บาดแผลจำนวนมากตามร่างกายก็มิใช่สาเหตุตาย : รายงานผู้ตาย 1 ราย

บาดแผลจำนวนมากตามร่างกายก็มิใช่สาเหตุตาย : รายงานผู้ตาย 1 ราย

Multiple Wounds Along The Body Might Not Be The Cause Of Death : A Case Report

นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ พ.บ., น.ม., น.บ.ท., ว.ว.นิติเวชศาสตร์* *รองศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

การดูศพแต่เพียงภายนอกเท่านั้นไม่สามารถที่จะบอกได้ถึงสาเหตุการตาย เพราะในบางรายตรวจดูศพแล้วไม่เห็นมีบาดแผลหรือร่องรอยการบาดเจ็บแต่อย่างใด แต่เมื่อทำการตรวจศพอย่างละเอียด (ผ่าศพตรวจ) กลับพบว่ามีการบาดเจ็บของอวัยวะภายในอย่างมาก ในทางกลับกันในบางศพที่พบว่ามีบาดแผลตามร่างกายมากมายน่าเชื่อว่าต้องมีการบาดเจ็บต่ออวัยวะภายในร่างกายแน่นอน แต่เมื่อตรวจศพอย่างละเอียดและผ่าศพตรวจด้วยกลับไม่พบว่ามีการบาดเจ็บของอวัยวะภายในเลยก็มี การหาสาเหตุการตายจึงเป็นเรื่องทางนิติเวชศาสตร์โดยแท้ซึ่งถือว่าเป็น “ศาสตร์ทางการแพทย์” ที่ช่วยเหลือในทางคดีอย่างมาก เพราะจะเป็นการให้ข้อเท็จจริงอย่างละเอียดโดยเฉพาะสาเหตุและยังอาจบอกถึงพฤติการณ์ (บางกรณี) ซึ่งการเห็น ดู หรือการตรวจแต่เพียงภายนอกไม่สามารถที่จะบอกอย่างแน่นอนได้

ในอดีตเคยมีคดีดังระดับประเทศ เช่น “คดีห้างทอง”1 การตรวจพบบาดแผลหลายบาดแผลและยังมีบาดแผลที่น่าเชื่อว่าถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตาย แต่เมื่อได้ทำการตรวจศพอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิติเวชศาสตร์แล้วกลับพบในทางตรงข้าม เป็นต้น หรือในคดีอื่น ๆ อีกก็มี เช่น

ก. ไม่เห็นบาดแผลใดเลย แต่กลับตายโดยเหตุ “ถูกฆาตกรรม” เช่น ถูกวางยา

ข. บาดแผลน่าจะเป็นทางเข้าก็เป็นทางออก ส่วนบาดแผลที่น่าจะเป็นทางออกก็กลับเป็นทางเข้า

ค. บาดแผลที่หน้าผากเกิดในขณะทำงานและล้มฟุบไปถึงแก่ความตาย (มีผู้เห็นชัดเจน) แต่กลับมิใช่สาเหตุแห่งความตาย

ดังนั้น อาศัยหลักการทางนิติเวชศาสตร์ย่อมสามารถจะบอกเหตุแห่งการตายได้อย่างแท้จริงได้ หรืออย่างน้อยก็ลดจำนวนผู้ตายที่ไม่ทราบสาเหตุลงได้ ยิ่งหากเป็นรายที่เป็นการตั้งเรื่องทางคดีความก็จะเป็นการให้ความยุติธรรมได้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น “ฝ่ายผู้ที่เสียชีวิต” หรือ “ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต” มาตรา 1482 จึงถูกบัญญัติขึ้นเป็นมาตราหลักตามกฎหมายและสนับสนุนหลักการและหลักเกณฑ์ของ “งานด้านนิติเวชศาสตร์” ที่ต้องดำเนินการตั้งแต่มาตรา 150 มาตรา 151 และมาตรา 152 เพื่อให้ได้ถึงวัตถุประสงค์ของการชันสูตรพลิกศพตามมาตรา 154 นี่เอง ส่วนมาตรา 149 นั้นเป็นบทบัญญัติ “เสริม” เพื่อรักษา (preserve) ไว้ซึ่งการตรวจหาพยานหลักฐานให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์และถูกต้องตามหลักวิชาการนั่นเอง

