นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ พ.บ., ว.ว.นิติเวชศาสตร์* *รองศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
แนวทางเบื้องต้นในการพิจารณาเพื่อนำศพเข้ามาตรวจต่อ และรายงานผู้ป่วย (อุทาหรณ์/ตัวอย่าง) หนึ่งราย
Guideline For Cadaver’s Transferring To Perform Full Autopsy With A Case Report
การที่แพทย์ต้องออกไปทำการตรวจศพเมื่อมีการตายผิดธรรมชาติเกิดขึ้นนั้น เป็นการที่ต้องดำเนินการร่วมกับเจ้าพนักงานอื่น ซึ่งอาจเป็นทำการร่วมกับ “พนักงานสอบสวน” หรือทำการร่วมกับ “พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และพนักงานฝ่ายปกครอง” แล้วแต่กรณี หมายความว่าหากเป็นการตายผิดธรรมชาติโดยทั่วไปจะทำการร่วมกับเฉพาะพนักงานสอบสวนเท่านั้น แต่หากเป็นการตายผิดธรรมชาติชนิดพิเศษแล้ว (คือ การตายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือการตายที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานที่อ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่) จะต้องร่วมทำการถึง 4 ฝ่าย คือแพทย์และอีก 3 ฝ่ายดังกล่าวแล้ว การที่มีการกระทำร่วมกันนี้คือ “การชันสูตรพลิกศพ” หรืออาจกล่าวได้ว่า หากเป็นเรื่องการชันสูตรพลิกศพแล้วจะต้องกระทำร่วมกันระหว่างเจ้าพนักงานตามหน้าที่ตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไปตามกฎหมาย คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา1
……………..อายุกว่า 70 ปี ย่อมต้องถือว่า “ชราภาพ” หากได้ทำการชันสูตรพลิกศพและไม่พบสาเหตุรุนแรง หรือสาเหตุใดอันอาจเป็นเหตุแห่งการตายผิดธรรมชาติแล้ว การให้สาเหตุแห่งการตายอันเนื่องจากชราภาพนั้นย่อมมีความเสี่ยงน้อย………......
การนำศพเพื่อทำการตรวจต่อเนื่องภายหลังจากการชันสูตรพลิกศพ
มีคำถามที่แพทย์ผู้ซึ่งออกทำการชันสูตรพลิกศพที่มักจะถามขึ้นมาเสมอก็คือ “จะพิจารณาอย่างไรกับการที่จะนำศพเพื่อเข้ามาทำการตรวจต่อหรือไม่” ซึ่งคำถามนี้อาจพิจารณาได้ดังนี้
1. การนำศพเพื่อเข้ามาตรวจต่อ
หมายถึง การที่ภายหลังที่แพทย์ได้ทำการ “ชันสูตรพลิกศพเสร็จเรียบร้อยแล้ว” และเห็นว่ายังมีความจำเป็นหรือข้อสงสัยในสาเหตุแห่งการตายที่เกิดขึ้นนั้น แพทย์ย่อมสามารถแจ้งต่อ “หัวหน้าคณะในการชันสูตรพลิกศพเพื่อให้ส่งศพมาเพื่อรับการตรวจศพต่อ ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา ๑๕๑ และมาตรา ๑๕๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั่นเอง1 โดยความสงสัยนั้นเป็นไปตามกรอบแห่ง “เกณฑ์มาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม2” และ “เกณฑ์ความรู้ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม3” โดยกฎหมายวิชาชีพ4
2. หัวหน้าคณะในการชันสูตรพลิกศพ
