ผู้ป่วยมีโรคที่รักษาไม่หายอยู่ก็ไม่จำเป็นต้องตายด้วยโรคนั้น (รายงานผู้ตาย 1 ราย) Patient Who Has Suffered From Untreatable Disease Could Be Dead By Another Cause
นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ พ.บ., ว.ว.นิติเวชศาสตร์*
*รองศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
เมื่อแพทย์เข้าร่วมการชันสูตรพลิกศพกับพนักงานสอบสวนตามหน้าที่ (มาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา)1 แล้วพบว่าผู้ตายมีโรคร้ายแรงบางประเภทที่รักษาไม่ได้อยู่ เช่น 1) โรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ซึ่งอาจอยู่ในระยะแรกไปจนถึงระยะท้ายของโรค 2) โรคติดเชื้อที่รักษาไม่ได้ เช่น การติดเชื้อ HIV ไปจนถึงการเป็นโรคเอดส์เต็มขั้น เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นการตายที่บ้าน และประวัติที่ได้รับทราบถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะตายเป็นในลักษณะที่เฉียบพลัน เช่น
ก. นั่งคุยอยู่แล้วสักพักขอไปเข้านอนก็เสียชีวิตในเช้าวันรุ่งขึ้น (ปลุกไม่ตื่น)
ข. ยังกินข้าวตอนเย็นและเล่นกับลูกอยู่เลย เข้านอนแล้วตอนตี 3 ตื่นมาตัวเย็น ตายเสียแล้ว
ค. กินข้าวด้วยกันตอน 2 ทุ่ม จากนั้นดูโทรทัศน์ด้วยกันอย่างสนุกสนานและยังเชียร์การแข่งกีฬาที่ชื่นชอบกันแล้วก็เข้านอนราว 4-5 ทุ่ม
แต่แล้วตอนเช้ากลับไม่มาทำงานเมื่อมาหา ณ ที่พักก็พบว่าเสียชีวิต และในขณะที่มีการชันสูตรพลิกศพโดยเจ้าพนักงานนั้นญาติก็จะบอก (มีความประสงค์) ว่า “ขอให้แพทย์ลงความเห็นว่าตายจากโรคที่เป็นอยู่ (โรคร้ายที่ไม่อาจรักษาให้หายได้)” โดยระบุว่าผู้ป่วยป่วยด้วยโรคเหล่านี้อยู่แล้ว มีเอกสารยืนยัน เป็นโรคที่ทำการรักษาไม่ได้ รักษาไม่หายขาดแม้ว่าจะติดตามการรักษาจากสถานพยาบาลเป็นประจำอยู่แล้วก็ตาม
แต่เมื่อแพทย์ได้ทำการตรวจศพแล้วกลับพบว่าสาเหตุแห่งการตายยังไม่ชัดเจน อีกทั้งยังไม่สัมพันธ์กับการตายด้วย และอายุของผู้ตายเองก็ไม่มากนัก และพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงสภาพของผู้ตายก่อนตายในเวลาอันสั้นนั้นก็มิได้แสดงว่าผู้ตายจะเสียชีวิตในเวลาอย่างรวดเร็วด้วยอาการป่วยแต่ประการใดไม่ เช่น ไม่พบว่ามีเลือดออกอย่างเฉียบพลัน ณ ที่ที่พบศพ เป็นต้น ดังนั้น แม้ว่าผู้ตายจะมีโรคประจำตัว (ร้ายแรง) อยู่ก็ตามก็ไม่สามารถที่จะระบุได้ว่า “โรคประจำตัวที่มีอยู่นั้นเป็นสาเหตุแห่งการทำให้ตาย” การที่ญาติของผู้ตายไม่เชื่อแพทย์ที่ทำการชันสูตร ไม่ยินยอมให้มีการตรวจศพอย่างละเอียด โดยเห็นว่า “แพทย์ต้องการบิดพริ้วเพื่อเหตุผลประการหนึ่งประการใด” เพราะญาติของผู้ตายเห็นแล้วว่าสาเหตุแห่งการตายคือโรคประจำตัวนั่นเอง สิ่งที่กล่าวถึงนั้นจึงเป็นสิ่งที่ “อาจเกิดขึ้น” ได้กับแพทย์ในขณะที่ทำหน้าที่ “ชันสูตรพลิกศพ”
………………จากอุทาหรณ์ข้างต้นย่อมแสดงว่า การที่คนไข้แม้จะมีโรคร้าย (ในที่นี้คือมะเร็งของช่องจมูกใน “Nasopharynx”) ก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่าคนไข้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งร้ายนี้จะต้องเสียชีวิตจากโรคมะเร็งช่องจมูก ………………….ฯลฯ
