มองอนาคตมาตรฐานการแพทย์ไทยด้วยความห่วงใย (ตอนที่ 8)

มองอนาคตมาตรฐานการแพทย์ไทยด้วยความห่วงใย (ตอนที่ 8)

ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงกรณีที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ได้ถูกคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้ไปปฏิบัติงานที่สำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจาก นพ.ณรงค์ ได้ถูกสั่งตั้งกรรมการสอบสวนกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติราชการในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่สนองนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาลและนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ในขณะเดียวกันก็มีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้มีการตรวจสอบการใช้งบประมาณของ สปสช.(1) ซึ่งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้รับไปดำเนินการ ซึ่งนายยงยุทธ์ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าสิ่งสำคัญกว่านั้นคือ การดูระบบการดำเนินการของ สปสช. ทั้งหมดที่จะปรับปรุงให้ยั่งยืน โดยจะพิจารณาทั้งในระบบค่าใช้จ่ายและรายได้ โดยจะรับฟังความเห็นจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และจะประมวลความคิดเห็นจากผู้ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูป สปสช. และนำมาประมวลความคิดเห็นเพื่อพิจารณาอย่างรอบคอบและระมัดระวัง และรองนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าจะสามารถทำให้เสร็จภายในรัฐบาลนี้

นอกจากนี้รองนายกรัฐมนตรียังมีแนวคิดที่จะจัดตั้งหน่วยงานกลางภายใต้ชื่อ “สถาบันข้อมูลสวัสดิการสุขภาพ” ที่จะรวบรวมข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม สปสช. และกรมบัญชีกลาง เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี

ดูจากข่าวนี้แล้วก็เพิ่มความห่วงใยต่อมาตรฐานการแพทย์ไทยในอนาคตมากขึ้น เนื่องจากรองนายกรัฐมนตรีเคยบอกว่าการสอบสวนปลัดกระทรวงสาธารณสุขนั้นยังไม่แน่ใจว่าจะเสร็จเมื่อไร อาจจะเกษียณอายุราชการก่อนจึงจะเสร็จ และ (บอกให้ปลัดกระทรวง) ทำใจ และยังพูดว่าใครจะไปฟ้องก็ตามใจ (อ้างแล้วในบทความตอนที่ 7) แต่รองนายกรัฐมนตรีกลับแสดงความเชื่อมั่นว่า การสอบสวนการใช้งบประมาณของ สปสช. นั้น คตร. จะดำเนินการโดยเร็วที่สุด และยังมีข่าวออกมาว่ามีคณะกรรมการที่กำลังตรวจสอบการใช้งบประมาณของ สปสช. อยู่อีกหลายหน่วยงาน เช่น สตง. (สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน) ที่เคยสรุปการทำไม่ถูกต้องของสปสช. มาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553(2) และมีข่าวว่า ปปท. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ)(3) ก็กำลังตรวจสอบการทุจริตของ สปสช. อยู่ใน 4 ประเด็น ในขณะที่ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ก็ยืนยันว่าที่ผ่านมายังไม่พบว่ามีการทุจริตจากการตรวจสอบของ สตง. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในขณะที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวในรายการเฟซไทม์ของสปริงนิวส์ว่า พบว่าสปสช. ใช้งบใน 10 จังหวัดกว่า 2,000 ล้านบาทไม่ถูกต้อง ซึ่ง สตง. (สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน) ได้ทำหนังสือทักท้วงแล้ว แต่ยังไม่มีการแก้ไข จึงต้องให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตเข้าไปตรวจสอบ

รวมทั้งยังมีกรณีที่น่าสงสัยว่าบอร์ด สปสช. ใช้งบเหมาจ่ายรายหัวผิดประเภท ผลประโยชน์ทับซ้อน(4) ซึ่งเป็นกรณีที่น่าสงสัยในความสุจริต โปร่งใส ยึดหลักกฎหมายและธรรมาภิบาลในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยที่ขณะนี้คณะกรรมการตรวจสอบต่าง ๆ เหล่านี้อาจจะยังไม่สรุปหรือชี้ให้ชัดเจนว่า มีการทำผิดพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การมีผลประโยชน์ทับซ้อนของกรรมการบอร์ดหรือไม่ อย่างไร และมากน้อยเพียงใด

ในขณะที่ผู้บริหาร สปสช. เช่น เลขาธิการและรองเลขาธิการ สปสช. ต่างก็ออกมายืนยันว่า(5) ข้อกล่าวหาหรือการร้องเรียนนั้นเป็นเรื่องเก่าที่เคยชี้แจงไปแล้ว แต่ก็น่าสงสัยว่าการทำไม่ถูกต้องตามกฎหมายกับการทำผิดกฎหมายนั้นมีความหมายเหมือนกันหรือไม่ นอกจากนั้นยังมีการอธิบายว่าเป็นความเข้าใจผิด ซึ่งก็หวังว่าการตรวจสอบของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตจะสามารถทำความจริงให้กระจ่างว่า การใช้งบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นมีการรั่วไหลไปจากที่ใด และการรั่วไหลนั้นส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมากน้อยเพียงใด จึงเป็นสาเหตุให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานในการดูแลรักษาผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ออกมาแสดงความสงสัยข้องใจต่อการบริหารงบประมาณของบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และได้มีการทักท้วงการบริหารจัดการงบประมาณนี้มาหลายปีจากผู้ปฏิบัติงานบริการประชาชนในโรงพยาบาล ซึ่งได้รายงานให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขรับทราบว่า การบริหารจัดการงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวของบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก่อให้เกิดปัญหาในการขาดแคลนงบประมาณที่จำเป็นในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งการขาดแคลนงบประมาณที่จำเป็นนี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพมาตรฐานการบริการดูแลรักษาประชาชน และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้พยายามหาทางแก้ไขโดยการวิเคราะห์สาเหตุแห่งปัญหาและหาทางแก้ไข โดยการเสนอให้มีการแก้ไขวิธีการจัดสรรงบประมาณตามเขตสุขภาพเพื่อให้โรงพยาบาลในเขตเดียวกันสามารถบริหารงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยการ “เกลี่ย” งบประมาณเพื่อช่วยเหลือภาระการเงินที่จำเป็นในการรักษาประชาชนของโรงพยาบาลในเขตเดียวกันได้ โดยได้มีการทดลองทำแล้วใน 2 เขตสุขภาพ ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่ามีประโยชน์ในการสามารถใช้งบประมาณได้พอเหมาะต่อการรักษาผู้ป่วยได้ดีขึ้น