แพทย์ย่อมต้องเข้าใจว่า ตัวแพทย์เองมิได้อยู่ในฐานะหัวหน้าคณะในการชันสูตรพลิกศพโดยแท้ แม้ว่าแพทย์จะมีความรู้ด้านการแพทย์และเป็นผู้ที่สามารถจะบอกถึงสาเหตุแห่งการตายได้ดีที่สุดในกลุ่มเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพก็ตาม ทั้งนี้เพราะตัวบทบัญญัติของกฎหมาย1 มิได้ให้อำนาจแก่แพทย์ที่จะเป็นผู้สั่งการในการดำเนินการภายหลังจากที่ได้ร่วมทำการชันสูตรพลิกศพแล้ว ซึ่งแท้ที่จริงหัวหน้าคณะในการทำการชันสูตรพลิกศพก็คือ “พนักงานสอบสวน” หรือ “พนักงานอัยการ” แล้วแต่กรณีนั่นเอง
3. มูลเหตุที่ทำให้แพทย์ต้องสงสัย
หมายถึง เหตุหรือปัจจัยใด ๆ ที่ทำให้แพทย์เกิดความสงสัยในสาเหตุแห่งการตาย ซึ่งเมื่อแพทย์ยังไม่สามารถที่จะหาสาเหตุแห่งการตายอันเป็นวัตถุประสงค์หลักของการชันสูตรพลิกศพแล้ว แพทย์ย่อมจำเป็นต้องนำศพมาเพื่อทำการตรวจต่อ
ปัจจัยที่แพทย์ใช้ในการประเมินว่าจะดำเนินการอย่างไรกับศพที่ตนเองได้ทำการชันสูตรพลิกศพแล้ว
เหตุ และ/หรือปัจจัยที่ทำให้แพทย์เกิดความสงสัยในสาเหตุแห่งการตายของผู้ตายที่แพทย์ได้ร่วมทำการชันสูตรพลิกศพ อาจจำแนกได้อย่างง่าย ๆ
1. เหตุทางสังคม/ครอบครัวของผู้เสียชีวิต
หมายถึง หากยังมีข้อขัดแย้งหรือกรณีสงสัยหรือกรณีพิพาทถึงการตายของผู้ตายในกลุ่มทายาทของผู้ตายเอง เช่นนี้ ต้องถือว่าแพทย์สมควรที่จะนำศพเพื่อทำการตรวจต่ออย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม หากญาติไม่ติดใจสงสัยแล้วก็หาใช่ว่าแพทย์จะสามารถมอบศพให้แก่ญาติเพื่อ “ดำเนินการตามประเพณี” ได้เสมอไป ทั้งนี้จะต้อพิจารณาจากเหตุแห่งตัวศพ
2. เหตุจากตัวศพ
หมายถึง สภาพแห่งตัวศพที่แพทย์ได้ทำการชันสูตรพลิกศพแล้วยังมีข้อสงสัยหรือเคลือบแคลงว่า การตายที่เกิดขึ้นอาจมิใช่เป็นการตาย “ตามธรรมชาติ” เช่น
ก. เป็นการตายที่อาจ “ถูกฆาตกรรม”
ข. การตายที่เกิดจากการ “ฆ่าตัวตาย”
ค. การตายที่เกิดจาก “อุบัติเหตุ”
ทั้งนี้เนื่องจากหากยังมีสิ่งที่น่าสงสัยว่า “อาจเกิดขึ้น” และทำให้แพทย์ต้องมีความเสี่ยงด้วยแล้ว แพทย์ “จะต้อง” ตัดสินใจดำเนินการตามมาตรา ๑๕๑ และ ๑๕๒ โดยทันที หรืออย่างน้อยการที่ดำเนินการนำศพมาตรวจต่อ ตามมาตรา ๑๕๒ นั้น แม้ในภายหลังเวลาต่อมาจะทำการตรวจแต่เพียงภายนอก หรือทำการตรวจเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย เช่น การเอ็กซเรย์ หรือการเจาะเลือด น้ำเหลือง หรือน้ำหลั่ง หรือปัสสาวะ เพื่อการตรวจต่อเท่านั้น ถือว่าน้อยมากแล้วก็ตาม แต่สิ่งเหล่านั้นก็อาจช่วยในการคลี่คลายสิ่งที่อาจเกิดการสงสัยขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น การที่สงสัยว่าจะมีการให้ยาหรือสารพิษที่ผิดปกติ เป็นต้น
ปัจจัยที่มิใช่เหตุในการพิจารณาดำเนินการต่อกับศพ
แพทย์สมควรระลึกไว้เสมอว่า หลักในการใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจภายหลังที่ได้ทำการชันสูตรพลิกศพเรียบร้อยแล้ว “จะนำศพมาทำการตรวจต่อหรือไม่” ไม่เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย สภาพแห่งความกดดัน บีบคั้น หรือรุมเร้า หลายอย่างเช่น
1. การที่ญาติมารุมเร้าเพื่อให้แพทย์ปล่อยศพเพื่อทำพิธี ณ ที่เกิดเหตุ โดยมิให้นำศพเข้ามา
