ผลของยาลดความดันโลหิตต่อความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

ผลของยาลดความดันโลหิตต่อความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

Lancet. 2015;385(9971):867-874.

บทความเรื่อง Effects of Blood Pressure Lowering on Cardiovascular Risk According to Baseline Body-Mass Index: A Meta-Analysis of Randomised Trials รายงานว่า ประโยชน์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดจากยาลดความดันโลหิตในคนอ้วนเทียบกับคนน้ำหนักตัวปกติอาจขึ้นอยู่กับการเลือกยาที่ใช้ ซึ่งการศึกษานี้ได้เปรียบเทียบผลของยาสูตรยาลดความดันโลหิตต่อความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยที่จำแนกตามดัชนีมวลกาย (BMI) พื้นฐาน

การศึกษานี้รวบรวมข้อมูลผู้ป่วยจากการศึกษาที่รวมอยู่ใน Blood Pressure Lowering Treatment Trialists' Collaboration เพื่อเปรียบเทียบผลของกลุ่มยาลดความดันโลหิตที่ต่างกันต่อเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่รุนแรงทั้งหมด (สโตรค หลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจล้มเหลว และการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด) อันเป็นผลลัพธ์หลัก และประเมินความเชื่อมโยงระหว่างยาและ BMI ด้วยmeta-analyses และ meta-regressions โดยวิเคราะห์ทั้งในฐานะตัวแปรเชิงกลุ่ม (< 25 กิโลกรัม/ตารางเมตร, 25 ถึง < 30 กิโลกรัม/ตารางเมตร และ ≥ 30 กิโลกรัม/ตารางเมตร) หรือตัวแปรต่อเนื่อง

การวิเคราะห์ใช้ข้อมูลผู้ป่วย 13,5715 คนจาก 22 การศึกษา ซึ่งเกิดเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดรุนแรง 14,353 เหตุการณ์ ผลจาก primary comparison ไม่พบความแตกต่างด้านผลลัพธ์การป้องกันตามกลุ่มยาใน BMI ทั้ง 3 กลุ่ม (all p for trend > 0.20) เมื่อวิเคราะห์ในฐานะตัวแปรต่อเนื่องพบว่า angiotensin-converting-enzyme inhibitors ให้ผลลัพธ์การป้องกันที่สูงกว่าเล็กน้อยสำหรับ BMI ที่สูงขึ้นทุก 5 กิโลกรัม/ตารางเมตร เทียบกับ calcium antagonists (hazard ratio 0.93, 95% CI 0.89-0.98; p = 0.004) หรือ diuretics (0.93, 0.89-0.98; p = 0.002) ผลจาก meta-regressions ไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่ม BMI และการลดลงของความเสี่ยงสำหรับความดันซิสโตลิกที่ลดลง และไม่พบความเชื่อมโยงระหว่าง BMI และประสิทธิภาพของ calcium antagonists เมื่อเทียบกับ diuretics

จากการศึกษาพบหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่ชี้ว่า กลุ่มยาลดความดันโลหิตที่ต่างกันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างคนอ้วนเทียบกับผู้ที่น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