มองอนาคตมาตรฐานการแพทย์ไทยด้วยความห่วงใย (ตอนที่ 9)

มองอนาคตมาตรฐานการแพทย์ไทยด้วยความห่วงใย (ตอนที่ 9)

หลังจาก นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ได้ถูกคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้ไปปฏิบัติงานที่สำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ทางศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ให้มารักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข และเป็นที่น่าสังเกตว่า นพ.สุรเชษฐ์ รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีคำสั่งโยกย้ายข้าราชการหลายคน ที่สำคัญก็คือได้ย้าย นพ.บัญชา ค้าของ ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และแต่งตั้ง นพ.เกษม ตั้งเกษมสำราญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชาติตระการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกลุ่มประกันสุขภาพอีกหน้าที่หนึ่ง มีผลทำให้นพ.บัญชา เหลือตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารกลางเพียงตำแหน่งเดียว(1)

ทั้งนี้มีข้อสังเกตจากข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่า เหตุที่ต้องย้ายนพ.บัญชา ออกจากกลุ่มประกันสุขภาพ ก็อาจเป็นเพราะว่า นพ.บัญชา เป็นผู้ที่ได้รับรู้ข้อมูลการเบิกจ่ายเงินของหน่วยงานทั้งหมดของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อันเป็นที่มาของการรายงานผลการขาดทุนของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่ยอมแก้ไขวิธีการเบิกจ่ายเงินตามที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เคยเสนอให้มีการแก้ไขวิธีการจ่ายเงินของ สปสช. เป็นแบบเขตสุขภาพ แต่ สปสช. และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ยินยอมที่จะทำตามข้อเสนอของปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. จนนำไปสู่การโยกย้ายปลัดกระทรวง และตามมาด้วยการโยกย้ายผู้อำนวยการกลุ่มประกันสุขภาพของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว

การโยกย้ายปลัดกระทรวงและผู้อำนวยการกลุ่มประกันสุขภาพ จึงเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกันอย่างแน่นอน เนื่องจากกลุ่มประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานแรกที่ได้ออกหนังสือแสดงสถานะทางการเงินของโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่มีสภาพการขาดทุนหลายร้อยแห่ง และอีกร้อยกว่าแห่งที่ขาดสภาพคล่องและขาดเงินทุนหมุนเวียน แต่ สปสช. ก็ได้ปฏิเสธตลอดมาว่าการที่โรงพยาบาลขาดทุนนั้น ไม่เกี่ยวกับงบบัตรทอง(2) ในขณะที่ ศ.นพ.ดร.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร ได้เขียนบทความเรื่อง ๓๐ บาทรักษาได้ทุกโรค กำลังเป็นยาเสพติดเกินขนาดของสังคมไทยและทางแก้ไข(3) และได้กล่าวถึงสาเหตุของปัญหาว่า ค่าใช้จ่ายต่อหัวที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ค่าใช้จ่ายจากการบริหารงาน และค่าใช้จ่ายที่รั่วไหลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบหลักประกันสุขภาพ และในขณะเดียวกันได้สำรวจพบว่า ในปี พ.ศ. 2551-2556 นั้น โรงพยาบาลได้รับงบประมาณจาก สปสช. น้อยกว่าที่เรียกเก็บถึง 1.3 แสนล้านบาท(4) และได้เสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาโดยใช้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อแก้ปัญหาโครงการ 30 บาท โดยการเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย และให้ใช้สิทธิอย่างพอประมาณ

และมีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้สั่งการให้มีการตั้งกรรมการตรวจสอบว่ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ “ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือไม่”(5)

แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ายังไม่มีการกล่าวถึงรากเหง้าของสาเหตุแห่งปัญหาในระบบหลักประกันสุขภาพว่ามีต้นตอมาจากอะไรกันแน่ ซึ่งผู้เขียนอยากจะกล่าวถึงต้นตอแห่งปัญหาของความล้มเหลวในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขของไทย ว่าเกิดจากกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นผู้นำ มีแกนนำคนสำคัญมาจากกลุ่มผู้ก่อตั้งชมรมแพทย์ชนบท และได้อาศัยการจัดตั้งมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มูลนิธิชมรมแพทย์ชนบท และมูลนิธิอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อเป็นแหล่งทุนในการทำงานตามแนวคิดของกลุ่มตน และยังเข้าหาผู้มีอำนาจบริหารบ้านเมือง ได้แก่ รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย เพื่อให้มีการออกกฎหมายจัดตั้งองค์กรนอกราชการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเป็นประจำทุกปี และกำหนดให้พวกของตนเข้ามาเป็นกรรมการและเป็นผู้บริหารสำนักงาน ทำให้สามารถออกระเบียบการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินได้เอง ทั้งในรูปแบบที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือออกระเบียบที่ขัดกับกฎหมายหลักขององค์กร หรือกฎหมายอื่นที่มีอยู่แล้ว ถ้ามีการตรวจสอบหรือท้วงติงใด ๆ ก็จะแก้ตัวไปเรื่อย ๆ ว่ามีคนเข้าใจผิดบ้าง หรือพวกตนเข้าใจผิดบ้าง แต่มีเจตนาดีเป็นประโยชน์แก่ประชาชน และสามารถจัดตั้งองค์กรอิสระตามพระราชบัญญัติเฉพาะนี้มากมายหลายองค์กร เช่น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.), สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และยังมีองค์กรอื่น ๆ ที่ตั้งขึ้นตามมาอีกหลายแห่ง

โดยผู้บริหารกองทุนนั้น ๆ มักจะเป็นกลุ่มคนของชมรมแพทย์ชนบทที่หลาย ๆ คนได้ถูกส่งไปเรียนต่อยังต่างประเทศด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน หรือได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารในองค์กรหนึ่ง จนครบวาระที่นานที่สุดที่จะดำรงตำแหน่งได้ตามกฎหมาย แล้วก็จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอื่นต่อไป เช่น นพ.พงษ์พิสุทธ์ จงอุดมสุข เมื่อต้องออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ สวรส. ก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา สปสช. โดยทันที หรือ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ผู้เป็นเลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติมาอย่างยาวนาน ก็เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สวรส. และได้รับงบประมาณในด้านการวิจัยจาก สวรส. เป็นจำนวนหลายร้อยล้านบาท และในขณะนี้ก็ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

จะเห็นได้ว่า ถ้าเราไม่รู้เบื้องหลังของการตั้ง สปสช. หรือองค์กรสารพัด ส. เหล่านี้แล้ว เราอาจจะมองวิธีแก้ปัญหาในระบบหลักประกันสุขภาพอย่าง “ตรงไปตรงมา” เพราะเราไม่ตระหนักถึงกระบวนการและกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังการจัดตั้งและการบริหารองค์กรเหล่านี้ ที่ดูเหมือนว่าจะมีความฉลาดในการโอนเอางบประมาณแผ่นดินออกมาสู่มูลนิธิ และใช้เงินเหล่านี้ในการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทำให้สามารถสร้างภาพลักษณ์ตบตาสาธารณชนว่าเป็นคนดี ทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองหรือแก่ประชาชน แต่ในขณะเดียวกันก็ได้รับผลประโยชน์ทับซ้อนมากมายจากเงินงบประมาณแผ่นดินมาเป็นเวลายาวนาน

แต่ความจริงนั้น พวกเขามีวิธีการอันแยบยล ลึกซึ้ง และยาวนาน ในการที่จะแสวงหาเงินงบประมาณแผ่นดิน มาใช้จ่ายตามระบบที่เขาจัดระเบียบขึ้นมาเอง ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณจากกองทุน สสส., สปสช., สวรส., สช. และอื่น ๆ จนทำให้ระบบเหล่านี้เสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้จะล้มละลาย และระบบบริการสาธารณะด้านการแพทย์ก็ตกอยู่ในสภาพที่ขาดแคลนงบประมาณในการจัดหาเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ในการที่จะให้บริการรักษาสุขภาพประชาชนให้ได้มาตรฐานที่ทันสมัยและมีความปลอดภัยต่อประชาชน

ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลยังไม่เข้าใจสาเหตุและรากเหง้าแห่งปัญหาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและการบริการสาธารณะด้านการแพทย์ และไม่ล้มล้างระบบที่ทุจริตและเป็นอันตรายต่อสังคมแล้ว มาตรฐานการแพทย์ไทยก็คงจะถอยหลังลงคลองอย่างแน่นอนในไม่ช้า

การจะตรวจสอบว่าใครร่ำรวยผิดปกติบ้าง ใครไม่สามารถอธิบายที่มาที่ไปของทรัพย์สินของตนเองและคู่สมรสหรือลูกหลานเครือญาติบ้าง ก็คงจะช่วยทำให้ความจริงกระจ่างขึ้น และสามารถนำเงินงบประมาณแผ่นดินกลับคืนมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยแน่นอน

และก็ดูเหมือนว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยังไม่เข้าใจว่า ในคณะรัฐมนตรีของท่านก็มีสมาชิกและผู้เลื่อมใส “ลัทธิประเวศ” อยู่หลายคน ในฐานะรองนายก 1 คน ในฐานะรัฐมนตรีอีก 2 คน

การจะแก้ปัญหาในระบบหลักประกันสุขภาพและระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข จะต้องแก้ในสิ่งที่สำคัญดังนี้

1. การแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.. 2545 ทั้งนี้พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เกิดขึ้นจากการนำเสนอของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ที่ได้นำเสนอแนวคิดต่อ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นที่มองเห็นลู่ทางว่าจะเป็นนโยบายประชานิยมอย่างแน่นอน แต่ไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมในการดำเนินการตามระบบให้เหมาะสม ก่อปัญหาความวุ่นวายและสับสนอลหม่านทั้งในหมู่ประชาชนและบุคลากรสาธารณสุขที่ต้องให้การดูแลรักษาประชาชน จนมีคำกล่าวว่า “30 บาทตายทุกโรค” ทำให้เกิดภาะ “Over demand” เนื่องจากประชาชนมาเรียกร้องสิทธิการรักษามากขึ้น แต่งบประมาณ บุคลากร และอาคารสถานที่มีไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยที่มาใช้บริการแม้ยังไม่จำเป็น โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งที่ประชาชนจะมาใช้บริการ และมีการ “ตามใจประชาชน” อย่างสุดโต่ง ไม่ต้องทำตามระเบียบขั้นตอนจากการไปรับการรักษาจากโรงพยาบาลระดับต้นก่อน หลังจากแพทย์เห็นว่าควรส่งต่อไปยังโรงพยาบาลระดับสูง มีใบนัดหรือใบส่งตัวไปจึงจะไปรับบริการได้ แต่มีการโฆษณาให้ประชาชนไปรับบริการได้ทุกโรคทุกเวลา ซึ่งเป็นการโฆษณาที่ไม่เป็นความจริง เนื่องจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ “กำหนดไว้ว่าจะรักษาโรคใด หรือใช้ยาอะไรได้เท่านั้น”

จึงทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชน (ที่มีความคาดหวังสูงเกินจริงตามการโฆษณา) และบุลากรทางการแพทย์ที่มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ และรายการยาที่รักษา และต้องทำงานแข่งกับเวลา เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยมากเกินกำลังบุคลากรจนก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความเสียหายต่อการรักษาผู้ป่วย หรือผู้ป่วยเกิดเข้าใจผิดในการรักษาจนเกิดการฟ้องร้องกล่าวหาและกล่าวโทษบุคลากรทางการแพทย์มากมายมหาศาล ส่งผลให้แพทย์ลาออกจากการรับราชการเป็นจำนวนมาก ทำให้ความขาดแคลนบุคลากรมีมากขึ้น สวนทางกับการมารับการรักษาของประชาชนที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา

นอกจากนั้นการกำหนดให้ประชาชนเพียง 48 ล้านคนเท่านั้นที่ได้รับสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน (หรือที่ชอบอ้างว่าเกิดความเหลื่อมล้ำในระหว่างประชาชน) เนื่องจากประชาชน 10 ล้านคนในระบบประกันสังคม ซึ่งส่วนมากเป็นคนจนแต่ขยันทำงานเป็นลูกจ้าง ต้องจ่ายเงินตนเองเข้าสู่ระบบประกันสังคมทุกเดือนจึงจะได้รับสิทธิในการรักษา (ประกันสุขภาพ) ในขณะที่ประชาชนในระบบ 30 บาทนั้นมีทั้งคนจนและคนไม่จน แต่กลับได้รับการประกันสุขภาพฟรี โดยไม่ต้องรับผิดชอบในพฤติกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาพหรือป้องกันโรคใด ๆ รวมทั้งไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เลย ส่วนข้าราชการนั้นเป็นผู้เสียสละทำงานเพื่อบริการประชาชน จึงสมควรได้รับสิทธิสวัสดิการข้าราชการ เหมือนกับข้าราชการ (พนักงานของรัฐ) ในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก

รวมทั้งการแก้ไของค์ประกอบคณะกรรมการ และการให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว เพื่อลดการใช้บริการที่เกินความจำเป็น และลดอัตราการเจ็บป่วยให้น้อยลง ฉะนั้น การจะแก้ไขวิธีการดำเนินการใด ๆ ในระบบ 30 บาท สิ่งสำคัญอันดับแรกก็คือ รัฐบาลจะต้องไปพิจารณาทบทวนแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.. 2545 ก่อน และสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนที่จะทำการใด ๆ ก็คือ ต้องตรวจสอบว่า ในปัจจุบันนี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ดำเนินการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถูกต้องตามที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือไม่/อย่างไร มีการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนของกรรมการ อนุกรรมการ เจ้าหน้าที่ของ สปสช. หรือไม่/อย่างไร จึงทำให้โรงพยาบาลที่ต้องรับรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาท ต้องประสบปัญหาการขาดทุนจนเกือบจะล้มละลายเป็นจำนวนมากมายหลายร้อยแห่ง และมาตรฐานการแพทย์ตกต่ำจนทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนเพิ่มขึ้น และยุติปัญหานั้นโดยทันที
แต่ในขณะเดียวกัน งบประมาณค่าเหมาจ่ายรายหัวในระบบ 30 บาท ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พ.ศ. 2545-2554 (จาก 27,612 ล้านบาท ไปเป็น 101,057 ล้านบาท) เพิ่มเฉลี่ยปีละ26.6% และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมากกว่าที่ Organization for Economic Co-operation Development (OECD) ได้แนะนำไว้ว่างบประมาณด้านสุขภาพทั้งหมดของประเทศไม่ควรเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 4.7 ต่อปี
ซึ่งถ้าไม่มีการแก้ไขการบริหารจัดการของกองทุนหลักประกันสุขภาพ 30 บาทให้เหมาะสม/ถูกต้อง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดูแล สร้างเสริม ป้องกัน และรักษาสุขภาพตนเองแล้วก็จะทำให้รัฐบาลไม่มีเงินจ่ายภายในไม่กี่ปีข้างหน้า หรือต้องมีการเพิ่มการเก็บภาษีจากประชาชนทุกคนเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก เพื่อให้มีเงินเพียงพอในระบบ 30 บาท เพื่อให้สามารถรักษาคุณภาพมาตรฐานการแพทย์ได้