2. อาจมีการนำผู้นำหมู่บ้านหรือชุมชนมาร่วมในการบีบคั้น
3. การให้พนักงานสอบสวนเกลี้ยกล่อมเพื่อให้แพทย์ปล่อยศพ ณ ที่ที่ชันสูตรพลิกศพ โดยยังคงให้แพทย์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบใน “หนังสือรับรองการตาย” หรือ “ข้อสันนิษฐานสาเหตุการตายโดยแพทย์” อยู่อย่างเดิม เท่ากับ แพทย์ต้องเสี่ยง โดยที่เมื่อออกหนังสือรับรองดังกล่าวแล้วหากมีสิ่งที่ไม่อาจคาดคิดได้ แพทย์ย่อมต้องเป็นผู้ต้องรับผิดชอบ
หมายเหตุ: การที่พนักงานสอบสวนขอให้แพทย์ใช้อำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับศพ ทั้ง ๆ ที่พนักงานสอบสวนเป็น “หัวหน้าคณะในการชันสูตรพลิกศพ” โดยแท้นั้นแสดงว่าพนักงานสอบสวนยังคงเจตนารมณ์เพื่อให้แพทย์ยังเป็นผู้ต้องรับผิดชอบ “หลัก/โดยตรง” นั่นเอง ทั้งนี้เพราะแท้ที่จริงแล้วหากพนักงานสอบสวนจะมอบศพให้ญาติโดยที่มิได้เกี่ยวกับแพทย์ที่ต้องร่วมรับผิดชอบเลยก็ย่อมทำได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าหัวหน้าทีมในการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมายไทยคือ “พนักงานสอบสวน” (หรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี) นั่นเอง
ปัจจัย และ/หรือเหตุผลบางประการที่แพทย์สมควรนำมาพิจารณาเพื่อการนำศพเข้ามารับการตรวจต่อตามกฎหมาย
ปัจจัย และ/หรือเหตุผลต่าง ๆ (รายข้อ) ที่แพทย์สมควรนำมาพิจารณากรณีที่แพทย์จะตัดสินใจมอบศพให้แก่ญาติ ณ ที่ที่ชันสูตรพลิกศพโดยไม่ติดใจในการที่จะนำศพเพื่อรับการตรวจต่อเนื่อง (ตามมาตรา ๑๕๒ นั้น) แพทย์สมควรที่จะต้องพิจารณาจากหัวข้อดังต่อไปนี้ด้วย ทั้งนี้เพื่อช่วยให้แพทย์ตัดสินใจในการดำเนินการได้อย่างถูกต้องระหว่าง “การที่จะมอบศพให้แก่ญาติเพื่อดำเนินการตามประเพณีหรือการที่ให้นำศพมาเพื่อรับการตรวจต่อ ณ สถานพยาบาลแห่งหนึ่งแห่งใดตามกฎหมาย”
1. ด้านอายุของศพ
อายุนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งที่แพทย์จะต้องพิจารณาเป็นลำดับต้น ๆ ทั้งนี้ด้วยหลักที่ค่อนข้างง่ายที่ว่า “ผู้ที่มีอายุไม่มากย่อมไม่ถึงเวลาที่ตาย” นั่นเอง ดังนั้น หากพบว่ามีผู้ตายที่อายุยังน้อยอยู่ต้องถือว่ามีเหตุผลที่จะต้องหาสาเหตุแห่งการตายให้พบโดยไม่น่าที่จะด่วนสรุปว่าเกิดจาก “กล้ามเนื้อหัวใจ” หรือ “หัวใจวายจากการขาดเลือด” หรือ “หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ” หรือ “โรคชรา” เป็นต้น เพราะสิ่งที่จะนำมาคิด (ตามมาตรฐานทางการแพทย์) นั้นจะต้องมีหลักการและเหตุผลที่สอดคล้องต้องกัน ในเมื่อคนที่อายุยังไม่มากจะเกิดโรคหรือสาเหตุที่กล่าวถึงได้อย่างไร
สำหรับอายุที่น่าจะต้องพิจารณานั้นประกอบด้วย
ก. อายุที่ต่ำกว่า 50 ปี ต้องถือว่า “อายุยังน้อย” และยังไม่สมควรยิ่งที่จะเป็นโรคที่เกิดจากความชรา เช่น โรคหัวใจ (เว้นเสียแต่ว่ามีโรคประจำตัวชนิดรุนแรงที่จะเป็นสาเหตุแห่งการตายได้อย่างแน่นอน เช่น โรคมะเร็ง เป็นต้น) เมื่อทำการชันสูตรพลิกศพที่อายุต่ำกว่า 50 ปี ทุกรายสมควรนำศพเข้ามาเพื่อรับการตรวจต่อ