สำหรับผู้ที่มีความเห็นที่เป็นไปในทำนองที่คลาดเคลื่อนนั้น เช่น เห็นว่า “การตรวจศพไม่สำคัญ” โดยเฉพาะมีผู้ที่ (ไม่รู้จริง) กล่าวอ้างว่า “แพทย์ทำการผ่าศพอย่างพร่ำเพรื่อ” เป็นต้น น่าจะต้องทำความเข้าใจเสียใหม่กับ “งานทางด้านนิติเวชศาสตร์โดยแท้” ดังนั้น หากได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง “งานทางด้านนิติเวชศาสตร์” แล้วก็จะทำให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายโดยเฉพาะกับ “ผู้ที่ปฏิบัติงานทางด้านนิติเวชศาสตร์”

 

………….การตายที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะ ณ ที่ใด สิ่งแรกที่แพทย์ต้องคิดถึงก็คือ “เป็นการตายผิดธรรมชาติหรือไม่” โดยต้องระลึกไว้เสมอว่า “หากเป็นการตายโดยยังมิปรากฏเหตุต้องถือว่าเป็นการตายผิดธรรมชาติไว้ก่อน ตามมาตรา 148(5) นั่นเอง ซึ่งในรายนี้เห็นได้ชัดว่า ผู้ตายมีความผิดปกติหลายอย่างเกี่ยวกับการตายไม่ว่าจะเป็นท่าทางที่เสียชีวิต บาดแผลที่ปรากฏตามร่างกายจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ทำการตรวจศพอย่างละเอียด (ผ่าศพตรวจ) แล้วก็พบว่าสาเหตุที่ทำให้ตายคือ “หัวใจขาดเลือดมาเลี้ยง” นั่นเอง

อุทาหรณ์ (รายงานผู้ตาย 1 ราย)

ผู้ตายเป็นชายลักษณะมีหนวดเคราเข้าได้กับ “ชนชาติเอเชียใต้” เช่น อินเดีย เป็นต้น โดยมิทราบชื่อผู้ตายและถามคนที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณที่พบศพก็ไม่มีใครยืนยันว่าเป็นใครหรือเป็นญาติของผู้ตาย (แต่ในขณะทำการชันสูตรพลิกศพพบว่ามีผู้ที่มีลักษณะเชื้อชาติเดียวกับผู้ตายร้องห่มร้องไห้อย่างอาลัยกับการจากไปของผู้ตาย แต่เมื่อถามว่ารู้จักผู้ตายหรือไม่ กลับตอบว่า “ไม่ทราบ” เมื่อถามถึงชื่อก็ตอบ “ไม่ทราบ” ทำให้เกิดความน่าแปลกใจอย่างมากว่า ชุมชนนี้เหตุใดจึงไม่มีใครรู้จักผู้ตายเลยแต่กลับแสดงพฤติกรรมเสมือนกับรู้จักและอาลัยยิ่ง) ถูกพบว่านอน ณ ที่กองหินบริเวณก่อสร้างในลักษณะที่เข่างอทั้งสองข้างเสมือนกับว่าตายมาจากที่อื่นและสภาพแห่งแขนขาที่งอนั้นมิใช่สภาพแห่งการตาย ณ ที่ที่พบศพ (ภาพที่ 1)

ผู้ตายมีหนวดและเคราดก ผมสีดำ แสดงถึงน่าจะมีเชื้อชาติทางเอเชียใต้มากที่สุด เช่น อินเดีย ศรีลังกา หรือบังกลาเทศ เป็นต้น และเมื่อตรวจสภาพของศพได้ผล ดังนี้

ตรวจสภาพของศพ ณ ที่เกิดเหตุ/ที่พบศพ

  • ศพชายอายุประมาณ 25 ปี รูปร่างสันทัด สมส่วน ผิวอย่างชาวเอเชีย (เอเชียใต้)

