของมัน ๆ ด้วย กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กจะต้องการเลือดเพื่อที่จะไปย่อยและดูดซึมอาหารมากขึ้นกว่าเวลาปกติ ฉะนั้นจึงอาจทำให้มีเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง ทำให้เกิดอาการแน่นท้องหรือหน้าอกจากโรคหัวใจได้
เพื่อนผมพยายามย้ำว่า เวลาเขาเดินเร็ว ๆ ก็ไม่มีอาการ (ความหมายของเขาก็คือไม่ค่อยเหมือนโรคหัวใจ) ซึ่งก็ดีที่ออกกำลังกายแล้วยังไม่มีอาการ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อาการแน่นท้องของเพื่อน บางครั้งร้าวขึ้นไปตรงกลางอก ซึ่งก็เข้าได้กับโรคหลอดอาหาร เช่น โรคกรดไหลย้อน รวมทั้งเข้าได้กับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอีกด้วย นอกจากนั้นเพื่อนยังบอกอีกว่า เขามีชีพจรที่เต้นไม่สม่ำเสมอเป็นบางครั้ง ถ้าเป็นอย่างนี้จริงควรรีบไปตรวจกับแพทย์ และช่วงนี้ควรหยุดดื่มกาแฟ ชา เครื่องดื่มทุกชนิดที่มีคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ การเต้นที่ไม่สม่ำเสมอของหัวใจอาจไม่มีอันตรายถ้านาน ๆ เป็นที แต่ขณะที่เรายังไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไร ควรรีบไปตรวจกับแพทย์เสียก่อน
ผมแนะนำให้เพื่อนไปพบแพทย์ ก่อนอื่นต้องรีบตรวจว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่ ส่วนโรคอื่น ๆ ที่พบบ่อยที่ต้องนึกถึงคือ นิ่วในระบบทางเดินน้ำดี โรคหลอดอาหาร ถ้าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมาก ๆ อาจมีอาการแน่นลิ้นปี่ อก อาจเป็นหลังอาหารหรือเวลาออกกำลังกาย อาการอาจร้าวไปที่กลางอก (แต่แยกยากจากโรคหลอดอาหาร ยกเว้นถ้าเป็นตอนออกกำลังกายและอาการหายไปถ้าหยุดพัก) ถ้ามีชีพจรเต้นผิดปกติอาจจะทำให้นึกถึงโรคหัวใจมากยิ่งขึ้น และควรรีบไปพบแพทย์
วิธีตรวจเพิ่มเติมทางโรคหัวใจคือ การทำ electrocardiogram (ECG หรือ EKG) แต่การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจไม่ช่วยอะไรมากในคนที่ไม่มีอาการ เพราะโรคหลอดเลือดหัวใจต้องอุดตันหรือขาดเลือดมากก่อนจึงจะเห็นความผิดปกติ ECG อาจเห็นหัวใจโต อาจเห็นการเต้นของหัวใจผิดปกติ แต่ถ้าวัด ECG เพียงไม่กี่นาทีอาจไม่เห็นการเต้นผิดปกติของหัวใจ ถ้า ECG ปกติ (ไม่เห็นหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือไม่เห็นอาการแสดงของหลอดเลือดตีบ) แพทย์อาจทำได้ 2 อย่างเพิ่มเติมคือ ตรวจ ECG ระหว่างที่ออกกำลังกาย หรือที่เรียกกันว่า Exercise Stress Test ส่วนการที่จะจับว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจจะต้องใส่เครื่องตรวจการเต้นของหัวใจด้วยเครื่องที่เรียกว่า เครื่อง Holter’s ตลอดเวลา 24-48 ชั่วโมง ทั้งช่วงเวลารับประทานอาหาร นอน เดิน ฯลฯ ส่วนใหญ่แพทย์จะทำแค่นี้ แต่ยังอาจทำอย่างอื่นได้แล้วแต่แพทย์สงสัย ในบางกรณีอาจฉีดสีเข้าหลอดเลือดหัวใจ อาจทำ CT ของหลอดเลือดหัวใจ และในบางโรคของหัวใจอาจทำ echocardiogram
สำหรับการแยกแยะโรคนิ่วในระบบทางเดินน้ำดีและโรคอื่น ๆ ขอเอาไว้โอกาสหน้าครับ