ข. อายุกว่า 50 ปี แต่ยังไม่ถึง 60 ปี ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ก้ำกึ่ง แต่โดยทั่วไปต้องถือว่า “ยังไม่ถึงอายุที่จะทำให้ตายจากโรคธรรมชาติได้ หากไม่ปรากฏให้เห็นถึงสภาวะหรือโรคดังกล่าวอย่างชัดเจน” ผู้ตายในช่วงอายุนี้แพทย์ที่ชันสูตรพลิกศพจะต้องให้ความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะประวัติของผู้ตายที่ญาติมักจะอ้างถึงโรคต่าง ๆ ที่จะให้แพทย์สรุปว่า “เป็นสาเหตุแห่งการตาย” เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคเกาต์ โรคนิ่ว ฯลฯ ซึ่งโรคเหล่านี้แม้จะมีในผู้ตายจริง แต่ย่อมมิใช่เป็นสาเหตุแห่งการตายโดยตรง
ค. อายุกว่า 60 ปี แต่ยังไม่ถึง 70 ปี โดยทั่วไปอาจถือว่า “ชราภาพ” ได้ เห็นได้จากการที่ทางราชการถืออายุ 60 ปีเป็นปีแห่งการเกษียณอายุงาน (ราชการ) เมื่อทำการชันสูตรพลิกศพรายที่อายุกว่า 60 ปี อาจเป็นไปได้ว่าเกิดขึ้นเนื่องจากความชรา (ทั้งนี้ต้องพิจารณาจากเหตุอื่น ๆ ด้วย)
ง. อายุกว่า 70 ปี ย่อมต้องถือว่า “ชราภาพ” หากได้ทำการชันสูตรพลิกศพและไม่พบสาเหตุรุนแรงหรือสาเหตุใดอันอาจเป็นเหตุแห่งการตายผิดธรรมชาติแล้ว การให้สาเหตุแห่งการตายอันเนื่องจากชราภาพนั้นย่อมมีความเสี่ยงน้อย
จ. อายุกว่า 80 ปี แพทย์มีความเสี่ยงน้อยมากจนถึงไม่มีความเสี่ยงหากจะให้สาเหตุแห่งการตายคือ “ชราภาพ”
2. โรค สภาวะ ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมาเกิดเหตุในครั้งนี้ไม่นาน
หมายถึง โรคหรือสภาวะที่เป็นอยู่อย่างเฉียบพลัน เช่น การที่ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและมีสภาวะเลือดออกในโพรงกะโหลกศีรษะจากอุบัติเหตุทางจราจร ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
3. ประวัติที่มีมาก่อน
หมายถึง โรคหรือสภาพการป่วยที่ผู้ป่วยมีอยู่ก่อนเสียชีวิต ที่ถือได้ว่า “เรื้อรัง” และสามารถเป็นสาเหตุแห่งการตายได้ เช่น การที่ผู้ป่วยมีสภาวะไตวายระยะท้ายเรื้อรังย่อมเป็นสาเหตุแห่งการตายได้ หรือการที่ผู้ป่วยป่วยด้วยโรคมะเร็งประเภทต่าง ๆ (ที่รุนแรง) ย่อมถึงแก่ชีวิตได้ในวันหนึ่งวันใดอย่างแน่นอนอยู่แล้ว การให้สาเหตุแห่งการตายด้วยเหตุเหล่านี้จึงเป็นเหตุเป็นผล และสอดคล้องกับการให้สาเหตุการตายตามมาตรฐานทางการแพทย์นั่นเอง
4. โรคประจำตัว
เช่น การที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุแห่งการตายได้ เช่น การที่เป็นโรคปอด (pulmonary tuberculosis) ย่อมเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวได้
5. ประกันชีวิต ร่างกาย อุบัติเหตุ มีหรือไม่ เพียงใด