  • ผู้ตายสวมเสื้อแขนสั้นสีดำ คอกลม มีลายรูปกีตาร์ปักที่หน้าอกเสื้อ และสวมกางเกงขาสั้นลายคล้ายทหารพรางสีเขียว

  • ศพแข็งตัวเต็มที่แล้ว พบเลือดตกลงสู่เบื้องต่ำภายหลังเสียชีวิตที่หลังได้ชัดเจน

  • ขาทั้งสองข้างงอเกือบตั้งฉาก สภาพที่แข็งงอของขาไม่น่าจะเกิดขึ้น ณ ที่ที่พบศพ (ภาพที่ 1)

  • ตรวจพบบาดแผลอย่างคร่าว ๆ ดังต่อไปนี้

- บาดแผลถลอกเป็นแนวที่แก้มด้านขวายาว

- บาดแผลช้ำที่หลังหลายรอย มี 2 รอยเป็นแนวยาว เสมือนถูกกระทบด้วยของแข็งยาว

- บาดแผลช้ำที่ต้นขาซ้ายขนาดใหญ่ (ภาพที่ 2)

- บาดแผลช้ำที่ก้นทั้งสองข้าง โดยข้างซ้ายมากกว่าทางด้านขวา (ภาพที่ 3)

  • แขนและขาอยู่ในสภาพเหยียดตรง

การให้สาเหตุตายเบื้องต้น ณ ที่ที่ชันสูตรพลิกศพ

“ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ”

แนวทางการดำเนินการ

ต้องส่งศพเพื่อการตรวจต่ออย่างละเอียด (ทางนิติเวชศาสตร์) โดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจที่ศพอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบได้ส่งมารับการตรวจต่อที่โรงพยาบาลศิริราช (ภาพที่ 4)

การผ่าศพตรวจ

ผู้ตายได้รับการตรวจศพภายนอกอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง และพบว่ามีบาดแผลฟกช้ำตามร่างกายจำนวนมาก (ภาพที่ 5)

เมื่อทำการผ่าศพเพื่อตรวจหาสาเหตุการตายอย่างละเอียด ได้ผลการตรวจดังนี้

  • บาดแผลช้ำที่หนังศีรษะส่วนหลังด้านขวาเยื้องไปทางด้านหลังเล็กน้อย

  • เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (subarachnoid hemorrhage) บาง ๆ ที่บริเวณส่วนข้างด้านซ้ายของสมอง (ไม่มีนัยสำคัญ)

  • กระดูกคอ กระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครง และกระดูกอก อยู่ในสภาพปกติ

  • ช่องอกและช่องท้องไม่พบลักษณะการบาดเจ็บ มีพยาธิสภาพ หรือมีเลือดออก (ภาพที่ 6)

  • ปอดและอวัยวะต่าง ๆ ในช่องอกไม่พบมีเลือดออก

  • หัวใจตรวจพบหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจด้านหน้า (anterior descending branch of left coronary artery, LAD) ตีบอย่างมากราวร้อยละ 90 (ภาพที่ 7)

  • พบจุดเลือดออกในกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งแสดงถึงสภาพแห่งการขาดเลือดมาเลี้ยงอย่างชัดเจน (ภาพที่ 8)

  • ไม่พบเลือดออกในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ

  • ตับ ม้าม ไต และอวัยวะในช่องท้องไม่พบพยาธิสภาพ การบาดเจ็บ หรือเลือดออก

  • รอยช้ำที่หลัง ต้นขาซ้าย และก้น เมื่อตรวจอย่างละเอียดพบว่าเป็นเพียงการช้ำจากผิวหนังและกล้ามเนื้อเท่านั้น (การช้ำเกิดจากการที่เส้นเลือดฝอยแตกออก มีเลือดไหลออกนอกหลอดเลือด ที่เรียกว่า “extravasation” นั่นเอง)

  • ไม่พบน้ำปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ

  • อุ้งเชิงกรานไม่พบพยาธิสภาพชัดเจน

สาเหตุตาย

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมาเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบอย่างมาก

