NCDs วิกฤติโรค วิกฤติโลก ภัยลุกลามที่เราสร้างเอง

NCDs วิกฤติโรค วิกฤติโลก ภัยลุกลามที่เราสร้างเอง

โรคไม่ติดต่อ (Non-Communicable Diseases) หรือ NCDs เป็นปัญหาที่กำลังลุกลามและสร้างความกังวลให้แก่ประชากรของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บทสรุปจากงานสัมมนา ASEAN Healthcare Consultation 2012 ของในแต่ละประเทศเห็นพ้องต้องกันว่าโรคไม่ติดต่อเป็นโรคที่ไม่ควรละเลย

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อราว 71% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในประเทศ จนทำให้โรคไม่ติดต่อมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “โรคแห่งศตวรรษที่ 21” โดยโรคไม่ติดต่อที่พบมากใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ 1. กลุ่มโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด (รวมถึงโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง) 2. กลุ่มโรคเบาหวาน 3. กลุ่มโรคมะเร็ง และ 4. กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง (รวมถึงโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหอบหืด)

จากการประชุมวิชาการประจำปีของศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ประจำปี พ.ศ. 2558 เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558 ได้มีการหยิบยกหัวข้อเรื่อง “กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โรคที่เราสร้างเอง” ซึ่งเป็นปัญหาที่กำลังลุกลามและสร้างความกังวลให้แก่ประชากรของประเทศ มาร่วมเสวนาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมีคณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย ผู้สนใจเข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน

.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมว่า จากการดำเนินชีวิตในปัจจุบันนำมาซึ่งการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคถุงลมโป่งพอง โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง โรคอ้วนลงพุง โรคหลอดเลือดอุดตัน การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพื่อสร้างความเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรค พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดความตระหนักในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การเลือกรับประทานอาหาร รู้จักผ่อนคลายความเครียด และออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง การประชุมวิชาการประจำปีของศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกในครั้งนี้จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ให้บุคลากรทั้งในและนอกหน่วยงานได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยได้รับความสนใจจากคณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย บุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดล และจากสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน ซึ่งจะก่อให้เกิดแรงผลักดันในการทำงานด้าน NCDs ต่อไป

ภายในงานมีการปาฐกถาเกียรติยศ ศ.คลินิก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เรื่อง “คนไทยพ้นภัยจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)” โดย .เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า NCDs ในประเทศไทยคือกลุ่มโรคไม่ติดต่อ เป็นโรคกลุ่มใหญ่ มีรวมกันเกินกว่า 20 ชนิด ในปัจจุบัน NCDs เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทย มากกว่าโรคติดต่อหรือโรคติดเชื้อและอุบัติเหตุรวมกัน NCDs ที่พบบ่อยเป็นอันดับต้น ๆ และทำให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด (โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายและอัมพาต) โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เมื่อเป็นโรคเหล่านี้ทำให้สมรรถภาพการทำงานลดลง คุณภาพชีวิตด้อยลง มีภาระและค่าใช้จ่ายสูงในการดูแลรักษา มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัว รวมทั้งของประเทศ

ทั้งนี้ NCDs เป็นกลุ่มโรคที่สามารถป้องกันได้ โดยเกิดจาก 3 องค์ประกอบคือ 1. ความเสื่อม เป็นสิ่งที่เกิดตามธรรมชาติเมื่อคนเราอายุมากขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงตามวัย ความเสื่อมเกิดกับทุกส่วนของร่างกายและอวัยวะทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง กระดูก หลอดเลือด สมอง ตา หู หัวใจ ตับ ไต โดยทั่วไปความเสื่อมไม่ใช่โรคหรือไม่เป็นโรค แต่ความเสื่อมที่มากเกินหรือเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจะแสดงออกเป็นโรค การดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่ถูกต้อง หรือปัจจัยแวดล้อมสามารถเร่งความเสื่อมได้ 2. พันธุกรรม เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดมาจากบิดามารดา เรียกว่าสืบสายเลือด หรือเกิดจากการดัดแปลงของสายพันธุกรรมในบุคคลใดบุคคลหนึ่งภายหลัง โดยทั่วไปทั้งพันธุกรรมและความเสื่อมไม่สามารถแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนได้ และ 3. สิ่งแวดล้อม หมายถึงสิ่งรอบ ๆ ตัวเราที่แต่ละคนสัมผัสหรือใช้ชีวิตอยู่ในแต่ละวัน นั่นคือการใช้ชีวิตประจำวันของคนเรานั่นเอง หลัก ๆ แล้วประกอบด้วย พฤติกรรมการกินอยู่ อารมณ์ มลพิษ และสารเคมีต่าง ๆ ซึ่งมีผลเร่งหรือชะลอความเสื่อมได้

