ทุนวิจัยด้านสุขภาพ “เซเรบอส อวอร์ด 2015” สนับสนุนนักวิจัยไทย ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีถ้วนหน้า
บริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ มูลนิธิเซเรบอสเพื่อการวิจัยสุขภาพของคนไทย เปิดโครงการ “ทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด” ประจำปี ค.ศ. 2015 ทุนวิจัยด้านโภชนศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสุขภาพของคนไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 สนับสนุนนักวิจัยไทยแสดงศักยภาพในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยถ้วนหน้าให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
โครงการ “ทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด” เป็นโครงการมอบทุนวิจัยด้านสุขภาพแก่นักวิจัยที่ร่วมส่งผลงานเพื่อขอรับทุนที่เกี่ยวข้องกับด้านโภชนศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางวิชาการของไทย ส่งเสริมด้านโภชนาการและสุขภาพให้แก่คนไทย ซึ่งได้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 15 ได้มอบทุนวิจัยเป็นจำนวนเงินปีละ 500,000 บาท โดยไม่มีข้อผูกพันใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งที่ผ่านมามีนักวิจัยได้รับทุนจากโครงการไปแล้ว 44 ผลงาน
ศ.นพ.จอมจักร จันทรสกุล ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิเซเรบอสเพื่อการวิจัยสุขภาพของคนไทย และประธานคณะกรรมการพิจารณาทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด เปิดเผยว่า โครงการทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด (Cerebos Awards) ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้นักวิจัยไทย ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ เภสัชกร นักโภชนาการ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ และนักวิชาการทั่วไป ได้ร่วมส่งผลงานวิจัยเพื่อขอรับทุนทางด้านการแพทย์ โภชนศาสตร์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ตลอดจนสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร สมุนไพร และยา รวมทั้งพฤติกรรมการบริโภคที่มีผลต่อโภชนบำบัดและการส่งเสริมสุขภาพ อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม อีกทั้งเพื่อเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางวิชาการของประเทศไทยไปสู่การยอมรับในระดับโลก ซึ่งงานวิจัยที่ถูกคัดเลือกให้ได้รับทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด จะผ่านการพิจารณาตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาทุนฯ ประกอบด้วยนักวิชาการอิสระ เช่น แพทย์ เภสัชกร นักโภชนาการ นักวิชาการ และนักวิทยาศาสตร์ โดยมีแนวทางในการพิจารณาประกอบด้วย 1. การนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป 2. ความคิดริเริ่ม 3. โอกาสที่จะทำงานวิจัยให้สำเร็จ และ 4. ความสำคัญทางวิชาการ วิธีการวิจัย และการดำเนินงาน โดยโครงการทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด จะมอบทุนวิจัยประเภทวงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี ซึ่งสามารถแบ่งให้โครงการวิจัยได้ไม่เกิน 5 โครงการต่อปี
นายตุลย์ วงศ์ศุภสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากข้อมูลพบว่าหากเทียบการลงทุนในการทำวิจัยและพัฒนาโดยคิดเป็นร้อยละจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะพบว่า สิงคโปร์ลงทุนมากถึง 2.2% ส่วนประเทศไทยลงทุนเพียง 0.25% เท่านั้น ซึ่งการวิจัยเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้และเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของประเทศนั้น ๆ และด้วยบริษัท เซเรบอส เรียกได้ว่าเป็นบริษัทแรก ๆ ของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยทั้งทางวิทยาศาสตร์และทางคลินิกอย่างต่อเนื่อง เพราะตระหนักว่าสุขภาพที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนา และความก้าวหน้าต่าง ๆ ได้ อีกทั้งเล็งเห็นถึงความสามารถและศักยภาพของนักวิจัยไทยว่าไม่เป็นรองใคร เพียงแต่ขาดโอกาสและปัจจัยในการทำการวิจัยให้สำเร็จลุล่วง ดังนั้น บริษัทจึงจัดโครงการต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้เกิดสุขภาพที่ดีกับคนไทยในวงกว้างมากมาย อย่างเช่น โครงการทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด นี้ก็ได้ร่วมกับมูลนิธิเซเรบอสเพื่อการวิจัยสุขภาพของคนไทย ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 จวบจนบัดนี้นับเป็นปีที่ 15 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางวิชาการของนักวิจัยไทยไปสู่การยอมรับในระดับโลก และเพื่อการส่งเสริมให้เกิดสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีแก่คนไทยถ้วนหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