พฤติการณ์ที่ตาย

เข้าได้กับการตายตามธรรมชาติ

วิเคราะห์และวิจารณ์

ประการที่ 1: เมื่อมีการตายเกิดขึ้น

ไม่ว่าจะตาย ณ ที่ใด หากอยู่ในความรับผิดชอบของแพทย์แล้ว สิ่งแรกที่แพทย์ท่านนั้นจะต้องพิจารณาก็คือ “เป็นการตายผิดธรรมชาติหรือตายตามธรรมชาติ” โดยต้องคิดถึงมาตรา 148 เสมอ หากสามารถตัดประการต่าง ๆในมาตรา 148 ออกไปได้แล้วก็จะเข้าข่ายเป็น “การตายตามธรรมชาติ” นั่นเอง ซึ่งแนวทางในการดำเนินการจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งคือ “ไม่เป็นคดีความ” เลย

ประการที่ 2: สำหรับผู้ตายรายนี้ (กรณีอุทาหรณ์) มีประเด็นที่น่าสนใจ (ทางนิติเวชศาสตร์) ดังนี้

ข้อ 1: เมื่อชันสูตรพลิกศพ ณ ที่เกิดเหตุแล้วพบว่าผู้ตายมีบาดแผลจำนวนมาก โดยเฉพาะที่หลัง เอว และต้นขา แสดงให้เห็นถึงบาดแผลที่ต้องถูกทำร้ายร่างกายมาอย่างแน่นอน และสภาพแห่งบาดแผลที่ฟกช้ำเช่นที่ปรากฏ “น่าจะมีอวัยวะภายในร่างกายบางส่วนได้รับอันตรายด้วย” เช่น อาจมีไตฉีกขาด หรือม้ามฉีกขาด ทำให้มีเลือดออกจำนวนมากในช่องท้องหรือหลังช่องท้องได้และเป็นสาเหตุแห่งการตาย

ข้อ 2: สภาพของศพที่พบว่า มีการงอของขาในลักษณะเกือบตั้งฉากทั้งสองข้างนี้ (ภาพที่ 1) เชื่อว่า “การตายมิได้เกิดขึ้น ณ ที่ที่พบศพอย่างแน่นอน เพราะหากเป็นการตาย ณ ที่ที่พบศพแล้ว สมควรที่แขนและขาศพจะต้องเหยียด ราบลงหาใช่การที่ขาตั้งฉากดังที่ปรากฏ เมื่อประกอบกันกับข้อ 1 แล้ว เห็นได้ชัดว่าการตายที่พบย่อมต้องเป็นการตายที่เข้าข่ายคดีอาญาอย่างแน่นอน3 ซึ่งอาจเป็นการฆ่าคนตายโดยเจตนา (มาตรา 288 หรือ 289) หรือฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา (มาตรา 290)

ข้อ 3: เมื่อนำศพเข้ามารับการตรวจต่อ (ผ่าศพตรวจ) แล้วกลับพบไปในทางตรงข้าม กล่าวคือ ไม่พบอันตรายหรือการบาดเจ็บต่ออวัยวะภายในที่รุนแรงแต่อย่างใด มีเพียงสภาพการฟกช้ำของร่างกายจำนวนหลายตำแหน่งและช้ำที่หนังศีรษะเล็กน้อยเท่านั้น แต่กลับพบว่าสาเหตุที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายที่แท้จริงคือ “หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบอย่างมากถึงราวร้อยละ 90” (ภาพที่ 7) อีกทั้งยังพบว่าในกล้ามเนื้อหัวใจมีจุดเลือดออกให้เห็นแสดงถึงการที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอย่างชัดเจน (ภาพที่ 8) จึงสามารถสรุปพฤติการณ์แห่งการตายรายนี้เป็น “เหตุธรรมชาติ” ส่วนบาดแผลฟกช้ำที่ผู้ตายอาจมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับผู้อื่นจนถึงขั้นถูกทำร้ายมานั้นเป็นบาดแผลไม่รุนแรงและมิใช่เป็นสาเหตุแห่งการตาย

