ผลลัพธ์สุขภาพในผู้ที่รอดจากมะเร็งวัยเด็ก

ผลลัพธ์สุขภาพในผู้ที่รอดจากมะเร็งวัยเด็ก

JAMA. 2013;309(22):2371-2381.

            บทความเรื่อง Clinical Ascertainment of Health Outcomes Among Adults Treated for Childhood Cancer รายงานว่า ผู้ใหญ่ที่รอดจากมะเร็งที่เกิดในวัยเด็กมีความเสี่ยงต่อผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์ด้านสุขภาพอันเนื่องมาจากการรักษา และที่ผ่านมายังไม่เคยมีการตรวจอย่างเป็นระบบในผู้รอดชีวิตกลุ่มใหญ่เพื่อประเมินความชุกของโรคเรื้อรัง นักวิจัยจึงศึกษาความชุกของผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์ด้านสุขภาพและสัดส่วนที่สัมพันธ์กับการรักษาในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ซึ่งรอดชีวิตจากโรคมะเร็งในวัยเด็ก  

            ผลลัพธ์ด้านสุขภาพได้จากการประเมินทางคลินิกในผู้ใหญ่ 1,713 ราย (มัธยฐานอายุ 32 [พิสัย 18-60] ปี) ซึ่งรอดชีวิตจากมะเร็งในวัยเด็ก (มัธยฐานเวลานับจากตรวจพบ 25 [พิสัย 10-47] ปี) ซึ่งเข้าร่วมในงานวิจัย St Jude Lifetime Cohort Study ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2007 และติดตามผลจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2012 มาตรวัดผลลัพธ์ ได้แก่ ความชุกสะสมจำเพาะอายุของผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์ตามระบบอวัยวะ

            ความชุกอย่างหยาบของผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์ด้านสุขภาพสูงสุดสำหรับปอด (การทำงานของปอดผิดปกติ 65.2% [95% CI, 60.4-69.8%]), อวัยวะรับเสียง (สูญเสียการได้ยิน 62.1% [95% CI, 55.8-68.2%]), ต่อมไร้ท่อหรือระบบสืบพันธ์ุ (ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ เช่น hypothalamic-pituitary axis disorders และความบกพร่องของการสร้างเซลล์สืบพันธ์ุเพศผู้ 62.0% [95% CI, 59.5-64.6%]), หัวใจ (ความผิดปกติของหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจ 56.4% [95% CI, 53.5-59.2%]) และการรับรู้ของระบบประสาท (ความบกพร่องของด้านการรับรู้ของระบบประสาท 48.0% [95% CI, 44.9-51.0%]) ขณะที่ความผิดปกติของตับ (ตับบกพร่อง 13.0% [95% CI, 10.8-15.3%]), กระดูก (กระดูกพรุน 9.6% [95% CI, 8.0-11.5%]), ไต (ไตเสื่อม 5.0% [95% CI, 4.0-6.3%]) และระบบเลือด (จำนวนเซลล์เม็ดเลือดผิดปกติ 3.0% [95% CI, 2.1-3.9%]) พบได้น้อยกว่า ในกลุ่มผู้รอดชีวิตที่เสี่ยงต่อผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์หลังการรักษามะเร็งพบว่า ค่าประมาณความชุกสะสมที่อายุ 50 ปี เท่ากับ 21.6% (95% CI, 19.3-23.9%) สำหรับโรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ, 83.5% (95% CI, 80.2-86.8%) สำหรับความผิดปกติของลิ้นหัวใจ, 81.3% (95% CI, 77.6-85.0%) สำหรับความบกพร่องของปอด, 76.8% (95% CI, 73.6-80.0%) สำหรับความบกพร่องของต่อมใต้สมอง, 86.5% (95% CI, 82.3-90.7%) สำหรับสูญเสียการได้ยิน, 31.9% (95% CI, 28.0-35.8%) สำหรับความผิดปกติที่รังไข่, 31.1% (95% CI, 27.3-34.9%) สำหรับความผิดปกติของลัยดิกเซลล์ และ 40.9% (95% CI, 32.0-49.8%) สำหรับมะเร็งเต้านม และที่อายุ 45 ปี พบว่าค่าประมาณความชุกสะสมของโรคเรื้อรังเท่ากับ 95.5% (95% CI, 94.8-98.6%) และ 80.5% (95% CI, 73.0-86.6%) สำหรับโรคเรื้อรังรุนแรง/ทำให้สูญเสียสมรรถภาพหรือเป็นอันตรายถึงชีวิต

            ความชุกของผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์ด้านสุขภาพในผู้ที่รอดชีวิตจากมะเร็งที่พบในวัยเด็กอยู่ในระดับสูง ขณะที่การตรวจอย่างเป็นระบบก็ยังพบโรคที่ตรวจไม่พบก่อนหน้านี้ซึ่งมักพบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ ข้อมูลนี้จึงชี้ให้เห็นความสำคัญของการตรวจสุขภาพเป็นประจำในผู้ใหญ่ที่รอดชีวิตจากโรคมะเร็งในวัยเด็ก