การรับประทานถั่วและการตายจำเพาะสาเหตุ

การรับประทานถั่วและการตายจำเพาะสาเหตุ

JAMA Intern Med. Published online March 2, 2015.

บทความเรื่อง Prospective Evaluation of the Association of Nut/Peanut Consumption with Total and Cause-Specific Mortality รายงานว่า การรับประทานถั่วเปลือกแข็งปริมาณมากสัมพันธ์กับความเสี่ยงการตายที่ต่ำลง อย่างไรก็ดี การศึกษาหลายฉบับก่อนหน้านี้มักศึกษาในกลุ่มประชากรเชื้อสายยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูง

การศึกษาได้ประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานถั่วเปลือกแข็งต่อการตายรวมและการตายจำเพาะสาเหตุในกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันและเชื้อสายยุโรปซึ่งมีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมระดับล่าง และชาวจีนในนครเซี่ยงไฮ้ของประเทศจีน

กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาประกอบด้วยชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันและเชื้อสายยุโรป 71,764 คน ซึ่งมีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมระดับล่างและเข้าร่วมในการศึกษา Southern Community Cohort Study (SCCS) ในแถบตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา (มีนาคม ค.ศ. 2002 ถึงกันยายน ค.ศ. 2009) และอีกสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มตัวอย่าง 134,265 คนในการศึกษา Shanghai Women’s Health Study (SWHS) (ธันวาคม ค.ศ. 1996 ถึงพฤษภาคม ค.ศ. 2000) และ Shanghai Men’s Health Study (SMHS) (มกราคม ค.ศ. 2002 ถึงกันยายน ค.ศ. 2006) ในนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน โดยประเมินการรับประทานถั่วเปลือกแข็งที่กลุ่มตัวอย่างรายงานในการศึกษา SCCS (ประมาณ 50% เป็นถั่วลิสง) และการรับประทานถั่วลิสงอย่างเดียวในการศึกษา SMHS/SWHS จากแบบสอบถาม

การตายยืนยันจากข้อมูล National Death Index และ Social Security Administration ในการศึกษา SCCS และ Shanghai Vital Statistics Registry และการติดตามทุก 2 ปีในการศึกษา SWHS/SMHS โดยคำนวณ hazard ratios (HRs) และ 95% CIs ด้วย Cox proportional hazards regression models

มีรายงานการตาย 14,440 รายจากมัธยฐานการติดตาม 5.4 ปีในการศึกษา SCCS, 6.5 ปีในการศึกษา SMHS และ 12.2 ปีในการศึกษา SWHS กว่าครึ่งของผู้หญิงในการศึกษา SCCS เคยสูบบุหรี่เทียบกับ 2.8% ในการศึกษา SWHS อัตราการเคยสูบบุหรี่สำหรับผู้ชายเท่ากับ 77.1% ในการศึกษา SCCS และ 69.6% ในการศึกษา SMHS การรับประทานถั่วเปลือกแข็งสัมพันธ์แบบกลับกับความเสี่ยงการตายรวมในทุก cohorts (all p < 0.001 for trend) โดยมี HRs ปรับแล้วที่สัมพันธ์กับการรับประทานมากที่สุดเทียบกับน้อยที่สุดเท่ากับ 0.79 (95% CI 0.73-0.86) และ 0.83 (95% CI 0.77-0.88) สำหรับกลุ่มตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาและกลุ่มตัวอย่างในจีน ความสัมพันธ์แบบกลับนี้ส่วนใหญ่เป็นผลจากการตายเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (p < 0.05 สำหรับ trend ใน US cohort; p < 0.001 สำหรับ trend ใน Shanghai cohorts) เมื่อพิจารณาประเภทของโรคหัวใจและหลอดเลือดพบความสัมพันธ์แบบกลับที่มีนัยสำคัญสำหรับโรคหัวใจขาดเลือดในทุกกลุ่ม (HR 0.62; 95% CI 0.45-0.85 ในกลุ่มเชื้อสายแอฟริกัน; HR 0.60; 95% CI 0.39-0.92 ในกลุ่มเชื้อสายยุโรป และ HR 0.70; 95% CI 0.54-0.89 ในกลุ่มชาวเอเชียสำหรับการรับประทานถั่วมากที่สุดเทียบกับน้อยที่สุด) ความสัมพันธ์สำหรับ ischemic stroke (HR 0.77; 95% CI 0.60-1.00 สำหรับการรับประทานถั่วมากที่สุดเทียบกับน้อยที่สุด) และ hemorrhagic stroke (HR 0.77; 95% CI 0.60-0.99 สำหรับการรับประทานถั่วมากที่สุดเทียบกับน้อยที่สุด) มีนัยสำคัญเฉพาะในกลุ่มชาวเอเชีย ความสัมพันธ์ระหว่างถั่วและการตายใกล้เคียงกันสำหรับผู้ชายและผู้หญิง และสำหรับกลุ่มเชื้อสายแอฟริกัน ยุโรป และเอเชีย โดยไม่เป็นผลจาก metabolic conditions ที่พบเมื่อเข้าร่วมการศึกษา

การรับประทานถั่วเปลือกแข็งสัมพันธ์กับการตายรวมและการตายเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ลดลงในทุกกลุ่มชาติพันธ์ุและในกลุ่มผู้มีสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมระดับล่าง การรับประทานถั่วเปลือกแข็งโดยเฉพาะถั่วลิสงซึ่งมีราคาถูกอาจเป็นแนวทางที่คุ้มค่าสำหรับฟื้นฟูสุขภาพของระบบหัวใจและหลอดเลือด