ที่ผ่านมาทางโครงการได้ให้ทุนวิจัยไปแล้วถึง 44 ทุนวิจัย โดยมีงานวิจัยที่วิจัยสำเร็จและได้รับตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ชื่อดังทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว 23 ผลงานวิจัย ซึ่งเซเรบอสรู้สึกภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้เกิดการค้นคว้าและพัฒนาด้านวิชาการในประเทศไทยต่อไป อาทิ งานวิจัยเรื่อง “คุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระของสมุนไพร ธัญพืช และผลไม้ไทย” โดย ผศ.ดร.ศรีวัฒนา ทรงจิตสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี งานวิจัยเรื่อง “การเพิ่มโฟเลทและวิตามินบี 12 ในไข่เพื่อสุขภาพของผู้บริโภค” โดย ผศ.ดร.ชัยภูมิ บัญชาศักดิ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ งานวิจัยเรื่อง “เภสัชจลนศาสตร์และฤทธิ์ของสาร capsaicin ต่อน้ำตาลในเลือดในอาสาสมัครสุขภาพดี” โดย รศ.สุพีชา วิทยเลิศปัญญา ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานวิจัยเรื่อง “การศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของข้าวกล้องมันปูและข้าวนิล เพื่อการป้องกันโรคเบาหวานและโรคอัลไซเมอร์” โดย ศ.เกียรติคุณ ดร.ไมตรี สุทธจิตต์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร งานวิจัยเรื่อง “ผิวหนังเทียมเส้นใยนาโนจากว่านหางจระเข้: ทางเลือกสำหรับการรักษาแผลไฟไหม้” โดย ดร.กอบศักดิ์ กาญจนาพงศ์กุล ภาควิชาวิศวกรรมการอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม และงานวิจัยเรื่อง “ผลป้องกันของขมิ้นชันต่อการเพิ่มจำนวนเซลล์และลดอัตราการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารที่ถูกเหนี่ยวนำโดยเกลือเข้มข้น ร่วมกับเอ็นเมทิลเอ็นไนโตรโซยูเรียในหนูแรท” โดย ศ.พญ.ดวงพร วีระวัฒกานนท์ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
ศ.พญ.ดวงพร วีระวัฒกานนท์ หนึ่งในนักวิจัยผู้ได้ทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด ได้กล่าวถึงรายละเอียดของงานวิจัยเรื่อง “ผลป้องกันของขมิ้นชันต่อการเพิ่มจำนวนเซลล์และลดอัตราการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารที่ถูกเหนี่ยวนำโดยเกลือเข้มข้น ร่วมกับเอ็นเมทิลเอ็นไนโตรโซยูเรียในหนูแรท” ให้ฟังว่า
มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นปัญหาทางสุขภาพที่สำคัญทั่วโลก เคอร์คูมินซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ของขมิ้นชันมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งการเกิดมะเร็ง ซึ่งการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของเคอร์คูมินในการลดอัตราการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารและระดับโปรตีนที่สำคัญในการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารที่ถูกเหนี่ยวนำโดยเกลือเข้มข้นร่วมกับเอ็นเมทิลเอ็นไนโตรโซยูเรียในหนูแรท ทำการวิจัยโดยนำหนูแรทสายพันธุ์วิสทาร์เพศผู้ถูกแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มคือ 1. กลุ่มควบคุม 2. กลุ่มควบคุมที่ได้รับเคอร์คูมิน 3. กลุ่มที่ได้รับการเหนี่ยวนำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร 4. กลุ่มที่ได้รับการเหนี่ยวนำและได้รับการป้อนเคอร์คูมินขนาด 200 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกวันในช่วง 3 สัปดาห์แรกที่มีการเหนี่ยวนำ และ 5. กลุ่มที่ได้รับการเหนี่ยวนำและได้รับเคอร์คูมินทุกวันเป็นเวลา 20 สัปดาห์ หนูในกลุ่มที่ได้รับการเหนี่ยวนำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหารทุกกลุ่มจะได้รับการป้อนเอ็นเมทิลเอ็นไนโตรโซยูเรียขนาด 100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในวันเริ่มต้นและวันที่ 14 ของการทดลอง และได้รับการป้อนเกลือเข้มข้นสัปดาห์ละ 2 ครั้งในช่วงเวลา 3 สัปดาห์แรก เมื่อสิ้นสุดการทดลองในสัปดาห์ที่ 20 หนูทุกตัวถูกนำกระเพาะอาหารออกมาเพื่อศึกษาอัตราการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารด้วยวิธีทางเนื้อเยื่อวิทยา การแสดงออกของโปรตีนแปดไฮดรอกซี่สองดีออกซี่กัวโนซีนและโปรตีนไซคลินดีหนึ่งด้วยวิธีอิมมูโนพยาธิวิทยา และการแสดงออกของโปรตีนไอแคปปาบีที่ถูกเติมหมู่ฟอสเฟตด้วยวิธีเวสเทิร์นบล็อท
ผลการทดลองพบมะเร็งในกระเพาะอาหารของหนูทุกตัวในกลุ่ม 3 และการได้รับเคอร์คูมินในกลุ่มที่ 4 และ 5 ลดอัตราการเกิดมะเร็งได้ร้อยละ 40 และ 50 ตามลำดับ โดยการให้เคอร์คูมินที่ 3 สัปดาห์ และ 20 สัปดาห์ สามารถลดการแสดงออกของไอแคปปาบีที่ถูกเติมหมู่ฟอสเฟตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในหนูที่ไม่เป็นมะเร็งเมื่อเทียบกับหนูในกลุ่มที่ 3 และการให้เคอร์คูมินที่ 3 สัปดาห์สามารถลดการแสดงออกของแปดไฮดรอกซี่สองดีออกซี่กัวโนซีนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในหนูที่ไม่เป็นมะเร็งเมื่อเทียบกับหนูในกลุ่มที่ 3 กล่าวโดยสรุปว่า การแสดงออกของโปรตีนแปดไฮดรอกซี่สองดีออกซี่กัวโนซีนและไอแคปปาบีที่ถูกเติมหมู่ฟอสเฟตเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร การได้รับเคอร์คูมินสามารถลดอัตราการเกิดมะเร็งได้โดยน่าจะผ่านการลดลงของโปรตีนแปดไฮดรอกซี่สองดีออกซี่กัวโนซีนและไอแคปปาบีที่ถูกเติมหมู่ฟอสเฟต ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการก่อให้เกิดมะเร็งและการดำเนินไปของโรค
โครงการทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด 2015 ขอเชิญชวนแพทย์ เภสัชกร นักโภชนาการ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ และนักวิชาการทั่วไป ส่งผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับด้านการแพทย์ โภชนศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าร่วมคัดเลือกรับทุนวิจัยฯ ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 โดยผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และขอรับใบสมัครได้ที่ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ โทรศัพท์ 0-2650-9777 หรือ http://www.brandsworld.co.th