มองอนาคตมาตรฐานการแพทย์ไทยด้วยความห่วงใย (ตอนที่ 7)

มองอนาคตมาตรฐานการแพทย์ไทยด้วยความห่วงใย (ตอนที่ 7)

ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงว่า ครม.ยังไม่ได้ปลดปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่ในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี(1) ที่ 75/2558 เรื่อง ให้ข้าราชการมาปฏิบัติงานที่สำนักนายกรัฐมนตรี เหตุถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งที่ 70/2558 ลงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2558 กรณีปรากฏข่าวการปฏิบัติราชการในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประสบปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อสนองนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาล และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

เพื่อให้การสอบสวนข้อเท็จจริงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งดังกล่าวแล้ว ให้นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (นักบริหารระดับสูง) มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกรัฐมนตรี เพื่อปฏิบัติงานด้านวิจัยและการพัฒนางานด้านสุขภาพแห่งชาติ

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ได้ให้สัมภาษณ์ว่า การที่ต้องสั่งย้ายเพราะมีปัญหาขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวง

หลังจากคำสั่งย้ายปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว มีเหตุการณ์ประท้วงของข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ทั้งที่มาให้กำลังใจปลัดกระทรวงที่กระทรวงสาธารณสุข(2) และการแต่งชุดดำหรือติดป้ายประท้วงในโรงพยาบาลต่าง ๆ หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอีกหลายแห่ง(3) รวมทั้งมีคำสั่งจากหน่วยงานที่มีหน้าที่รักษาความมั่นคงภายในได้ไปเชิญตัวแกนนำคนสำคัญที่ร่วมประท้วงคำสั่งโยกย้ายปลัดกระทรวงในครั้งนี้ (4)

นอกจากนั้นก็มีข่าวว่าข้าราชการสาธารณสุขเตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้คืนความเป็นธรรมให้ปลัดณรงค์(5)

ในขณะเดียวกันก็มีการแถลงข่าวของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เริ่มให้ความสนใจที่จะตรวจสอบการบริหารงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและ สปสช. 5 ข้อหาหนัก(6)

และยังมีข่าวว่ามีการร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการบริหารจัดการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในหลายประเด็นต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และล่าสุด พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่ามีผู้ร้องเรียนต่อศูนย์ต่อต้านการทุจิตแห่งชาติ (ศตช.) ว่ามีความเสียหายจากการบริหารงานของ สปสช. จึงได้มอบหมายให้ นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจสอบว่าเรื่องดังกล่าวเกิดจากความบกพร่องในส่วนใดบ้าง

อนึ่ง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ขอให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการสอบสวนในเรื่องที่ สปสช. นำเงินที่ได้จากการซื้อเวชภัณฑ์และวัสดุวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขผ่านองค์การเภสัชกรรม และองค์การเภสัชกรรมได้จัดสรรเงินส่วนลดจากยอดซื้อและความรวดเร็วในการจ่ายเงินให้แก่ผู้สั่งซื้อคือ สปสช. ซึ่ง สตง. ชี้ว่า สปสช. จะต้องนำเงินส่วนลดนี้ส่งมอบให้แก่หน่วยบริการ (คือโรงพยาบาลต่าง ๆ) แต่กลับนำไปจัดสรรให้แก่บุคคลและหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ โดยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตั้งแต่เดือนกันยายน-ตุลาคม พ.ศ. 2556 โดยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ได้ทำหนังสือลงวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรายงานผลการสอบสวน

แต่น่าแปลกใจจริง ๆ ว่า เหตุใดหนังสือฉบับนี้เพิ่งส่งถึงมือปลัดกระทรวงเมื่อต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2558 นี้เอง ทำไมจึงใช้เวลานานถึง 1 ปี 6 เดือน ?

รายงานฉบับนี้ได้กล่าวว่าการดำเนินการของ สปสช. น่าจะเป็นการไม่ถูกต้องและใช้จ่ายไม่เหมาะสม และสมควรที่จะคืนเงินให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และรายละเอียดต่าง ๆ ตามเอกสารหมายเลข 7

ในขณะที่โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการดูแลรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาท ได้รายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรายงานตัวเลขต่อสังคมหรือสื่อมวลชนทั่วไปว่าประสบปัญหาการขาดทุนในการดำเนินการรักษาประชาชน เนื่องจากได้รับงบประมาณค่าหัวในการรักษาผู้ป่วยน้อยกว่าเงินค่าหัวจริงที่รัฐบาลจ่ายให้แก่ สปสช. ทำให้โรงพยาบาลขาดงบประมาณที่ไม่เพียงพอต่อการจัดบริการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ได้ตามมาตรฐาน และปลัดกระทรวงสาธารณสุขต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขการบริหารจัดการด้านการจัดสรรเงินเหมาจ่ายรายหัวเป็นแบบเขตสุขภาพ เพื่อจะไห้โรงพยาบาลต่าง ๆ ในเขตเดียวกัน “เกลี่ยงบประมาณ” เงินเหมาจ่ายรายหัวร่วมกัน เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานให้บริการผู้ป่วย แต่นอกจากข้อเสนอของปลัดกระทรวงจะไม่ได้รับการตอบสนองจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยังต้องการที่จะปลดปลัดกระทรวงให้พ้น ๆ ไปจากกระทรวง แทนที่จะรับฟังและช่วยแก้ปัญหาให้ข้าราชการใต้บังคับบัญชาให้มีความสะดวกและมีงบประมาณเพียงพอในการให้บริการประชาชน

ประชาชนก็คงต้องเฝ้าติดตามต่อไปว่า ในที่สุดแล้วรัฐบาลและรัฐมนตรีที่ได้ตัดสินใจเลือกข้าง สปสช. และย้ายปลัดไปให้พ้นจากหน้าที่ โดยอ้างว่าได้มอบหมายให้ไปทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและแนะนำในการแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขนั้น จะสามารถให้คำแนะนำแก่นายกรัฐมนตรีและ ครม. ในการแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขได้จริง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาตามคุณภาพมาตรฐานหรือไม่

หรือเป็นเพียงเหยื่อที่ถูกย้ายไป “นั่งตบยุง” ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งคงจะช่วยได้อย่างหนึ่งว่า อัตราการเกิดไข้เลือดออกของสำนักนายกฯ และประเทศไทยคงจะลดลงอย่างมาก เนื่องจากปลัดตบยุงตายไปหมด เพราะไม่ได้รับมอบหมายให้ทำงานดังที่กำหนดไว้ในคำสั่งย้ายแต่อย่างใด

 

เอกสารอ้างอิง

  1. http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9580000028920

  2. http://www.thairath.co.th/content/486637

  3. http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd01ERXdNakV6TURNMU9BPT0=

  4. 48elyj8http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/639536

  5. http://morning-news.bectero.com/m/main.php?m=newsdetail&nid=34395

  6. http://www.hooninside.com/news-detail.php?id=443660

  7. http://thaipublica.org/2015/03/public-health-services-57/