เอกซเรย์จากปวดหลัง และผลลัพธ์ทางคลินิกในผู้ใหญ่อายุมาก
JAMA. 2015;313(11):1143-1153.
บทความเรื่อง Association of Early Imaging for Back Pain with Clinical Outcomes in Older Adults รายงานว่า แนวปฏิบัติหลายฉบับยอมรับให้ผู้ใหญ่อายุมากที่มีอาการปวดหลังสามารถเข้ารับการตรวจด้วยการเอกซเรย์โดยไม่ต้องรอ 4-6 สัปดาห์
การศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบการทำงานและอาการปวดจากการติดตามที่ 12 เดือนในผู้ใหญ่อายุมากซึ่งได้เอกซเรย์และผู้ที่ไม่ได้ตรวจหลังจากมาพบแพทย์เนื่องจากปวดหลังโดยไม่มี radiculopathy โดยศึกษาในผู้ป่วยอายุ 65 ปี หรือมากกว่าจำนวน 5,239 คน ซึ่งมาพบแพทย์เนื่องจากอาการปวดหลัง (ค.ศ. 2011-2013) การจับคู่ใช้วิธีจับคู่คะแนนความโน้มเอียงของลักษณะทางประชากรและคลินิก รวมถึงการวินิจฉัยความรุนแรงของอาการปวด ระยะอาการปวด ภาวการณ์ทำงาน และประวัติการใช้บริการ ผู้ป่วยได้เอกซเรย์ (plain films, computed tomography [CT], magnetic resonance imaging [MRI]) บริเวณ lumbar spine หรือ thoracic spine ภายใน 6 สัปดาห์นับจาก index visit
ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ การเคลื่อนไหวไม่ได้เนื่องจากอาการปวดหลังหรือขาประเมินจาก Roland-Morris Disability Questionnaire ที่ปรับปรุงแล้ว (score range 0-24; higher scores indicate greater disability) ที่ 12 เดือนหลังเข้าร่วมการรักษา
จากผู้ป่วย 5,239 คน พบว่า 1,174 คนได้ตรวจด้วยการถ่ายภาพรังสีโดยเร็ว และ 349 คนได้ตรวจด้วย MRI/CT โดยเร็ว ที่ 12 เดือนไม่พบว่ากลุ่มที่ได้ตรวจด้วยการถ่ายภาพรังสีโดยเร็วและ MRI/CT โดยเร็วมีผลแบบสอบถามที่ต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ ค่าเฉลี่ยคะแนนสำหรับผู้ป่วยที่ตรวจด้วยการถ่ายภาพรังสีโดยเร็วเท่ากับ 8.54 vs 8.74 ในกลุ่มควบคุม (difference -0.10 [95% CI -0.71 to 0.50]; mixed model, p = 0.36) คะแนนเฉลี่ยสำหรับกลุ่มที่ตรวจ MRI/CT โดยเร็วเท่ากับ 9.81 vs 10.50 กลุ่มควบคุม (difference -0.51 [-1.62 to 0.60]; mixed model, p = 0.18)
การเอกซเรย์โดยเร็วในผู้ใหญ่อายุมากที่มาพบแพทย์ปฐมภูมิเนื่องจากอาการปวดหลังไม่สัมพันธ์กับผลลัพธ์ที่ดีขึ้นที่ 1 ปี ประโยชน์ของการถ่ายภาพในผู้ใหญ่อายุมากสำหรับอาการปวดหลังที่ไม่มี radiculopathy จึงยังไม่ชัดเจน