ผศ.นพ.ธนะรัตน์ บุญเรือง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สร้างความสมดุลระหว่างผู้ปฏิบัติงานกับความต้องการของผู้รับบริการ
จากวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ตั้งใจมุ่งมั่นให้เป็นโรงพยาบาลชั้นเลิศที่มุ่งสู่ระดับนานาชาติในการจัดการรักษาผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ พัฒนาโรงพยาบาลให้มีศักยภาพระดับสูงสุดของประเทศในการดูแลผู้ป่วยโรคซับซ้อนมาตรฐานเทียบเท่าสหรัฐอเมริกา ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ก่อตั้งขึ้น เพื่อให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วย โดยมุ่งเน้นคุณภาพที่ผู้ป่วยพึงได้รับ เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีสำหรับการเรียนรู้ การวิจัย การฝึกอบรม และหล่อหลอมนักศึกษาแพทย์ แพทย์ใช้ทุน แพทย์ประจำบ้านให้มีลักษณะของแพทย์ที่พึงประสงค์
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งผศ.นพ.ธนะรัตน์ บุญเรือง เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์คนใหม่ แทน ผศ.นพ.ชิต เพชรพิเชฐเชียร ที่เกษียณอายุราชการ ซึ่งการดำเนินงานของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์จะเป็นอย่างไร และจะก้าวไปสู่ทิศทางใดนั้น ผู้อำนวยการคนใหม่กล่าวว่า
“อันที่จริง ผมเป็นคนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตั้งแต่เริ่มเรียนที่นี่ จนกระทั่งจบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตเมื่อปี พ.ศ. 2535 ชีวิตการทำงานก็เริ่มต้นขึ้นที่นี่เช่นกัน โดยผมทำงานเป็นแพทย์ใช้ทุนในภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2535 หลังจากนั้นจึงเข้าสู่เส้นทางของการเป็นอาจารย์ในปี พ.ศ. 2538”
สำหรับเส้นทางสู่การทำงานบริหาร ผศ.นพ.ธนะรัตน์ เล่าว่า จากบุคลิกภาพและประสบการณ์ที่ผ่านมา หลังจากที่ทำงานในภาควิชา ทำให้ผู้ใหญ่เล็งเห็นว่าเราสามารถจะทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าภาควิชา ฝ่ายบริการ ดูแลเรื่องการบริการผู้ป่วยประมาณ 3-4 ปี หลังจากนั้นได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ติดต่อกัน 2 สมัย สมัยแรกคือ ตั้งแต่ พ.ศ. 2551-2554 และสมัยที่ 2 คือ พ.ศ. 2555-2559 (ซึ่งยังไม่หมดวาระแต่ได้รับการคัดเลือกให้รับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล) นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นกรรมการบริหารคณะแพทยศาสตร์ และคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ในคณะ ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้ผมได้เรียนรู้ระบบงานต่าง ๆ ของคณะแพทยศาสตร์ และจากการที่เราสนใจ ประกอบกับได้รับประสบการณ์จากการทำงานกับกรรมการหลายชุด ทำให้มีความเข้าใจเรื่องระบบงานพอสมควร
ผศ.นพ.ธนะรัตน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการก้าวเข้าสู่การทำหน้าที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาล จุดเริ่มต้นมาจากการที่ ผศ.นพ.ชิต เพชรพิเชฐเชียร เกษียณอายุราชการ และทางทีมบริหารจำเป็นต้องหาผู้อำนวยการคนใหม่ ผมได้รับการทาบทามจากท่านคณบดีให้มารับตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายโรงพยาบาล และผู้อำนวยการโรงพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