“NCDs เป็นโรคจากพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ไม่ถูกต้อง อาจเป็นปัจจัยหลักเพียงอย่างเดียวที่ก่อโรค หรือร่วมกับอายุที่มากขึ้นหรือพันธุกรรม การปรับเปลี่ยนปัจจัยแวดล้อมจึงสามารถป้องกันหรือชะลอการเกิด NCDs ได้ โดยปรับพฤติกรรมการบริโภคที่ดีและถูกต้อง ไม่เกิดผลเสียต่อสุขภาพ มีกิจกรรมออกแรงอย่างเหมาะสมทุกวัน ไม่ใช้ยาสูบ ไม่ดื่มสุรา ไม่เครียด และมีจิตใจแจ่มใส วิถีดำรงชีวิตที่ถูกต้องควรเริ่มตั้งแต่ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดา ต่อเนื่องไปถึงวัยเด็ก วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน และวัยสูงอายุ จึงจะทำให้การป้องกันโรคไม่ติดต่อมีประสิทธิภาพสูงสุด” .เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าว

.เกียรติคุณ พญ.วรรณี เน้นย้ำว่า ขณะนี้ NCDs เป็นปัญหาและภาระหนักของทุกประเทศทั่วโลกที่องค์การสหประชาชาติมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดนโยบายการป้องกันและลดปัญหา NCDs ในแต่ละประเทศอย่างจริงจัง องค์การอนามัยโลกเป็นผู้รวบรวมข้อมูลและเผยแพร่ จัดให้มีการประชุมหารือจนได้ข้อสรุปเป็นประเด็นสำคัญเพื่อการดำเนินงานคือ 4 ปัจจัยเสี่ยง 4 การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา 4 โรคเรื้อรัง หรือเรียกย่อ ๆ ว่ากรอบงาน 4 x 4 x 4 มีรายละเอียดดังในตาราง

 

ปัจจัยเสี่ยง

การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา

โรคเรื้อรัง

การบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง

ระบบความดันโลหิตสูงขึ้น

โรคหัวใจและหลอดเลือด

การมีกิจกรรมออกแรงน้อย

ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ

โรคเบาหวาน

การสูบบุหรี่ (บริโภคยาสูบ)

ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ

โรคมะเร็ง

การดื่มสุราขนาดที่มีผลเสียต่อสุขภาพ

น้ำหนักตัวมากเกินหรืออ้วน

โรคทางเดินหายใจอุดกั้น

 

รศ.นพ.สรนิต ศีลธรรม รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวเสริมว่า การแก้ปัญหา NCDs ควรมีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยแต่ละบทบาทหน้าที่จะต้องร่วมมือกัน ตั้งแต่ระดับผู้บริหารซึ่งมีหน้าที่ในการวางแนวทางและออกนโยบายแก้ปัญหาอย่างชัดเจน ขณะที่แพทย์ต้องมีการปรับแนวทางการรักษา โดยไม่พยายามเน้นที่การจ่ายยารักษาซึ่งเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ แต่เน้นที่การป้องกัน โดยสอนในเรื่องของการปฏิบัติตัว ในส่วนของบุคลากรสาธารณสุขก็ต้องสามารถที่จะดูแลตนเองและเป็นที่พึ่งของผู้ป่วยที่มาปรึกษาได้ และท้ายที่สุดคือ ผู้ป่วยและญาติ รวมถึงประชาชนทั่วไป ต้องมีความรู้ ปฏิบัติตนและดูแลสุขภาพของตนเองได้เช่นกัน