การชันสูตรพลิกศพ
วัตถุประสงค์ของการชันสูตรพลิกศพ:
แพทย์ที่ทำการชันสูตรพลิกศพย่อมต้องการให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของการชันสูตรพลิกศพ ย่อมเป็นไปตาม 5 ประการของมาตรา 154 คือ1
“มาตรา ๑๕๔ ให้ผู้ชันสูตรพลิกศพทำความเห็นเป็นหนังสือแสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด ถ้าตายโดยคนทำร้าย ให้กล่าวว่าใครหรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำผิดเท่าที่จะทราบได้”
โดยทั่วไปวัตถุประสงค์ในการชันสูตรพลิกศพมีอยู่ 5 ประการคือ ต้องการทราบว่าผู้ตายเป็นใคร ตายมานานแล้วเท่าใด ตายที่ไหน สาเหตุที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย และพฤติการณ์ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย
แพทย์ต้องมีมาตรฐาน:
มาตรฐานของแพทย์ในที่นี้คือ “มาตรฐานแห่งวิชาชีพเวชกรรม” ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม2 และตามเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 25553 และเกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 25554 ของแพทย์ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมนั่นเอง หมายถึง แพทย์ต้องใช้ความรู้ในทางการแพทย์ (แผนปัจจุบัน) หรือที่เรียกว่า “Modern Western Medicine” เข้ามาเป็นองค์ความรู้เพื่อการวินิจฉัยโรค รวมถึงการให้เป็น “สาเหตุแห่งการตาย”
เมื่อมีการตายผิดธรรมชาติเกิดขึ้นและแพทย์เข้าเกี่ยวข้องในการชันสูตรพลิกศพเพื่อหาสาเหตุแห่งการตาย แพทย์ย่อมต้องหาสาเหตุที่แท้จริงแห่งการตายโดยอาศัย “ความรู้ทางการแพทย์ที่ได้ร่ำเรียนมานั่นเอง” ความรู้นี้จึงต้องสอดรับกับสิ่งที่ “ตรวจพบ” ด้วย
การให้สาเหตุแห่งการตาย:
แพทย์ย่อมไม่อาจให้สาเหตุแห่งการตายได้ เพียงเมื่อได้รับทราบจากประวัติว่า “ผู้ตายป่วยด้วยโรคหนึ่งโรคใดอยู่” โดยที่ไม่มีสภาพแห่งความรุนแรงของโรคปรากฏให้เห็นเลย
หมายความว่า
1. แม้ว่าผู้ตายจะป่วยจากโรคที่ร้ายแรงและไม่สามารถรักษาให้หายได้ในวิถีทางการแพทย์แผนปัจจุบัน (อาจเนื่องจากการพัฒนาการทางการแพทย์ยังไปไม่ถึงขั้นเพื่อการรักษาโรคดังกล่าว) ก็มิได้หมายความว่า ผู้ตายจะต้องตายจากโรคนั้น ๆ เสมอไป
2. สภาพที่ปรากฏ ณ ที่เกิดเหตุของผู้ตายย่อมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในประการที่จะทำให้แพทย์ลงความเห็นได้ว่า “ผู้ตายสมควรตายจากโรคนั้น ๆ หรือภาวะนั้น ๆ หรือไม่เพียงใด”
3. การที่ผู้ตายป่วยอยู่ แต่ผู้ตายยังคงมีสภาพแห่งร่างกายที่สมบูรณ์ ประเมินได้จาก
3.1 การที่ผู้ตายยังสามารถประกอบกรณียกิจ
3.2 ทำงานช่วยเหลือตนเอง
3.3 มีสภาพแห่งการงานและหน้าที่ที่ทำอยู่ได้เป็นอย่างดี
3.4 ยังเจริญต่ออาหารที่รับประทานและน้ำที่ดื่ม
3.5 ยังมีความสุขกับการที่หาสิ่งอำนวยความเพลิดเพลิน เช่น การดู TV หรือการเล่นกีฬา