ความรู้สึกแรกคือ ยินดีที่ได้รับเกียรติ รู้สึกยินดีที่มีคนมองเห็นความสามารถและไว้ใจให้ทำงานในตำแหน่งสำคัญ คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้พัฒนาตนเองในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ในการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น พัฒนาจิตใจในการคิดว่าควรจะให้ผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ได้พัฒนาตนเองให้มีความสุขุมคัมภีรภาพ และเพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการ
แต่อย่างไรก็ตาม ยังกังวลและเป็นความกดดันว่า ตนเองไม่ได้ผ่านงานของโรงพยาบาลมาก่อน และไม่ได้ทำงานร่วมทีมกับผู้บริหารปัจจุบันมาตั้งแต่แรกเริ่ม แต่คิดว่าเมื่อได้รับความไว้วางใจ เราก็น่าจะเรียนรู้ได้ เพราะมีประสบการณ์ด้านการบริหารจากการเป็นหัวหน้าภาควิชาส่วนหนึ่ง ซึ่งงานของภาควิชาส่วนหนึ่งต้องสัมพันธ์กับงานของโรงพยาบาล เพราะภาควิชาเป็นผู้ร่วมให้บริการในโรงพยาบาล ซึ่งจากประสบการณ์ตรงนี้ก็ทำให้เข้าใจระบบงานและปัญหาของโรงพยาบาลมากพอสมควร
อันที่จริงแนวทางการบริหารงานของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ไม่เหมือนกับโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นแบบการบังคับบัญชาโดยตรงเป็นส่วนใหญ่ แต่เป็นแบบการบริหารร่วม เพราะหนึ่งคนทำงานหลายพันธกิจ แต่ละพันธกิจมีผู้รับผิดชอบแตกต่างกัน โรงพยาบาลไม่ได้มีกำลังเป็นของตัวเอง ทีมบริหารโรงพยาบาลไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติ ดังนั้น การทำหน้าที่ผู้บริหารของโรงพยาบาลคือ เป็น “ผู้-อำ-นวย-การ” หมายถึง คอยอำนวยความสะดวกให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ และสนับสนุนคนทำงานอย่างเต็มที่ ประสานงาน ทำความเข้าใจ และแก้ไขปัญหาให้กับหน่วยงานต่าง ๆ คอยสร้างความเข้าใจระหว่างทีมทำงาน เพราะในบางครั้งทุกคนพยายามมุ่งมั่นที่จะทำงานของตนเองให้ดี แต่หลายครั้งอาจเกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานบนพื้นฐานประโยชน์ของผู้ป่วย ซึ่งเป็นอุปสรรคการทำงานของทีมต่าง ๆ ดังนั้น เราต้องบริหารจัดการให้ระบบงานสามารถดำเนินต่อไปได้ ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ บรรลุตามพันธกิจการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นพันธกิจหลัก และเป็นทีมที่ชี้ทิศทางและแนวทางการทำงานให้ผู้ปฏิบัติได้เดินไปในทิศทางเดียวกัน
การเข้ามารับตำแหน่งในครั้งนี้ จริง ๆ แล้วไม่ได้คิดว่าจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนอะไรมากมาย เนื่องจากโครงสร้างการบริหารและแนวทางการทำงานเดิมที่กำหนดไว้มีความครบถ้วนและชัดเจนอยู่แล้ว ประกอบกับระยะเวลาที่เหลืออยู่เป็นเพียงช่วงสั้น ๆ จึงคิดว่าแนวทางการทำงานจะเป็นในรูปแบบของการรับนโยบายจากคณบดี จากทีมบริหารเดิม เพื่อนำสู่การปฏิบัติและสร้างความเข้าใจ และสื่อสารปัญหา ข้อเสนอแนะจากผู้ปฏิบัติสู่การปรับปรุงการนำองค์กร และในส่วนตัว เป็นการเข้ามาเรียนรู้ระบบในเชิงลึก โดยการนำมุมมองของคนที่เคยเป็นคนวงนอกแล้วมองเห็นปัญหาเข้ามาผสานกับงานบริหาร เพื่อนำไปปรับใช้และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
