จัดท่านอนคว่ำในผู้ป่วยหายใจลำบากรุนแรง
N Engl J Med 2013;368:2159-2168.
บทความเรื่อง Prone Positioning in Severe Acute Respiratory Distress Syndrome รายงานว่า ข้อมูลจากงานวิจัยในผู้ป่วยกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลันไม่พบประโยชน์จากการนอนคว่ำระหว่างใช้เครื่องช่วยหายใจต่อผลลัพธ์ นักวิจัยจึงประเมินผลการจัดท่านอนคว่ำให้เร็วขึ้นต่อผลลัพธ์ในผู้ป่วยกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลันที่มีอาการรุนแรง
นักวิจัยศึกษาแบบ multicenter, prospective, randomized, controlled trial โดยสุ่มให้ผู้ป่วยกลุ่มอาการหายใจลำบากรุนแรง 466 รายนอนคว่ำอย่างน้อย 16 ชั่วโมง หรือให้อยู่ในท่านอนหงาย กลุ่มอาการหายใจลำบากรุนแรงประเมินจากอัตราส่วนของความดันเฉพาะของออกซิเจนในเลือดต่อค่า fraction of inspired oxygen (FiO2) ที่ต่ำกว่า 150 มิลลิเมตรปรอท ที่ FiO2 อย่างน้อย 0.6 และ positive end-expiratory pressure อย่างน้อย 5 cm water และปริมาตรอากาศหายใจใกล้ 6 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมของ predicted body weight มาตรวัดผลลัพธ์ ได้แก่ สัดส่วนของผู้ป่วยที่ตายจากทุกสาเหตุภายใน 28 วันหลังรวบรวม
ผู้ป่วยกลุ่มที่สุ่มให้นอนคว่ำมีจำนวน 237 ราย และกลุ่มที่สุ่มให้นอนหงายมีจำนวน 229 ราย การตายที่ 28 วันเท่ากับ 16.0% ในกลุ่มนอนคว่ำ และ 32.8% ในกลุ่มนอนหงาย (p < 0.001) และ hazard ratio ของการตายสำหรับท่านอนคว่ำเท่ากับ 0.39 (95% confidence interval [CI], 0.25-0.63) อัตราตาย 90 วันที่ยังไม่ได้ปรับเท่ากับ 23.6% ในกลุ่มนอนคว่ำเทียบกับ 41.0% ในกลุ่มนอนหงาย (p < 0.001) โดยมี hazard ratio เท่ากับ 0.44 (95% CI, 0.29-0.67) อุบัติการณ์ของภาวะแทรกซ้อนไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยกเว้นอุบัติการณ์ของหัวใจหยุดเต้นซึ่งพบสูงกว่าในกลุ่มนอนหงาย
การจัดท่านอนคว่ำให้เร็วขึ้นในผู้ป่วยกลุ่มอาการหายใจลำบากที่มีอาการรุนแรงสามารถลดอัตราตายที่ 28 วันและ 90 วันได้อย่างมีนัยสำคัญ