3.6 ยังนอนหลับได้ตามปกติ
3.7 อื่น ๆ
เมื่อประมวลสภาพของผู้ตายทั้งหมดแล้ว หากไม่สอดคล้องกับประการที่จะเป็นสาเหตุแห่งการตายได้ แพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพจะต้องหาว่า “สาเหตุแห่งการตายที่แท้จริงคืออะไร” เสมอ และหากไม่สามารถหาได้จากที่ที่พบศพ ย่อมจำเป็นต้องนำศพเข้ามาเพื่อรับการตรวจต่อ ตามมาตรา 151 และ 1521
กรณีอุทาหรณ์ (รายงานผู้ตาย 1 ราย)
ผู้ตายเป็นชาย อายุ 45 ปี รูปร่างทั่วไปดูแล้วสมส่วน และสันทัด มิได้มีสภาพแห่งการป่วยเจ็บเรื้อรังให้เห็นแต่ประการใด แต่แล้วก็นอนตายโดยศพถูกพบตอนเช้าเนื่องจากไม่ลงมาทำงานตามหน้าที่ประจำ
ประวัติ:
ผู้ตายเป็นคนงานของบริษัทแห่งหนึ่ง (สภาพคล้ายกับโรงงานที่มีที่พักคนงานอยู่ในบริษัทที่มีสภาพเป็นตึก โดยชั้น 3 จัดให้เป็นที่อยู่ของผู้ตาย (มีเพื่อนของผู้ตายอยู่ที่ห้องข้างเคียงด้วย) และชั้นล่างเป็นบริษัทดำเนินการทางธุรกิจ) ผู้ตายมีหน้าที่เป็นผู้ส่งเอกสารโดยมีรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ซึ่งยังคงสามารถขับได้ดีในวันก่อนวันเสียชีวิต
ผู้ตายรับประทานอาหารเย็นกับเพื่อนร่วมงาน อีกทั้งยังได้ดูโทรทัศน์ด้วยกันกับเพื่อนอย่างครื้นเครง และได้ไปนอนในช่วงเวลาประมาณ 22.00 น. เศษ
ในช่วงเช้าหลัง 8.00 น. นายจ้างเห็นว่าผู้ตายไม่ลงมาทำงานตามปกติ จึงให้คนงานอีกคนหนึ่งขึ้นไปตามที่ห้องพัก พบว่าผู้ตายนอนตายตัวเย็นแข็ง เชื่อว่าตายมานานหลายชั่วโมงแล้ว จึงได้แจ้งนายจ้างให้รับทราบซึ่งได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) ณ ท้องที่ที่พบศพนั่นเองเพื่อให้มาทำการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย1
ประวัติเพิ่มเติม:
ผู้ตายมีโรคประจำตัวคือเป็น “มะเร็งของช่องจมูก (Nasopharynx)” (ภาพที่ 1) ทราบการวินิจฉัยมาราว 1 ปี และได้ติดตามการรักษากับแพทย์ที่โรงพยาบาล โดยผู้ตายเป็นผู้ติดตามการรักษาด้วยตนเอง ไม่มีใครรับทราบเรื่องของโรคอย่างชัดเจน นอกจากนี้ผู้ตายยังมีโรคเบาหวานเป็นโรคประจำตัวอีกด้วย
ผู้ตายไม่เสพสารเสพติดหรือสารกระตุ้นอื่นใด แต่ดื่มสุราบ้าง (ประวัติจากเพื่อนร่วมงานและนายจ้าง)
ผู้ตายมิได้ป่วยด้วยโรคจิตและไม่มีประวัติการฆ่าตัวตายมาก่อน
ไม่มีประวัติการตายอย่างเฉียบพลันในครอบครัวของผู้ตายแต่ประการใด
การชันสูตรพลิกศพ:
พนักงานสอบสวนผู้มีหน้าที่เมื่อได้รับแจ้งว่ามีการตายดังกล่าว จึงได้แจ้งต่อแพทย์ผู้มีหน้าที่เพื่อทำการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย ณ ที่ที่ศพอยู่ (มาตรา 150) โดยแพทย์ได้เข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนในการชันสูตรพลิกศพในเวลาต่อมา (ประมาณ 1 ชั่วโมงหลังจากที่ได้รับแจ้ง) มีสภาพเป็นบริษัท (โรงงาน) ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น
สภาพศพ ณ ที่ที่พบศพ: (ภาพที่ 2)
- ศพนอนตายในสภาพนอนหงาย ศีรษะและไหล่พาดออกนอกตัวผ้ารองนอน ทำให้เอนลงเล็กน้อย ไม่ได้หนุนหมอน ไม่พบว่ามีเครื่องไฟฟ้าหรือสายไฟฟ้าอยู่ใกล้กับร่างกาย