หมายเหตุ

หากมิได้มีการตรวจศพอย่างละเอียดแล้วย่อมต้องสันนิษฐานสาเหตุการตายว่าเกิดจากบาดแผลตามร่างกายและอวัยวะภายในร่างกายได้รับอันตราย (บาดเจ็บ) อย่างแน่นอน โดยเฉพาะที่ศีรษะ ในช่องอก หรือช่องท้อง

ข้อ 4: แม้ว่าสาเหตุการตายที่ตรวจพบในทางนิติเวชศาสตร์จะเป็นเหตุธรรมชาติ แต่สภาพแห่งศพ ณ ที่ที่พบศพยังเป็นที่น่าสงสัย (ที่ที่พบศพไม่น่าจะเป็นที่ที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย) จึงสมควรเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงาน (พนักงานสอบสวน) ดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อเนื่อง

ข้อ 5: พฤติการณ์ที่ปรากฏเมื่อแพทย์ชันสูตรพลิกศพ ณ สถานที่ศพอยู่นั้น ได้เห็นสภาพของชุมชนที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายผู้ตาย (เอเชียใต้) ทั้งหญิงและชาย อีกทั้งยังเห็นว่ามีบางคนเศร้าสร้อยอย่างเห็นได้ชัด และบางคนถึงขนาดร้องไห้อย่างฟูมฟาย แต่เมื่อถามว่ามีใครเป็นญาติบ้าง กลับได้รับคำตอบว่า “ไม่มี” อีกทั้งเมื่อถามถึงชื่อของผู้ตาย ก็ไม่มีใครให้ชื่อของผู้ตาย (เสมือนกับว่าไม่มีญาติและไม่รู้จัก) ทำให้แพทย์ต้องลงรายละเอียดในบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพว่า “ชายไม่ทราบชื่อ” (สอดคล้องกับ “ใบนำส่งผู้บาดเจ็บหรือศพให้แพทย์ตรวจชันสูตร” ที่พนักงานสอบสวนเขียนนำส่งให้กับแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราชเพื่อทำการตรวจศพอย่างละเอียด ตามมาตรา 1522) (ภาพที่ 4) ซึ่งเมื่อประมวลเหตุการณ์ทั้งหมดแล้วทำให้ทราบว่า ชุมชนของผู้เสียชีวิตนั้นมี “ผู้หลบหนีเข้าประเทศไทย” จำนวนมากจึงทำให้ไม่มีใครต้องการที่จะให้ประวัติของผู้ตายกับ “เจ้าพนักงาน” โดยเฉพาะพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) และแพทย์ผู้ทำหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพ เพราะเมื่อให้รายละเอียดย่อมต้องถูกบันทึกไว้ว่า “เป็นผู้ที่ให้รายละเอียด” และหากผู้ให้ก็หนีเข้าประเทศด้วยแล้วก็จะกลับกลายเป็นว่า “มีความผิดอีกฐานความผิดหนึ่ง” จึงไม่มีผู้ใดกล้ากล่าวอ้างเป็นผู้เกี่ยวข้องกับผู้ตาย

ข้อ 6: อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผู้มาขอรับศพผู้ตายผู้นั้นย่อมที่จะต้องแสดงฐานะแห่งตนว่าเป็น “ญาติ” และหากเข้าประเทศไทยต้องเป็นการเข้าประเทศโดยชอบด้วยกฎหมายไทยด้วย ส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับศพของผู้ที่เข้าประเทศโดยมิชอบด้วยกฎหมายนั้นจำต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ประการที่ 3: ภายหลังจากการชันสูตรพลิกศพซึ่งไม่แน่ชัดในสาเหตุแห่งการตาย

