ภัยเงียบ…โรคลมชัก ตระหนักรู้ก่อนสาย
วิกฤติการณ์ของโรคลมชักในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยโรคลมชักเป็นหนึ่งในความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมองหรืออาจจะเกิดจากการลัดวงจร ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ผู้ป่วยจะมีอาการชักเกร็งกระตุกเหมือนถูกไฟฟ้าช็อต ชักแบบเป็น ๆ หาย ๆ อาจหมดสติหรือไม่หมดสติ และบางคนอาจมีพฤติกรรมนิ่ง เหม่อลอย วูบ หรือเหมือนความจำหายไปชั่วขณะ สามารถพบได้ทั้งในผู้ใหญ่และเด็กเล็ก ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีอาการชักอยู่เรื่อย ๆ อาจทำให้เซลล์สมองตายได้ มีผลต่อประสิทธิภาพความจำ หากปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่รักษา ผู้ป่วยอาจเกิดความผิดปกติจนไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้อีกเลย
พ.อ.(พิเศษ) ดร.นพ.โยธิน ชินวลัญช์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า โรคลมชักเป็นโรคทางสมองที่มีความสำคัญอันดับต้น ๆ และมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เกิดจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมอง ซึ่งมีการนำของกระแสไฟฟ้าที่ลัดวงจร ก่อให้เกิดอาการชักตามมา และอาจมีสาเหตุได้ตั้งแต่จากโรคทางกรรมพันธุ์ ภาวะติดเชื้อในสมอง สมองขาดออกซิเจน มีไข้สูงแล้วชัก มีอุบัติเหตุทำให้เกิดแผลเป็นในสมอง เซลล์ในสมองอยู่ผิดที่ ไปจนถึงเนื้องอกในสมอง และอีกหลายสาเหตุ ส่วนภาวะชักมีหลายประเภท เช่น อาการเหม่อลอย หรืออาการเกร็ง อาการกระตุก ทั้งเกร็งและกระตุก คอบิด แขนเหยียดไม่เท่ากัน หรือมีอาการชักทั่วทุกส่วน ซึ่งถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ อย่างถูกต้อง สามารถหายขาดได้ แต่ถ้าปล่อยให้มีอาการชักอยู่เรื่อย ๆ และได้รับการรักษาช้า สภาวะที่กระแสไฟฟ้าในสมองถูกกระตุ้นมากเกินไปจะไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารทำลายเซลล์สมอง เซลล์สมองจะตาย เน็ตเวิร์คภายในสมองจะเสีย ผู้ป่วยจะไม่สามารถกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมได้อีกเลย
โรคลมชักมีความหลากหลายทางอาการมาก อยู่ที่ว่าภาวะผิดปกติของไฟฟ้าในสมองไปผิดปกติในสมองส่วนใด และรุนแรงแค่ไหน บางอาการจึงสังเกตยากมาก ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรคลมชัก แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นในปัจจุบันทำให้สามารถตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคลมชักด้วยการตรวจหาจุดกำเนิดไฟฟ้าที่ทำให้เกิดการชักได้หลายวิธี เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG), การตรวจคลื่นสมองประกอบภาพวีดิทัศน์ (video EEG monitoring), การถ่ายภาพแม่เหล็กสมอง (MRI), การตรวจภาพกัมมันตรังสี, การตรวจ Interictal SPECT, การตรวจ Ictal SPECT, การตรวจ Interictal PET, การตรวจการทำงานของสมอง (Functional mapping), การตรวจเรื่องความจำและภาษา (Neuropsychological และ Wada test) เป็นต้น
พ.อ.(พิเศษ) ดร.นพ.โยธิน กล่าวถึงการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักว่า การใช้ยายังเป็นการรักษาหลัก เพื่อช่วยปรับกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติในสมองให้กลับมาเป็นปกติ โดยแพทย์จะเลือกชนิดและขนาดยาที่เหมาะสมกับอาการชักของผู้ป่วยแต่ละคน โดยผู้ป่วย 70% สามารถหายขาดจากโรคลมชักได้ด้วยยา ส่วนอีก 30% ที่เหลือซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคลมชักที่มีภาวะดื้อยา คือได้รับยากันชักอย่างเหมาะสมแล้ว 2 ตัว แล้วยังไม่สามารถคุมอาการชักได้ โดยที่อาจจะยังมีอาการชักอย่างต่อเนื่อง อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดสมอง ซึ่งในประเทศไทยมีการผ่าตัดสมองเพื่อรักษาโรคลมชักประมาณ 100 กว่าคนต่อปี ถือว่าเป็นจำนวนไม่มากถ้าเทียบกับผู้ป่วยที่มีอาการดื้อยาในขณะนี้ซึ่งมีหลายหมื่นคน