- ผู้ตายอายุประมาณ 40-45 ปี รูปร่างสมส่วน สันทัด ดูทั่วไปมีสภาพร่างกายแข็งแรง มิได้มีสภาพแห่งการป่วยเจ็บเรื้อรังแต่ประการใด
- ผู้ตายสวมเสื้อคล้ายเสื้อกล้ามสีดำ (แขนกุด) และสวมกางเกงในตัวเดียว สวมสร้อยคอหนึ่งเส้น
- คอและรอบคอไม่พบว่ามีรอยกด หรือรัด ผิดปกติ
- แขนและขาอยู่ในสภาพเหยียดแบะออกที่ข้อตะโพกสองข้าง
- ไม่พบแขนหรือขาหักงอผิดรูป
- ไม่พบสารหรือคราบ หรือเลือดออกที่ทวาร ทั้งปาก จมูก หู หรือทวารหนัก
- ไม่ได้กลิ่นผิดปกติจากสารอื่น ๆ รอบทวารต่าง ๆ
- ไม่พบบาดแผลที่แสดงถึงการได้รับความรุนแรงตามร่างกายและแขนขา
- ไม่พบจุดเลือดออกที่เยื่อบุตา ใบหน้า ลำตัว หรือแขนขา
- ปลายมือและเท้าไม่พบสภาพเขียวคล้ำ หรือบวม
- ไม่พบแผลเป็น ร่องรอยการผ่าตัดที่ผิดปกติตามแขน ขา และลำตัว
หมายเหตุ:
- พบว่ามีขวดน่าจะเป็นปัสสาวะของผู้ตายอยู่ในขวดน้ำอัดลมด้วย
- พบว่ามีบุหรี่อยู่ในขวดน้ำอัดลมอีกขวด
- พบว่ามีซองบุหรี่ แต่ไม่พบว่ามีบุหรี่หลงเหลืออยู่อีก
- ไม่พบว่ามียา หรือสารแปลกปลอมตามเนื้อตัวร่างกาย หรือในห้องที่ผู้ตายนอนตาย
สาเหตุแห่งการตาย:
ไม่สามารถระบุสาเหตุแห่งการตายได้ (แม้ว่าผู้ตายจะมีประวัติมะเร็งช่องจมูก)
พฤติการณ์ที่ตาย:
ไม่สามารถระบุได้ในขณะชันสูตรพลิกศพ
การดำเนินกระบวนการต่อเนื่อง:
จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำศพเพื่อรับการตรวจต่อ ณ สถานที่ที่สามารถตรวจศพต่อได้ (ของรัฐบาล) (ตามมาตรา 151 และ 152) (ภาพที่ 3)
ปัญหาที่เกิดขึ้น:
ณ ที่ที่พบศพนั้น มีพี่ชายของผู้ตายทำงานที่เดียวกัน (แต่มิได้อยู่กับผู้ตายที่ห้องพักเดียวกัน) ได้แจ้งต่อแพทย์และพนักงานสอบสวนผู้ทำหน้าที่ชันสูตรพลิกศพว่า “ผู้ตายป่วยด้วยโรคมะเร็งช่องจมูกทำการรักษาอย่างต่อเนื่องจากสถานพยาบาล” (เท่าที่ตนเองทราบ) น่าจะเป็นสาเหตุแห่งการตาย และไม่ต้องการให้นำศพมาเพื่อรับการตรวจต่อที่สถานพยาบาลของรัฐบาลตามกฎหมาย แต่แพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพได้แจ้งแก่ญาติของผู้ตายว่า การที่ผู้ตายมีประวัติมะเร็ง (ชนิดร้าย) อยู่ก็ตาม แต่จากสภาพแห่งศพที่พบและประวัติของผู้ตายก่อนการตายไม่เข้ากับการที่ผู้ตายจะตายจากโรคมะเร็งที่มีอยู่แต่ประการใด และน่าจะมีสาเหตุอย่างอื่น แพทย์ยังได้อธิบายต่ออีกว่า หากเชื่อว่าเป็นมะเร็งของช่องจมูกและเป็นสาเหตุที่ตายแล้ว โดยทั่วไปมักจะมีเลือดออก เขียวคล้ำ หรือมีอาการ เช่น การหายใจลำบากเพราะมะเร็งจะทำให้ลุกลามถึงเส้นเลือด ทำให้เลือดออกจากช่องจมูก และ/หรือเลือดออกภายในอย่างมาก หรือทำให้อุดกั้นทางเดินหายใจ แต่ในที่เกิดเหตุที่ผู้ตายนอนตายอยู่นั้นไม่ได้มีสิ่งตรวจพบที่ผิดปกติแต่อย่างใด
การตรวจศพที่นำเข้ารับการตรวจ
การตรวจศพดังกล่าวเป็นไปเพื่อหาสาเหตุแห่งการตายและนำไปสู่พฤติการณ์แห่งการตายต่อไป ได้ดำเนินการเมื่อเวลา 9.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
สภาพศพภายนอก:
- เช่นเดียวกับที่ปรากฏ ณ ที่ที่ศพอยู่ในขณะชันสูตรพลิกศพ