นพ.บุญเรือง ชูชัยแสงรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ใช้วิธีการพิชิตโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วยแพทย์วิถีธรรม มุ่งการดูแลสุขภาพแนวเศรษฐกิจพอเพียงตามหลักแพทย์วิถีพุทธ ซึ่งได้แนวคิดจาก “นพ.วัชระ ก้อนแก้ว” ที่ได้ประยุกต์แนวคิดของ “ใจเพชร แก้จน” หรือ “หมอเขียว” ซึ่งเป็นผู้บูรณาการองค์ความรู้หลักแพทย์วิถีธรรมตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เนื่องจากวิเคราะห์ความเสี่ยงและสถานการณ์ในปัจจุบันพบว่า ปริมาณผู้ป่วย ชนิดของความเจ็บป่วย และความรุนแรงของการเจ็บป่วยโดยรวมเพิ่มมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาความเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้น และยิ่งนับวันประชาชนก็ยิ่งมีศักยภาพที่น้อยลงในการดูแลแก้ไขปัญหาสุขภาพด้วยตนเอง (พึ่งตนเองไม่ได้หรือพึ่งตนเองได้น้อย) แสดงให้เห็นว่าการแพทย์ในขณะนี้มาผิดทาง

สำหรับหลักแพทย์วิถีธรรมตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เป็นการดูแลสุขภาพแบบพึ่งตนเองที่นำเอาจุดดีของวิทยาศาสตร์สุขภาพแผนปัจจุบัน แผนไทย แผนทางเลือก และแผนพื้นบ้าน รวมถึงหลัก 8อ. ได้แก่ 1. อิทธิบาท 4 2. อารมณ์ 3. อาหาร 4. ออกกำลังกาย 5. อากาศ 6. เอนกาย 7. เอาพิษออก และ 8. อาชีวะ เพื่อสุขภาพที่ดีของสถาบันบุญนิยม มาบริหารจัดการองค์ความรู้ ประยุกต์ ผสมผสาน บูรณาการด้วยพุทธธรรม และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้เหมาะสมและสามารถแก้ไขหรือลดปัญหาสุขภาพที่ต้นเหตุ ณ สภาพสังคม สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน นำไปสู่การปฏิบัติที่ประหยัด ปลอดภัย เรียบง่าย และได้ผลเร็ว แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ พึ่งตนเองได้ ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นหลัก และมีความยั่งยืน

นอกจากนี้ยังได้จัดค่ายสุขภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้กลไก การเกิด และการหายของโรคต่าง ๆ โรคเหล่านี้ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด บรรเทาหรือหายได้ด้วยการปรับสมดุลของร่างกายและจิตใจ เรียนรู้วิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันโรค ควบคุมโรค ส่งเสริม และฟื้นฟูสุขภาพด้วยเทคนิค 9 ข้อ สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคหรืออาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น มะเร็ง เนื้องอก เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง โรคหัวใจ หอบหืด ไตเสื่อม ภูมิแพ้ ปวดตามข้อ ปวดเมื่อย บวม แดง ร้อนตามร่างกาย และผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานน้อย เป็นต้น เรียนรู้เทคนิคการรับประทานอาหารตามลำดับการย่อยง่าย คุ้มครองเซลล์ รู้จักอาหารปรับสมดุล รู้จักผัก ผลไม้ สมุนไพร และกลุ่มอาหารฤทธิ์ร้อน-ฤทธิ์เย็น เรียนรู้การทำน้ำสมุนไพร และการปรุงอาหารเพื่อปรับสมดุลร้อน-เย็น เรียนรู้กายบริหาร โยคะ กดจุดลมปราณตามอวัยวะต่าง ๆ เพื่อช่วยส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ เรียนรู้การระบายพิษออกจากร่างกายด้วยวิธีต่าง ๆ ตามหลักแพทย์วิถีธรรม เรียนรู้วิธีดับโลก (โรค) ร้อนด้วยวิถีแห่งพรหม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเป็นหมอดูแลและบำบัดสุขภาพตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งยา หรือลดการใช้ยา