ที่สำคัญการทำงานในเชิงบริหารต้องอาศัยความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันของคนทำงาน เพราะงานจะสำเร็จไม่ได้ด้วยคนคนเดียว แต่งานจะสำเร็จและเกิดผลได้ถ้าได้รับความร่วมมือจากผู้ร่วมงาน ดังนั้น การที่เรามีโอกาสทำงานกับผู้ร่วมงานสาขาอื่นนับเป็นสิ่งที่ดี เพราะสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นพื้นฐานการทำงานที่ดี เมื่อไหร่ที่เราเข้าใจผู้อื่น เมื่อนั้นผู้อื่นก็จะยอมรับเราเช่นกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นคุณสมบัติของผู้บริหาร และการเป็นผู้นำที่ดี
ผศ.นพ.ธนะรัตน์ ยังกล่าวถึงหลักในการทำงานให้ฟังว่า ในการทำงาน ผมมีคำหนึ่งที่ชอบใช้คือ “สร้างความสมดุล” เพราะทุกอย่างไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบที่สุด แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลระหว่างกันมากที่สุด ซึ่งสิ่งที่ยากคือ การสร้างความสมดุลระหว่างผู้ปฏิบัติงานกับความต้องการของผู้รับบริการ และความต้องการของระบบในเชิงนโยบาย รวมถึงการลดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน ซึ่งสิ่งที่หวังไว้คือ ถ้าทุกคนทำงานได้ ผมถือว่าการทำงานด้านการบริหารของผมประสบความสำเร็จ ซึ่งกลไกที่ใช้อาจจะเป็นลักษณะของการพูดคุยในหน่วยงานต่าง ๆ เนื่องจากบุคลิกของเราสามารถเข้าถึงได้ง่าย ผมจึงคิดว่าเมื่อทุกคนมีปัญหา ทุกคนสามารถบอกกล่าวปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ผมยินดีรับฟัง และจะพยายามหาวิธีการแก้ไขที่เหมาะสมและสามารถสนับสนุนการทำงานของคนทำงานให้ได้มากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าผลดีโดยรวมก็จะปรากฏกับคณะแพทยศาสตร์ ถึงแม้มันเป็นสิ่งที่ยาก แต่ก็ต้องทำ
สำหรับเป้าหมายในการเข้ามาทำงานในครั้งนี้ ผมคิดว่าถ้าเป็นผลงานเชิงปริมาณ หรือเชิงคุณภาพ สิ่งเหล่านี้จะมีตัวชี้วัด หรือรายงานการดำเนินงานที่ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านั้นไม่ได้สื่อถึงความพึงพอใจหรือความผาสุกของบุคลากรในองค์กร แต่ผมตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำให้บรรยากาศในการทำงานดีขึ้น ซึ่งการวัดผลคงไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ในรูปแบบของตัวเลข แต่เมื่อใดที่ผู้ปฏิบัติงานทราบว่าบรรยากาศการทำงานเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แม้จะเป็นความรู้สึกของผู้ปฏิบัติงานดีขึ้น ผมก็พอใจแล้ว
สุดท้ายนี้ ผศ.นพ.ธนะรัตน์ ได้ฝากบอกกับบุคลากรทุกคนว่า ผมขอขอบคุณบุคลากรทุกท่านที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจทำงานให้กับคณะแพทยศาสตร์ ผมเชื่อว่าคณะแพทยศาสตร์เป็นหน่วยงานหนึ่งที่บุคลากรมีความผูกพันกับองค์กรสูง ผมเชื่อว่าบุคลากรทุกคนคิดว่าตนเองเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้ ถ้าทุกคนร่วมกันสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี ลดความเป็นส่วนตัวและนึกถึงส่วนรวมให้มากขึ้น บรรยากาศในบ้านหรือที่ทำงานของเราก็จะน่าอยู่มากขึ้น ที่สำคัญคือ บ้านหลังนี้คืออนาคตที่เราจะฝากชีวิตไว้ เพราะสุดท้ายเราก็จะกลายเป็นผู้รับบริการคนหนึ่งในองค์กรแห่งนี้ ฉะนั้นถ้าเราทำหน้าที่ให้ดี ทุกคนก็จะได้รับผลประโยชน์สูงสุดของเราเอง การทำให้องค์กรดีไม่ใช่หน้าที่ของผู้บริหาร หรือหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องหันหน้ามาร่วมมือกัน “ให้คิดว่า การให้จะทำให้เราได้มากกว่าการรับ”