สภาพศพภายใน: (ภาพที่ 4)
- หนังศีรษะและใต้ชั้นหนังศีรษะปกติ
- กะโหลกศีรษะปกติ
- คอ รอบคอ และหลอดลมไม่มีสภาพที่อุดกั้นหรือตันแต่อย่างใด
- กระดูกซี่โครงและกระดูกสันหลังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- หน้าอก ซี่โครง และช่องอกอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- หลอดลม ตลอดไปจนถึงปอด ไม่พบสภาพแห่งการอุดกั้นแต่ประการใด (ภาพที่ 5)
- หลอดอาหารและกระเพาะอาหารอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่พบพยาธิสภาพถึงการอุดตันแต่อย่างใด
- ไม่พบเลือดออกในทางเดินอาหารหรือทางเดินหายใจ
- หัวใจมีขนาดและรูปร่างค่อนข้างปกติ
- หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจด้านหน้า (anterior branch of left coronary artery) ตีบประมาณร้อยละ 70-80 (ภาพที่ 6) และเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจด้านขวา (right coronary artery) ตีบประมาณร้อยละ 60
- ไม่พบสภาพแห่งกล้ามเนื้อหัวใจตายเก่าหรือเป็นเนื้อเยื่อพังผืด
- ตับ ม้าม ไต และอวัยวะต่าง ๆ ในช่องท้องอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- กระเพาะปัสสาวะ อวัยวะ และเนื้อเยื่อในอุ้งเชิงกรานอยู่ในเกณฑ์ปกติ
สาเหตุแห่งการตาย:
การขาดเลือดมาเลี้ยงที่หัวใจเนื่องจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ
พฤติการณ์ที่ตาย:
โรคธรรมชาติ
วิเคราะห์และวิจารณ์:
ผู้ตายรายนี้มีประเด็นหลายประการที่น่าสงสัยว่า “มิใช่สาเหตุจากการป่วยด้วยโรคร้ายแรงจะเป็นเหตุที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย” ดังนี้
ประการที่ 1: ผู้ตายรายนี้ตายอยู่ที่ห้องพักของตนในขณะที่นอนอยู่เพียงคนเดียว “ไม่มีผู้อื่นพบเห็นหรือรับทราบสภาพของผู้ตายในระยะที่ใกล้ตายเลย”
ประการที่ 2: ผู้ตายมีสภาพแห่งร่างกายที่ต้องถือว่า “ปกติ” อีกทั้งยังมีกิจกรรมเพลิดเพลินในวันก่อนที่จะตาย รวมถึงภาคดึกก่อนที่จะพบศพในเช้าวันรุ่งขึ้นนั้น “อยู่ในสภาพที่สดใส รื่นเริง เจริญต่ออาหารและสิ่งแวดล้อม มีการดูโทรทัศน์ภายหลังจากการกินอาหารได้เป็นอย่างดี”
ประการที่ 3: ผู้ตายมีประวัติการป่วยด้วยโรคมะเร็งช่องจมูก (CA Nasopharynx) ได้รับการวินิจฉัยจากสถานพยาบาลมาแล้วก็จริง (ภาพที่ 1) แต่เมื่อประมวลประวัติและการตรวจพบแล้วเห็นได้ว่า มะเร็งช่องจมูกที่ผู้ตายมีอยู่นั้น แม้จะเป็นจริงก็มิใช่สาเหตุแห่งการตายในครั้งนี้ แต่น่าจะมีสาเหตุอื่น เช่น
ก. โรคหัวใจหรืออาจมีหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบร่วมด้วย
ข. การที่มีเลือดออกในโพรงกะโหลกศีรษะ
ค. การได้รับยาหรือสารพิษที่อาจมีผลต่อร่างกาย
ประการที่ 4: ในห้องของผู้ตายยังพบบุหรี่และขวดที่น่าจะเชื่อว่าอาจเป็นปัสสาวะ ซึ่งทำให้อาจเชื่อว่า “ผู้ตายมีการใช้สารเสพติดหรือสารอื่นใดได้”