แพทย์ต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการให้สาเหตุการตายและการดำเนินการในการชันสูตรพลิกศพและตรวจศพ ยิ่งหากเกี่ยวข้องกับการตายที่จะมีการเรียกร้องสิทธิด้วยแล้ว ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่า “ผลสืบเนื่องตามธรรมดาที่เกิดขึ้นได้จากการได้รับอุบัติเหตุประเภทต่าง ๆ แต่เสียชีวิตในเวลาต่อมา” (ซึ่งเวลาที่เสียชีวิตค่อนข้างห่างจากวันที่เกิดอุบัติเหตุจริง) นั้น ทางบริษัทประกันภัยยังคงถือว่าเป็น “การตายผิดธรรมชาติ (อุบัติเหตุ) อยู่” และจะต้องให้มีการทำการชันสูตรพลิกศพและการตรวจศพ (ผ่า) ด้วย บริษัทประกันภัยจึงจะยอมจ่ายเงินตามเกณฑ์การประกันภัยในเรื่อง “ค่าสินไหม” แพทย์จึงต้องให้คำแนะนำแก่ญาติ กรณีที่อาจเข้าเงื่อนไขของทางบริษัทประกันภัยที่ว่า “หากมิได้มีการชันสูตรพลิกศพและการผ่าศพตรวจต่อ” ซึ่งแพทย์ต้องทำความเข้าใจให้ดีกับญาติในเรื่องดังกล่าวนี้ และหากการตรวจศพ (ผ่าศพตรวจ) เป็นเงื่อนไขที่สำคัญของการจะได้รับเงินค่าสินไหมแล้ว แพทย์ต้องทำความเข้าใจกับทายาทของผู้ตายให้ดีถึงการที่ “ผ่า” หรือ “ไม่ผ่าศพ” ทั้งนี้เพื่อสิทธิของทายาทจะได้ไม่ด้อยลงไป
6. สถานที่เสียชีวิต
การเสียชีวิต ณ สถานที่ต่าง ๆ
ก. สถานพยาบาล การเสียชีวิตที่สถานพยาบาลย่อมมีปัญหาไม่มากนัก เพราะถือว่าสถานพยาบาลเป็นที่ที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยอยู่ ดังนั้น หากแพทย์ ณ สถานพยาบาลเหล่านั้นที่ได้ตรวจรักษาบำบัดผู้ป่วยมานานพอควร และให้สาเหตุการตายไว้แล้ว ย่อมต้องถือว่าเชื่อถือได้
ข. การเสียชีวิตที่บ้านของผู้ป่วยหรือคนในครอบครัวของผู้ป่วยนั้น จำต้องพิจารณาจากประการอื่น ๆ อีก ซึ่งประการนี้ต้องขึ้นอยู่กับสภาพและความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตด้วย
ค. การเสียชีวิตในห้องขัง ที่คุมขัง เรือนจำ อันเกี่ยวกับเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมนั้น “ต้องนำศพมาทำการตรวจต่อทุกราย” ไม่มีข้อยกเว้น
7. ทายาทที่ดูแลหรือใกล้ชิด
กรณีที่ทายาทที่ดูแลผู้ป่วยในระยะท้ายอาจมิใช่ทายาทชั้นใกล้ชิด เช่น แทนที่จะเป็นคู่สมรสหรือบุตร แต่อาจเป็นหลานหรือลูกพี่ลูกน้อง เป็นต้น ทำให้สิทธิอันแท้จริงที่เกิดขึ้นจากความเกี่ยวพันในทางสายโลหิต (ทางกรรมพันธ์ุ) นั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างห่าง ในกรณีนี้หากมีประเด็นข้อสงสัยซึ่งอาจเกิดขึ้นจากทายาทชั้นใกล้ชิดหยิบยกขึ้นในเวลาต่อมาแล้ว จะทำให้แพทย์ยากที่จะให้คำตอบได้ ดังนั้น หากมีข้อสงสัยที่จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับการส่งตรวจหรือไม่แล้ว แพทย์จึงสมควรต้องดำเนินการไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัยแก่ตัวแพทย์เอง
8. สถานะทางการเงิน (ทรัพย์สิน) ที่มีอยู่ หรือ “กองมรดก”
ในผู้ตายที่มีทรัพย์สินมาก โดยเฉพาะทรัพย์สินที่ยังมิได้แบ่ง หรือปรากฏในเรื่องพินัยกรรมที่มีการกระทำในขณะที่ผู้ตายใกล้จะสิ้นชีวิตและยังมีประเด็นในเรื่อง “ความสามารถของผู้ตาย” ในเวลาที่ทำนิติกรรมอยู่นั้นแล้ว หรือหากผู้ตายมีทรัพย์สินค่อนข้างมากและจะตกเป็นทรัพย์มรดกในเวลาต่อมา ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการจัดสรรทรัพย์สินจากกองมรดกและสภาพแห่งการมีชีวิตอยู่ เช่น การตายเร็วหรือช้ากับการจัดการหรืออำนาจจัดการอยู่ก่อนแล้ว เป็นต้น กรณีที่เป็นปัญหาเหล่านี้ หากไม่มีสาเหตุแห่งการตายอย่างชัดเจนสมควรให้มีการตรวจศพภายหลังจากการชันสูตรพลิกศพจะเป็นการดีที่สุด