ทั้งนี้จากการประมาณการทั่วโลกพบผู้ป่วยโรคลมชักราว 50 ล้านคน โดย 2 ใน 3 อยู่ในทวีปเอเชีย สำหรับประเทศไทยพบ 1-1.5% หรือคิดเป็นจำนวนประชากรประมาณ 700,000-1,000,000 คน และเนื่องจากโรคลมชักเป็นโรคที่ทำให้การทำงานของสมองเกิดความผิดปกติไปชั่วขณะ รวมทั้งอาจเกิดอันตรายต่อสมอง ดังนั้น จึงต้องกระตุ้นให้ทุกคนเห็นความสำคัญและตระหนักถึงอันตรายของโรคลมชัก รู้จักตัวโรคให้ลึกซึ้ง เพื่อจะได้จัดการรักษาและป้องกันได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคลมชักได้อย่างมีความสุข
ในวันที่ 26 มีนาคมของทุกปี ซึ่งกำหนดให้เป็นวันโรคลมชักโลก (World Epilepsy Day) โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าได้ร่วมกับบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด จัดกิจกรรมถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับโรคลมชัก รวมถึงแนวทางการรักษาโรคที่มีการพัฒนาในต่างประเทศ ผ่านทางระบบ Web Cast ขึ้น พร้อม ๆ กับประเทศอื่นทั่วโลกกว่า 20 ประเทศ ที่ห้องแกลอรี่ โรงแรมเจดับบลิว แมริออท สุขุมวิท เพื่อเป็นการต่อยอดความรู้ให้แก่แพทย์ไทย รวมทั้งมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “วันโรคลมชักโลก” หนึ่งวันสำคัญที่ไม่อยากให้ลืม โดย พ.อ.(พิเศษ) ดร.นพ.โยธิน ชินวลัญช์ อีกด้วย
พ.อ.(พิเศษ) ดร.นพ.โยธิน กล่าวว่า การเสวนาในหัวข้อ “วันโรคลมชักโลก” หนึ่งวันสำคัญที่ไม่อยากให้ลืม เป็นการเสวนาให้ความรู้แก่ผู้ป่วยในหัวข้อต่าง ๆ เช่น วิธีการดูแลผู้ป่วยโรคลมชัก วิธีการรักษาใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ป่วยได้รับความรู้ความเข้าใจแล้ว ยังจะทำให้ผู้ป่วยมีความหวัง เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยโรคลมชักต้องอาศัยความอดทนค่อนข้างมาก เพราะผู้ป่วยจะมีความรู้สึกเครียด ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร หรือหาข้อมูลจากแหล่งใด ในระยะหลังจึงมีการรวมกลุ่มและแชร์ข้อมูลกันมากขึ้นผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คในเรื่องที่เป็นความรู้เกี่ยวกับวิธีการรักษาใหม่ ๆ ที่มีการใช้แล้วในต่างประเทศที่ถึงแม้ประเทศไทยจะยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมีความหวังและมีกำลังใจ โดยการรวมกลุ่มและแชร์ข้อมูลกันผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คนั้นถือเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน และเป็นประโยชน์อย่างมากในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลมชักให้ดีขึ้น
นอกจากการเสวนาให้ความรู้แก่ผู้ป่วยแล้ว ยังมีการต่อยอดความรู้ให้แก่แพทย์ไทย โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรจากต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส โดยบรรยายผ่าน Web Cast เกี่ยวกับการดูแลและการวินิจฉัยโรคลมชัก ไม่ว่าจะเป็น Errors in EEG and misdiagnosis of epilepsy ซึ่งในการวินิจฉัยโรคลมชักเป็นอะไรที่ยากลำบากพอสมควร จะต้องฝึกแพทย์ให้รู้ถึงการวินิจฉัยที่ถูกต้อง เพราะการวินิจฉัยที่ผิดพลาดจะเป็นผลเสียต่อผู้ป่วยได้ เพราะฉะนั้นการอ่านคลื่นสมองจึงต้องมีความถูกต้อง ซึ่งขณะนี้ได้เปิดการสอนและฝึกอบรมหลักสูตรโรคลมชัก รวมถึงหลักสูตรผู้เชี่ยวชาญโรคลมชักในประเทศไทย เพื่อกระจายความรู้ไปสู่แพทย์ทั่ว ๆ ไปให้มีความรู้เกี่ยวกับโรคลมชักที่ดีพอ ส่งผลให้การดูแลรักษามีคุณภาพมาตรฐานเท่าเทียมกัน Uncovering and Managing poor adherence ปัจจัยที่ทำให้การรักษาโรคลมชักไม่ประสบผลสำเร็จอาจจะเป็นด้วยการรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ หรือผู้ป่วยไม่ร่วมมือในการรักษา แล้วจะสามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร Rational Therapy in Epilepsy: How and when to combine treatments เกี่ยวกับการใช้ยากันชักในแบบที่เหมาะสม โดยปัจจุบันมีการพูดถึงการใช้ยากันชักแบบผสมผสาน เนื่องจากมีความรู้ถึงกลไกของยากันชักละเอียดมากขึ้น ต่างจากอดีตที่เมื่อมาโรงพยาบาล ผู้ป่วยคนนี้ได้รับยา A ผู้ป่วยคนนี้ได้รับยา B โดยที่ไม่รู้เลยว่าผู้ป่วยคนนี้อาจจะไม่เหมาะกับทั้งยา A และยา B หรืออาจจะเหมาะกับยา B แต่ได้รับยา A ไป ซึ่งไม่ใช่ความผิดของแพทย์ แต่เป็นเพราะแพทย์ยังไม่มีความรู้ เนื่องจากวิทยาการยังมาไม่ถึง เทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็ยังไม่ได้ลงลึก อีกทั้งยากันชักก็ยังมีประสิทธิภาพไม่ได้ดีพอเมื่อเทียบกับปัจจุบันที่ยากันชักมีร่วม 20 ตัว เพราะฉะนั้นจึงมีการใช้ยาแบบผสมผสานมากขึ้น แต่การจะใช้ยาแบบผสมผสานได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องรู้กลไกของยาอย่างละเอียด ซึ่งแพทย์ไทยจะได้รับความรู้ที่ลงลึกมากขึ้นและเป็นประโยชน์อย่างมากในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลมชักภายในงานนี้
พ.อ.(พิเศษ) ดร.นพ.โยธิน กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลมชักคือ จะต้องมีความรู้ ความตั้งใจ และความต่อเนื่อง เพราะการรักษาผู้ป่วยให้ออกมาได้ผลดี ถ้ามีความรู้แต่ไม่ต่อเนื่อง ไม่ติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ไม่ให้ความรู้ผู้ป่วยเลย การรักษาโรคลมชักก็จะล้มเหลว และที่สำคัญคือ การฟังผู้ป่วย การได้ข้อมูลอย่างละเอียดทุกอย่างจากผู้ป่วยเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โรคลมชักมีรายละเอียดมาก ไม่ใช่แค่มีอาการชักครั้งเดียวแล้วจบ แต่การชักครั้งเดียว บางครั้งอาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้า ไม่สามารถไปทำงานได้ หรือเกิดผลกระทบอย่างอื่นตามมาได้
“หน้าที่แพทย์นอกจากจะเป็น Health Provider แล้ว ยังต้องเป็นนักสังคมที่ดี เป็นจิตแพทย์ คอยให้กำลังใจ ให้คำปรึกษาผู้ป่วยว่าจะจัดการเรื่องการดำเนินชีวิตอย่างไร เพราะโรคลมชักมีผลกระทบหลายระบบ ทั้งสังคม อารมณ์ พฤติกรรม รวมทั้งการทำงาน ซึ่งแพทย์จะต้องรู้หลากหลาย พยายามฟัง และแนะนำ ไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหาให้ผู้ป่วยทั้งหมด แต่ว่าการเป็นผู้ฟังที่ดี ผู้แนะนำที่ดีจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ป่วย เพราะจะทำให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จสูง มองภาพง่าย ๆ คือรักษาไปแล้ว ผู้ป่วยไม่ชักเลย สามารถกลับไปใช้ชีวิตเหมือนคนปกติในสังคมได้ และพัฒนาสังคมได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ โดยพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลเรื่องการใช้ยา 70% ดีขึ้น ไม่ชักเลย และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ” พ.อ.(พิเศษ) ดร.นพ.โยธิน กล่าวทิ้งท้าย