เมื่อแพทย์ต้องเข้าร่วมในการชันสูตรพลิกศพตามหน้าที่ (มาตรา 150)2 และไม่สามารถให้สาเหตุการตายได้อย่างชัดเจน หรือ “เชื่อว่ามิใช่การตายตามธรรมชาติหรือมีเหตุเพียงสงสัยว่าจะมิใช่การตายตามธรรมชาติแล้ว” แพทย์จะต้องไม่เพิกเฉยต่อการดำเนินการ “ส่งศพเพื่อการตรวจต่อเสมอ” ทั้งนี้ต้องถือเป็นไปตามเกณฑ์ของแพทย์สภา4,5 หากตนเองสามารถตรวจศพต่อได้ก็ส่งศพมาตรวจ ณ สถานพยาบาลที่ตนเองประจำอยู่ แต่หากไม่อาจทำได้จำต้องส่งศพต่อไปยังพยาธิแพทย์หรือนิติพยาธิแพทย์หรือแพทย์ที่สามารถทำการตรวจศพและผ่าศพตรวจได้ ทั้งนี้เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุแห่งการตายชัดเจนและแสดงถึงงานในหน้าที่แห่งตนว่า “มิได้บกพร่องในฐานะการเป็นเจ้าพนักงาน” (มาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา)3

ประการที่ 4: ผลการผ่าศพตรวจ

การผ่าศพตรวจทำให้แพทย์ได้ทราบถึงสาเหตุการตายอย่างชัดเจน ในรายนี้ตรวจพบว่าเส้นเลือดที่มาเลี้ยงหัวใจด้านหน้าซ้าย (anterior descending branch of left coronary artery) ตีบมากกว่าร้อยละ 90 และอาจถือได้ว่ามีพยาธิสภาพเกือบตีบตันโดยตลอดก็ได้

ประเด็นสุดท้าย: หลักเกณฑ์ในทางนิติเวชศาสตร์ถือว่ามีความสำคัญที่สุด

การตายที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะ ณ ที่ใด สิ่งแรกที่แพทย์ต้องคิดถึงก็คือ “เป็นการตายผิดธรรมชาติหรือไม่” โดยต้องระลึกไว้เสมอว่า “หากเป็นการตายโดยยังมิปรากฏเหตุต้องถือว่าเป็นการตายผิดธรรมชาติไว้ก่อน ตามมาตรา 148(5) นั่นเอง” ซึ่งในรายนี้เห็นได้ชัดว่า ผู้ตายมีความผิดปกติหลายอย่างเกี่ยวกับการตายไม่ว่าจะเป็นท่าทางที่เสียชีวิต บาดแผลที่ปรากฏตามร่างกายจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ทำการตรวจศพอย่างละเอียด (ผ่าศพตรวจ) แล้วก็พบว่าสาเหตุที่ทำให้ตายคือ “หัวใจขาดเลือดมาเลี้ยง” นั่นเอง

สรุป

เรื่องการตายผิดธรรมชาติที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการชันสูตรพลิกศพนั้นมีความสำคัญยิ่ง เพราะการชันสูตรพลิกศพรวมถึงการนำศพมาเพื่อรับการตรวจต่ออย่างละเอียดย่อมจะทำให้สามารถบอกถึงสาเหตุการตาย (เป็นส่วนใหญ่) ได้ ยิ่งหากเป็นกรณีที่มีความสงสัยถึงพฤติการณ์แห่งการตายอันเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายด้วยแล้ว ยิ่งต้องทำการตรวจอย่างละเอียด ซึ่งแท้ที่จริงแล้วการตายอาจมิใช่สิ่งที่ได้สันนิษฐานไว้แต่แรกได้ เช่น ในรายผู้ตายกรณีอุทาหรณ์นี้

เอกสารอ้างอิง

1. เปิดปมมรดกเลือด ตระกูลธรรมวัฒนะ. http://hilight.kapook.com/view/51757

2. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. http://www.thailaws.com/law/thaiacts/code1307.pdf

3. ประมวลกฎหมายอาญา. http://legal-informatics.org/file/3.pdf

4. ประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2555. โดยในการประชุมครั้งที่ 4/2555 วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555 ได้มีมติให้แก้ไขข้อความในประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 เป็น “ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ (24 มกราคม 2555)”

5. ประกาศแพทยสภาที่ 12/2555 เรื่อง เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555. (Medical Competency Assessment Criteria for National License 2012) ประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม 2555.