ดังนั้น เมื่อทำการชันสูตรพลิกศพในผู้ตายรายนี้ในระยะแรกแล้ว ย่อมไม่สามารถที่จะให้สาเหตุของผู้ตายรายนี้ได้ จึงจำเป็นต้องนำศพผู้ตายรายนี้มารับการตรวจต่อ (ผ่าศพตรวจ) ตามมาตรา 151 และ 152 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามลำดับ พนักงานสอบสวนจึงนำส่งมารับการตรวจต่อ (ภาพที่ 3)
หมายเหตุ:
1. แม้ว่าในที่สุดแล้วจะได้สาเหตุการตายจากการที่หัวใจขาดเลือดมาเลี้ยง ซึ่งถือว่าเป็นการตายตามธรรมชาติเช่นเดียวกันก็ตาม แต่จากอุทาหรณ์ข้างต้นย่อมแสดงว่า การที่คนไข้แม้จะมีโรคร้าย (ในที่นี้คือมะเร็งของช่องจมูก “Nasopharynx”) ก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่าคนไข้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งร้ายนี้จะต้องเสียชีวิตจากโรคมะเร็งช่องจมูก จึงเป็นอุทาหรณ์ได้ดีว่าสำหรับแพทย์ที่ไปทำการชันสูตรพลิกศพผู้ตายที่มีโรคประจำตัวอันเป็นโรคที่ร้ายแรงก็ตาม ต้องพิจารณาดูถึงประวัติและสภาพศพที่ตรวจพบอย่างละเอียดด้วย อีกทั้งต้องไม่เชื่อผู้ที่ให้ประวัติถึงการเจ็บป่วยจนมากเกินไปจนทำให้เข้าใจผิดว่า “เป็นโรคที่ทำให้ถึงแก่ความตาย”
2. ในกรณีนี้ยังถือว่าเป็นการดีที่เป็นการตายตามธรรมชาติเช่นเดียวกัน แต่หากเป็นการตายอันเกิดจากการผิดธรรมชาติ เช่น การที่ผู้ตายถูกวางยาเพื่อการฆ่าให้ตาย เป็นต้นแล้ว และแพทย์ที่ในขณะทำการชันสูตรพลิกศพ (จากประวัติ) ยังคงเชื่อว่าเป็นจากโรคร้ายแรงแล้ว อาจทำให้การชันสูตรพลิกศพผิดพลาดได้ และหากเป็นกรณีฆาตกรรมแล้วย่อมทำให้ไม่เกิดความยุติธรรมแก่ผู้ตายเป็นแน่แท้
สรุป
แพทย์ที่ต้องมีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพอาจต้องพบกับ “ศพที่ต้องชันสูตร” มีประวัติการป่วยด้วยโรคหลายโรค บางโรคเป็นโรคที่ร้ายแรงและน่าจะเป็นสาเหตุแห่งการตายได้ แต่แพทย์ต้องระลึกไว้เสมอว่า “การที่ผู้ตายมีโรคประจำตัวอยู่แม้ว่าจะเป็นโรคร้ายแรงก็ตาม แต่การที่มีโรคเหล่านั้นอยู่ก็มิได้หมายความว่าโรคเหล่านั้นจะเป็นเหตุแห่งการตายใน “การตายครั้งที่ไปทำการชันสูตรพลิกศพนั้นเสมอไปไม่” แพทย์ต้องให้ความสำคัญกับการตายโดยเฉพาะ “สาเหตุแห่งการตาย” ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์แห่งการชันสูตรพลิกศพ
เอกสารอ้างอิง
1. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. http://www.thailaws.com/law/thaiacts/code1307.pdf
2. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525. ราชกิจจานุเบกษา 2525;99:1-24.
3. ประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2555. โดยในการประชุมครั้งที่ 4/2555 วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555 ได้มีมติให้แก้ไขข้อความในประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เป็น “ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ (24 มกราคม พ.ศ. 2555)”
4. ประกาศแพทยสภาที่ 12/2555 เรื่อง เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555 (Medical Competency Assessment Criteria for National License 2012) ประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555