สิ่งแปลกปลอมติดค้างในทางเดินอาหาร
ผศ.พญ.รพีพร โรจน์แสงเรือง แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลนครธน
สิ่งแปลกปลอมติดค้างในทางเดินอาหารมักพบในเด็กได้บ่อยโดยเฉพาะพบมากสุดในช่วงอายุ 6 เดือน ถึง 6 ปี
ส่วนในผู้ใหญ่อาจมีสิ่งแปลกปลอม (มักไม่ใช่อาหาร) ติดค้างในทางเดินอาหารซึ่งพบบ่อยในผู้ป่วยโรคจิตเภท คนปัญญาอ่อน ดื่มเหล้ามาก หรือนักโทษที่ต้องการหาสาเหตุมานอนในโรงพยาบาล คนไม่มีฟันมักเสี่ยงต่อการมีอาหารหรือฟันปลอมติดคอ นอกจากนี้ก็อาจพบในผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพของหลอดอาหาร ผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหารหรือมีความผิดปกติของทางเดินอาหารแต่กำเนิดก็มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะมีสิ่งแปลกปลอมติดค้างในทางเดินอาหาร
การวินิจฉัย
เด็กโตและผู้ใหญ่อาจระบุตำแหน่งเจ็บคอได้ แต่ตำแหน่งนั้นก็อาจไม่มีสิ่งแปลกปลอมไปติดค้างอยู่เลยก็ได้ ส่วนเด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคจิตเภทหรือคนปัญญาอ่อน มักมาด้วยอาการอาเจียน ไอบ่อย กลืนน้ำลายไม่ได้ หรือหายใจได้ยินเสียงวี้ด มีน้ำลายปนเลือด หรือหายใจลำบากก็ได้
ถ้าวัตถุทิ่มทะลุบริเวณคอหอยส่วนปาก (oropharynx) หรือหลอดอาหารส่วนต้นทะลุก็ทำให้มีอาการลำคอบวม แดง เจ็บหรือคลำได้เสียงกรอบแกรบที่คอ นอกจากนี้การมีสิ่งแปลกปลอมติดค้างในทางเดินอาหารอาจทำให้เกิดลำไส้ทะลุหรืออุดตันได้ ซึ่งต้องส่งปรึกษาศัลยแพทย์เพื่อทำการผ่าตัดหรือส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารต่อไป
เอกซเรย์จะช่วยบอกตำแหน่ง ขนาด และจำนวนสิ่งแปลกปลอมที่ติดค้างในทางเดินอาหารได้ แต่ถ้าเป็นสิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กก็อาจเอกซเรย์ไม่พบได้เช่นกัน นอกจากนี้แพทย์ก็ไม่ควรส่งตรวจเอกซเรย์ชนิดที่ต้องกลืนสารทึบรังสีร่วมด้วยเพราะอาจเกิดการสูดสำลัก หรือสารทึบรังสีไปเคลือบสิ่งแปลกปลอมและเยื่อบุหลอดอาหาร จนทำให้จะมาใช้กล้องส่องตรวจทางเดินอาหารในภายหลังก็ไม่เห็นพยาธิสภาพ บางครั้งในการวินิจฉัยอาจต้องใช้คอมพิวเตอร์สแกนเพื่อตรวจหาตำแหน่งสิ่งแปลกปลอมได้