9. ท่าที่ฝ่ายญาติที่ยังคงติดใจสาเหตุการตาย (แม้ว่าจะเป็นทางญาติส่วนน้อยก็ตาม)
ประการนี้นับว่ามีความสำคัญยิ่ง เพราะเมื่อเกิดความขัดแย้งกันระหว่างทายาทของผู้ตาย (แม้ว่าจะเป็นทายาทส่วนน้อย หรือ “เสียงส่วนน้อย” ก็ตาม) ต้องถือว่ามีนัยสำคัญที่ต้องให้ความสนใจ เพราะแม้จะมีทายาทเพียงคนเดียวที่เกิดความสงสัยอาจก่อให้เกิดการดำเนินการ “ทางคดี” ต่อมาได้ เช่น การไปแจ้งความถึงข้อสงสัยในสาเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ณ สถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่ศพอยู่ และแน่นอนที่สุด “พนักงานสอบสวน” ย่อมต้องทำคดีต่อเนื่อง และสิ่งที่ขาดเสียมิได้คือ “บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ” และ “รายงานการตรวจศพ” นั่นเอง
ดังนั้น ในประการที่เกิดการขัดแย้งระหว่างญาติด้วยกัน แพทย์สมควรดำเนินการนำศพมารับการตรวจต่อ ตามมาตรา ๑๕๑ และ ๑๕๒ ทุกกรณี
10. การติดใจสงสัยของพนักงานสอบสวน
กรณีที่ไม่ว่าจะเป็นประการใด หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี (ตามประเภทของการตายผิดธรรมชาติ) ซึ่งถือว่าเป็น “หัวหน้าเจ้าพนักงานในการชันสูตร” มีความประสงค์ที่จะให้มีการตรวจศพต่อแล้ว แพทย์จะต้องให้มีการส่งศพมาเพื่อรับการตรวจต่อโดยทันที
หมายเหตุ:
แพทย์ต้องจำไว้ว่าเมื่อมีการตายผิดธรรมชาติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๘1 ข้อหนึ่งข้อใดแล้ว เหตุผลของ “ญาติ” ที่อ้างขึ้นไม่ว่าจะเป็น “กรณีที่ทราบสาเหตุการตายมาแล้ว” หรือ “การไม่ติดใจเอาความ” ฯลฯ ย่อมไม่สามารถที่จะนำมาอ้างเพื่อมิให้แพทย์นำศพเข้ามาเพื่อการตรวจต่อ (ตามมาตรา ๑๕๑ และ ๑๕๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) แต่ต้องขึ้นอยู่กับเหตุและผลและความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์แห่งการชันสูตรพลิกศพนั่นเอง
แพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ
หมายถึง ความเสี่ยงที่แพทย์ดังกล่าวอาจต้องประสบกรณีกระทำการตามหน้าที่ในการ “ชันสูตรพลิกศพในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมาย” ทั้งนี้เนื่องจากแพทย์ที่ออกร่วมทำการชันสูตรพลิกศพ กับ “พนักงานสอบสวน” ต้องถือว่าแพทย์ดังกล่าวอยู่ในฐานะ “เจ้าพนักงาน” ซึ่งหมายถึงการเป็นเจ้าพนักงานตาม “ประมวลกฎหมายอาญา” และหากมีความบกพร่องในหน้าที่ย่อมหมายถึง “ความผิดตามมาตรา ๑๕๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา”5 ได้นั่นเอง
กรณีอุทาหรณ์ (รายงานผู้ตาย 1 ราย)
ผู้ตาย: ผู้ตายเป็นชายอายุ 51 ปี รูปร่างผอมบาง นอนอยู่บนเตียงรถเข็นของสถานพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง อยู่ในสภาพที่สวมเสื้อผ้าชุดของสถานดูแลผู้ป่วย และมีบาดแผลเจาะคอเพื่อการรักษา สภาพโดยทั่วไปผอมอย่างมาก (ภาพที่ 1)