แต่แทนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะรับฟังเหตุผลและข้อเท็จจริงจากหน่วยงานภายใต้การบังคับบัญชาและการบริหารงานของตนในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน กลับไม่ยอมเข้าใจ และตั้งข้อกล่าวหาที่ฝืนต่อความรู้สึกของวิญญูชน ได้แก่ เจ้าหน้าที่และข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขจำนวนมากที่ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำสั่งโยกย้ายปลัด โดยการออกมาให้กำลังใจปลัดกระทรวง และได้แสดงการประท้วงโดยการแต่งชุดดำไว้อาลัยให้แก่ความถูกต้องและธรรมาภิบาลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเองได้ให้กระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน เพราะคราวนี้รัฐมนตรีได้เลือกข้าราชการที่ยอมรับคำสั่งของรัฐมนตรีโดยไม่มีข้อโต้แย้ง (เด็กรัฐมนตรี) คือจะสั่งให้ทำอะไรตามอำเภอใจของรัฐมนตรีก็ได้มาลงนาม “ยอม” ตามที่บอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องการ ซึ่งน่าอนาถใจยิ่งนัก เพราะรัฐบาลนี้ที่เกิดจากการรัฐประหารนั้น เกิดขึ้นมาเนื่องจากการบริหารของรัฐบาลที่ผ่านมาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากการบริหารงานของคณะรัฐมนตรีจนทำให้เกิดการประท้วงและเกิดความไม่สงบในบ้านเมือง จนนำไปสู่การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อธิบายถึงความจำเป็นของกองทัพที่ต้องออกมา “รักษาความสงบ” ของบ้านเมือง และหัวหน้า คสช. ได้มาจัดตั้งคณะรัฐมนตรีโดยได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง โดยนายกรัฐมนตรีได้ประกาศว่าจะปฏิรูปประเทศ โดยกำหนดให้นโยบายสำคัญของ คสช. คือการกำจัดและกวาดล้างการคอร์รัปชั่นหรือการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงให้สิ้นไปจากแผ่นดินไทย

ในขณะที่ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. ก็บอกว่า เตรียมที่จะนำเสียงทักท้วงจากหน่วยบริการในช่วงความขัดแย้งตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมามารับฟังและนำไปปรับปรุง ซึ่งเท่ากับว่า สปสช. เองก็ยอมรับว่ามีข้อขัดแย้งที่ สปสช. ไม่เคยนำไปปรับปรุงแก้ไข จึงเห็นได้ว่าการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีปัญหามาตลอด 2-3 ปีที่รองเลขาธิการ สปสช. เพิ่งมายอมรับและเพิ่งจะเตรียมนำไปแก้ไข

แต่ในการทำงานและผลงานที่ผ่านมาของบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ สปสช. นั้นยังก่อให้เกิดคำถามจากบุคลากรและข้าราชการผู้ปฏิบัติงานและรับงบประมาณจาก สปสช. ว่ายังมีปัญหาต่อคุณภาพมาตรฐานในการจัดบริการสาธารณสุขแก่ประชาชน โดยการที่ สปสช. และบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ทำตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีข้อสงสัยในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นและการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของกรรมการบอร์ดบางคนและผู้บริหารของ สปสช. ที่เราหวังว่าศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตจะสามารถทำความจริงให้กระจ่าง เพื่อตอบคำถามและข้อสงสัยข้องใจของบุคลากรและข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขโดยเร็ว เพื่อทำให้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ถูกจัดสรรอย่างโปร่งใส เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างมีคุณภาพมาตรฐานที่แท้จริง

เอกสารอ้างอิง

  1. http://www.hfocus.org/content/2015/04/9724 “ยงยุทธ์” เผยปรับโครงสร้าง สปสช.เสร็จภายในรัฐบาลนี้

  2. https://youtu.be/KnUM_7Hy_zI สนธิญาณ ทีนิวส์ จัดเต็ม เปิดปมไม่ชอบมาพากลการใช้งบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้นเหตุเด้งปลัดณรงค์ เพราะไปแตะต้องผลประโยชน์แสนล้านบาทของใคร

  3. http://bit.ly/19OnNfo เลขาธิการ ปปท.เผยตรวจพบ สปสช.ใช้งบผิดประเภท

  4. http://thaipublica.org/2015/01/public-health-services-53/ บอร์ด สปสช.ใช้งบเหมาจ่ายรายหัวผิดประเภท ผลประโยชน์ทับซ้อน สวมหมวกหลายใบ เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.กองทุนหลักประกัน-กฎหมายปปช.มาตรา 100

  5. http://www.posttoday.com