“การมีสุขภาพที่ดีคือการทำให้ได้ตามที่รู้ ไม่ใช่แค่รู้แล้วจะมีสุขภาพที่ดีได้ ซึ่งการสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดีเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ต้องฝึกฝนทำอย่างต่อเนื่องจนเป็นปกติสุขของวิถีชีวิต นั่นคือความสำเร็จของการดูแลสุขภาพอย่างแท้จริง ดังนั้น การจะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องมีการปฏิรูประบบสุขภาพ หมอที่เก่งที่สุดก็คือตัวเรา และเครื่องมือที่แท้จริงในการบำบัดรักษาโรคคือร่างกายของเราเอง” นพ.บุญเรือง กล่าว

ด้าน นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขต่อ NCDs โดยภาพรวมไม่ใช่การมองแค่เรื่องโรค ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นทุกปีจากโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ทำให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศมีคนไข้นอกและคนไข้ในล้นโรงพยาบาล แต่ยังต้องมองถึงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค การบริโภคและการออกกำลังกายคือสิ่งสำคัญ หากจัดสมดุลการบริโภคกับการใช้พลังงานอย่างเหมาะสม เผาผลาญพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพจะสามารถป้องกันความเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้

“ขณะนี้ครึ่งหนึ่งของประชากรมีอายุที่ต่ำกว่า 38 ปี แต่มีการคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2565 จะขยับขึ้นมาเป็นอายุ 45 ปี ซึ่งโรคส่วนใหญ่ที่ถามหาเป็น NCDs ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ที่น่าสนใจคือ ประชากรที่มีอายุเกิน 45 ปีเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ คือกว่า 30 ล้านคนที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นอกจากนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติยังได้ระบุว่า หลังจากเปิด AEC จะมีการอพยพประชากรเข้ามาในเมืองมากขึ้น คนเหล่านี้ต้องเผชิญทั้งภาวะเครียดจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจ เมื่อเกิดภาวะเครียดหรือเจ็บป่วยก็ต้องมาโรงพยาบาล ดังนั้น เราต้องมีระบบบริการปฐมภูมิที่มีประสิทธิภาพ เพราะ NCDs ส่วนใหญ่เกิดจากการดูแลตนเอง ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเหล้า บุหรี่ อาหาร ถูกตัดสินโดยพฤติกรรมบุคคลทั้งสิ้น”

นพ.สุริยะ บอกอีกว่า ในบทบาทของการวางนโยบายต้องบริหารทั้ง 2 ขา คือการดูแลตัวเอง และการใช้ยาควบคู่กันไป เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องใช้ระยะเวลารักษายาวนาน ถ้าระบบสาธารณสุขไม่สมดุลระหว่าง 2 ขานี้ ทุกคนมุ่งไปที่การรักษาด้วยยา ไปที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยก็จะเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่มีทางสิ้นสุด เป็นเส้นขนานที่ไม่มีวันบรรจบ คำตอบใหญ่ของการแก้ปัญหา NCDs คือ 1. ต้องมีระบบของการดูแลตนเองที่ดี และ 2. ระบบบริการปฐมภูมิจะต้องมีประสิทธิภาพ

“ในปัจจุบันยังขาดโมเดลของระบบบริการปฐมภูมิที่ดี คิดง่าย ๆ ระบบบริการปฐมภูมิคือ ระบบที่ไม่ใช่ให้คนมาใช้บริการ แต่ต้องรู้จักที่จะส่งเสริม รู้จักที่จะใช้ชีวิตและดำเนินชีวิตของตนเองอย่างไร ระบบบริการปฐมภูมิไม่ใช่ระบบพื้นฐานที่ใช้ยา เป็นการดำเนินงานโดยทีมหมอครอบครัวที่ทางกระทรวงสาธารณสุขมุ่งเน้นในการส่งเสริมให้ดูแลสุขภาพตนเอง พยาบาลก็เช่นกันต้องเป็นพยาบาลครอบครัว ส่งเสริมการสื่อสาร ให้ความรู้ ปรับพฤติกรรมการดูแลผู้ป่วย โดยไม่มุ่งความสำคัญไปที่การใช้ยา การไปโรงพยาบาล หรือพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่ย้อนกลับไปสู่การดูแลตนเองให้มีสุขภาพที่ดีมากกว่า” นพ.สุริยะ กล่าวทิ้งท้าย