ธัญพืชขัดสีน้อยลดความเสี่ยงการตาย
JAMA Intern Med. 2015;175(3):373-384.
บทความเรื่อง Association Between Dietary Whole Grain Intake and Risk of Mortality: Two Large Prospective Studies in US Men and Women รายงานว่า การรับประทานธัญพืชผ่านการขัดสีน้อยในปริมาณมากขึ้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ต่ำลงต่อโรคเรื้อรังรุนแรง เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ยังคงมีข้อมูลจำกัดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างธัญพืชขัดสีน้อยและการตาย
การศึกษานี้ได้ประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานธัญพืชขัดสีน้อยและความเสี่ยงการตาย โดยศึกษาจากผู้หญิง 74,341 คนในการศึกษา Nurses’ Health Study (ค.ศ. 1984-2010) และชาย 43,744 คนในการศึกษา Health Professionals Follow-Up Study (ค.ศ. 1986-2010) ซึ่งผู้ป่วยทั้งหมดปลอดจากโรคหัวใจและหลอดเลือดและมะเร็งที่พื้นฐาน มาตรวัดผลลัพธ์ ได้แก่ hazard ratios (HRs) สำหรับการตายรวมและการตายเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือดและมะเร็งตามระดับการรับประทานธัญพืชขัดสีน้อย โดยปรับปรุงข้อมูลทุก 2 หรือ 4 ปี ด้วยแบบสำรวจการรับประทานอาหาร
มีรายงานการตาย 26,920 ราย ระหว่างการติดตาม 2,727,006 person-years ภายหลังการปรับพหุตัวแปรสำหรับตัวแปรกวนรวมถึงอายุ การสูบบุหรี่ ดัชนีมวลกาย การออกกำลังกาย และคะแนน Alternate Healthy Eating Index ที่ปรับปรุงแล้วพบว่า การรับประทานธัญพืชผ่านการขัดสีน้อยในปริมาณมากขึ้นสัมพันธ์กับการตายรวมและการตายเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ต่ำลง แต่ไม่รวมถึงการตายเนื่องจากโรคมะเร็ง โดยค่า pooled HRs สำหรับ quintiles 1 ถึง 5 สำหรับการรับประทานธัญพืชขัดสีน้อยเท่ากับ 1 (reference), 0.99 (95% CI 0.95-1.02), 0.98 (95% CI 0.95-1.02), 0.97 (95% CI 0.93-1.01) และ 0.91 (95% CI 0.88-0.95) สำหรับการตายรวม (p for trend < 0.001) และ1 (reference), 0.94 (95% CI 0.88-1.01), 0.94 (95% CI 0.87-1.01), 0.87 (95% CI 0.80-0.94) และ 0.85 (95% CI 0.78-0.92) สำหรับการตายเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (p for trend < .001) และ1 (reference), 1.02 (95% CI 0.96-1.08), 1.05 (95% CI 0.99-1.12), 1.04 (95% CI 0.98-1.11) และ 0.97 (95% CI 0.91-1.04) สำหรับการตายเนื่องจากโรคมะเร็ง (p for trend = 0.43) โดยประมาณว่าการรับประทานธัญพืชขัดสีน้อยแต่ละหน่วยบริโภค (28 กรัม/วัน) สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ต่ำลง 5% (95% CI 2-7%) ต่อการตายรวม และ 9% (95% CI 4-13%) ต่อการตายเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ขณะที่การรับประทานในปริมาณเท่ากันสัมพันธ์อย่างไม่มีนัยสำคัญกับการตายเนื่องจากโรคมะเร็งที่ต่ำลง (HR 0.98; 95% CI 0.94-1.02) ความสัมพันธ์แบบกลับในลักษณะเดียวกันยังพบจากการรับประทานรำและการตายเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีค่า pooled HR เท่ากับ 0.80 (95% CI 0.73-0.87; p for trend < 0.001) ขณะที่จมูกข้าวไม่สัมพันธ์กับการตายเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือดหลังปรับการรับประทานรำข้าว
ข้อมูลนี้ชี้ว่า การรับประทานธัญพืชขัดสีน้อยในปริมาณมากขึ้นสัมพันธ์กับการตายรวมและการตายเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ต่ำลงในชาวอเมริกันทั้งชายและหญิง โดยไม่เป็นผลจากปัจจัยด้านอาหารและรูปแบบการดำเนินชีวิตอื่น ซึ่งผลลัพธ์นี้สอดคล้องกับคำแนะนำที่ส่งเสริมให้รับประทานธัญพืชขัดสีน้อยมากขึ้นเพื่อช่วยป้องกันโรค