ประวัติ: ทราบว่าผู้ตายเคยได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะมาก่อนเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว และได้ทำการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะด้านซ้าย (craniectomy with clotted removal) จากนั้นผู้ตายไม่รู้ตัวมาตลอด โดยลูกของผู้ตายได้ส่งผู้ตายเมื่อออกจากโรงพยาบาลไปให้แก่ “สถานดูแลผู้ป่วยทุพพลภาพ” ทำการดูแลต่อเนื่องหลังจากที่ออกจากโรงพยาบาล
วันที่เสียชีวิต: ในวันเกิดเหตุนั้น ผู้ป่วยถูกพบว่า “ไม่หายใจ” (ณ สถานดูแลผู้ป่วยทุพพลภาพ) และถูกนำส่งมารับการตรวจและกู้ชีพที่โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งแพทย์ได้ทำการตรวจแล้วพบว่าผู้ป่วยไม่มีสภาพแห่งชีวิต (vital signs) แต่ยังคงดำเนินการในกระบวนการกู้ชีพ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ และให้การวินิจฉัยว่า “ตายโดยมิปรากฏเหตุเสียชีวิตก่อนมาโรงพยาบาล”
การชันสูตรพลิกศพ: ทางโรงพยาบาลได้แจ้งไปยังพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่สถานพยาบาลตั้งอยู่ และแพทย์ที่มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพได้เข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนทำการชันสูตรพลิกศพ ณ สถานพยาบาลของรัฐแห่งนั้น โดยไม่พบสาเหตุแห่งการตายในเบื้องต้น
การดำเนินการต่อเนื่องภายหลังการชันสูตรพลิกศพ: เนื่องจากผู้ตายรายนี้แม้ว่าจะมีสภาพแห่งทุพพลภาพ แต่สาเหตุแห่งการเสียชีวิตยังไม่ปรากฏอย่างชัดแจ้ง จึงทำการส่งศพเพื่อการตรวจต่อ ณ สถานพยาบาลของรัฐบาลที่สามารถผ่าศพตรวจได้ (ได้ผลสภาวะแทรกซ้อนในทางเดินหายใจ: ภาพที่ 2)
วิเคราะห์และวิจารณ์ในผู้เสียชีวิตรายนี้กับการส่งศพเพื่อการตรวจต่อ: การที่ผู้ตายรายนี้เสียชีวิตโดยที่ยังมิได้ปรากฏเหตุชัดเจน อีกทั้งจากประวัติ สถานที่ และการนำส่งเพื่อการรักษาอาจยังมีข้อสงสัยในประเด็นต่าง ๆ ได้ กล่าวคือ
1. ผู้ตายได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บที่ศีรษะเมื่อ 6 เดือนก่อน ได้รับการผ่าตัดมาแล้ว ซึ่งอาจเกิดประเด็นหรือกรณีเกิดขึ้นว่า “เป็นผลธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นได้” (ภาพที่ 3)
หมายความว่า หากมีข้อสงสัยอยู่ตั้งแต่เริ่มแรก หรือมีกรณีแห่งคดีความในคดีอาญาหรือคดีอื่นใดตั้งแต่ที่ผู้ตายได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บเมื่อ 6 เดือนที่แล้วมานั้น คดีความเหล่านี้อาจจำต้องได้รับรายละเอียดในเรื่องการชันสูตรพลิกศพและผลการตรวจศพอย่างละเอียดด้วย โดยเป็นการสืบเนื่องจาก “ผลธรรมดาที่เกิดขึ้นได้” เช่น การที่ศีรษะได้รับบาดเจ็บนั้นเกิดจากอุบัติเหตุหรือถูกทำร้าย หรือหากบาดเจ็บจากอุบัติเหตุอาจเป็นอุบัติเหตุทางจราจรที่จำต้องมีรายงานการตรวจศพเพื่อประกอบการเรียกร้องสิทธิของญาติ (ซึ่งอาจมิได้อยู่ในขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย)
