ผลลดความดันโลหิตในผู้สูงอายุสมองเสื่อม

ผลลดความดันโลหิตในผู้สูงอายุสมองเสื่อม

JAMA Intern Med. Published online March 2, 2015.

บทความเรื่อง Effects of Low Blood Pressure in Cognitively Impaired Elderly Patients Treated with Antihypertensive Drugs รายงานว่า บทบาทการพยากรณ์โรคของความดันโลหิตที่สูงและระดับการลดความดันโลหิตในผู้ป่วยสมองเสื่อมยังไม่มีการศึกษาไว้ชัดเจน การศึกษานี้จึงได้ประเมินผลของ office blood pressure, ambulatory blood pressure monitoring หรือการใช้ยาลดความดันโลหิตในการพยากรณ์การดำเนินโรคของการเสื่อมลงด้านการทำงานของสมองในผู้ป่วย overt dementia และ mild cognitive impairment (MCI)

การศึกษามีรูปแบบเป็น cohort study ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2009 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2012 โดยมีมัธยฐานการติดตาม 9 เดือนจากผู้ป่วยสมองเสื่อม และ MCI ในคลินิกผู้ป่วยนอก 2 แห่ง ผลลัพธ์หลักได้แก่ การเสื่อมลงด้านการทำงานของสมองประเมินจากผลต่างคะแนน Mini-Mental State Examination (MMSE) ระหว่างพื้นฐานและการติดตาม

การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ป่วย 172 คน โดยมีค่าเฉลี่ย (SD) อายุเท่ากับ 79 (5) ปี และค่าเฉลี่ย (SD) คะแนน MMSE เท่ากับ 22.1 (4.4) ในจำนวนนี้ 68.0% มีสมองเสื่อม 32.0% มี MCI และ 69.8% ได้รับการรักษาด้วยยาลดความดันโลหิต ผู้ป่วยในกลุ่มที่มีความดันซิสโตลิกกลางวันต่ำสุด (≤ 128 มิลลิเมตรปรอท) มีคะแนน MMSE เปลี่ยนแปลงมากที่สุด (mean [SD], -2.8 [3.8]) เทียบกับผู้ป่วยกลุ่มความดันระดับปานกลาง (129-144 มิลลิเมตรปรอท) (mean [SD] -0.7 [2.5]; p = 0.002) และระดับสูงสุด (≥ 145 มิลลิเมตรปรอท) (mean [SD] -0.7 [3.7]; p = 0.003) และความสัมพันธ์มีนัยสำคัญในกลุ่มย่อยของผู้ป่วยสมองเสื่อมและ MCI เฉพาะในผู้ที่ได้รับยาลดความดันโลหิต จากตัวแบบพหุตัวแปรที่รวมอายุ คะแนน MMSE ที่พื้นฐาน และคะแนน vascular comorbidity พบว่า interaction term ระหว่างความดันซิสโตลิกกลางวันที่ต่ำและการได้รับยาลดความดันโลหิตสัมพันธ์โดยอิสระกับความเสื่อมของด้านการทำงานของสมองที่มากขึ้นในกลุ่มย่อยทั้ง 2 กลุ่ม ความสัมพันธ์ระหว่างความดันซิสโตลิกวัดที่สถานพยาบาลและการเปลี่ยนแปลงของคะแนน MMSE มีระดับอ่อนกว่า และตัวแปรอื่นสำหรับ ambulatory blood pressure monitoring ไม่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของคะแนน MMSE

ความดันซิสโตลิกกลางวันที่ต่ำสัมพันธ์โดยอิสระกับการดำเนินโรคที่มากขึ้นของความเสื่อมด้านการทำงานของสมองในผู้ป่วยอายุมากที่เป็นสมองเสื่อมและ MCI ซึ่งได้รับยาลดความดันโลหิต การลดความดันซิสโตลิกมากเกินไปอาจเป็นอันตรายสำหรับผู้ป่วยอายุมากที่มีภาวะบกพร่องด้านการทำงานของสมอง ทั้งนี้ ambulatory blood pressure monitoring อาจมีประโยชน์สำหรับเลี่ยงการลดความดันโลหิตมากเกินไปในผู้ป่วยกลุ่มนี้