2. การที่ผู้ตายตายในเวลาต่อมาย่อมเข้าได้กับ “ผลธรรมดาที่เกิดขึ้นได้”
ประการที่หากเป็น “การตายผิดธรรมชาติ” และจำต้องมีการชันสูตรพลิกศพ แม้ว่าจะมิได้ตายทันทีภายหลังจากเกิดเหตุก็ตาม ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา ๖๓5 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา ๑๒๙ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา1
3. การดูแลผู้ป่วยทุพพลภาพของ “สถานเลี้ยงดู” อาจเป็นประเด็นแห่งคดี
หมายความว่า การที่ผู้ป่วยถูกส่งตัวเพื่อการดูแลโดย “สถานดูแลหรือเลี้ยงดูผู้ป่วยทุพพลภาพ” นั้น ยังอาจเกิดกรณีแห่งความสงสัยว่าผู้ให้การดูแลได้ให้การดูแลเป็นไปตามหลักมาตรฐานแห่งการดูแลหรือไม่ และอาจมีข้อกล่าวหาถึงการที่ดูแลอย่างมิได้มาตรฐานทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย ซึ่งจำเป็นต้องใช้รายงานการชันสูตรพลิกศพและการตรวจอย่างละเอียดด้วย
ตัวอย่าง:
เคยปรากฏว่า มีการให้ผู้ป่วยเข้ารับการเลี้ยงดูจากสถานเลี้ยงดูเด็กหรือผู้ทุพพลภาพและเกิดการตายขึ้น และยังเกิดข้อสงสัยกับญาติของผู้ตายว่า “ผู้ตายน่าจะเกิดจาก”
ก. การดูแลที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือประมาทเลินเล่อในการดูแลผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย
ข. การที่ผู้ดูแล (โดยเจ้าหน้าที่) เจตนากระทำต่อผู้ป่วยในความดูแลจนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย แม้ว่าจะมิได้เจตนากระทำต่อชีวิต แต่อาจเข้าข่ายกรณีทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยไม่เจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๐5
สรุป
การที่แพทย์ที่ทำการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมายนั้นถือว่าแพทย์เป็นผู้ที่มีหน้าที่และเป็น “เจ้าพนักงาน” ตามกฎหมายในประมวลกฎหมายอาญาด้วย ซึ่งแพทย์จำต้องปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกรอบมาตรฐานและเกณฑ์ความรู้ทางการแพทย์ด้วย โดยเฉพาะประเด็นการที่แพทย์จะนำศพมารับการตรวจต่อหรือไม่นั้น แพทย์จะต้องพิจารณาให้ดี ทั้งนี้เพื่อมาตรฐานแห่งการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์นั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
1. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. http://www.thailaws.com/law/thaiacts/code1307.pdf
2. เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2555 มีผลตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555.
3. ประกาศแพทยสภา ที่ 12/2555 เรื่อง เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555 (รับรองโดยคณะกรรมการแพทยสภาในการประชุมครั้งที่ 12/2554 วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554).
4. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525. ราชกิจจานุเบกษา 2525;99:1-24.
5. ประมวลกฎหมายอาญา. http://www.dopa.go.th/dopanew/law/02.pdf