2. การแก้ไขการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข จะเห็นได้ว่ากระทรวงสาธารณสุขมีภาระหน้าที่ตามที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กระทรวงสาธารณสุขมีภาระหน้าที่ในการสร้างเสริมสุขภาพอนามัย การป้องกัน การควบคุมและรักษาโรคภัย การฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชน และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข
แต่กระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงเดียวที่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณโดยตรงในการดำเนินงานตามภารกิจหน้าที่ดังกล่าวแล้ว แม้แต่เงินเดือนข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งงบประมาณในการพัฒนาอาคารสถานที่ การซ่อมบำรุง และการจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์และเวชภัณฑ์ ก็ถูกจัดส่งไปให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นตัวกลางในการจ่ายเงินให้กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ก็ยัง “ลุแก่อำนาจในการที่มีเงินอยู่ในมือ” เพื่อที่จะ “สั่งการ” ให้กระทรวงสาธารณสุขทำตามระเบียบและกฎเกณฑ์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่กำหนดขึ้นตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ และระเบียบการจัดสรรงบประมาณเหล่านี้ก็เปลี่ยนไปทุกปี โดยที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เคยรับเอาความคิดเห็นจากข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขไปพิจารณาดำเนินการ เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณในการให้บริการประชาชนอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพตามความจำเป็นของกระทรวงแต่อย่างใด

กระทรวงสาธารณสุขจึงตกเป็นลูกไก่ในกำมือของ สปสช. จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด หรืออาจจะเปรียบได้ว่า
กระทรวงสาธารณสุขนั้นมีสภาพเหมือน “เป็ดง่อย” กล่าวคือ ไม่มีงบประมาณในการทำงาน ไม่สามารถทำแผนการหรือกำหนดยุทธศาสตร์ในการทำงานใด ๆ ได้เอง

กระทรวงสาธารณสุขนั้น นอกจากจะถูกคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ สปสช. “สั่งการ” แล้ว ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขยังมีรัฐมนตรีที่ “เลือกเข้าข้าง” แนวทางการดำเนินงานของ สปสช. และบีบบังคับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขให้ทำตาม “ประกาศิต” ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ สปสช. ถ้าข้าราชการคนไหนไม่ทำตามก็จะถูก “เด้ง” ออกจากตำแหน่ง เหมือนกับเป็นรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมือง ไม่ใช่มาจากผู้หวังดีต่อบ้านเมืองในยุค คสช. เลย ดังที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.บัญชา ค้าของ ผู้อำนวยการกลุ่มประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ถูก “เด้ง” ออกจากตำแหน่งไปเรียบร้อยแล้ว
นอกจากการขาดแคลนงบประมาณและการขาดแคลน “อิสรภาพ” ในการบริหารงานของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว กระทรวงสาธารณสุขยังไม่สามารถจัดสรรตำแหน่งและอัตรากำลังของข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เหมาะสมกับปริมาณงานและคุณภาพมาตรฐานของงานอีกด้วย โดยไปผูกติดอยู่ใต้บังคับบัญชาของ ก.พ. มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล จากผู้ป่วยที่รับเข้ารักษาปีละ 80 ล้านครั้ง ไปเป็นปีละ 170 ล้านครั้งในรอบ 10 ปีที่เริ่มระบบ 30 บาท (เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า)
ถ้าจะเปรียบเทียบให้ คสช. ซึ่งเป็นทหารเข้าใจสภาพ “เป็ดง่อย” ของกระทรวงสาธารณสุข ก็ต้องเปรียบเทียบว่า ถ้ากระทรวงสาธารณสุขเป็นกองทัพ ก็ไม่สามารถเกณฑ์ทหารเอง (ต้องไปอ้อนวอนขอตำแหน่งจาก ก.พ.) ไม่สามารถที่จะของบประมาณได้เอง (ต้องผ่านBroker คือ สปสช.) และไม่สามารถกำหนดยุทธวิธีในการรบกับข้าศึกได้เอง (ต้องรอระเบียบจาก สปสช.)
ฉะนั้น วิธีการแก้ไขปัญหาในระบบหลักประกันสุขภาพและการให้บริการสาธารณสุข หรือจะเรียกให้เหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบันว่า “การปฏิรูประบบสาธารณสุขและการปฏิรูปการประกันสุขภาพ” หรือเรียกให้สั้น ๆ ในภาษาอังกฤษว่า “Healthcare Reform” นั้น จะต้องเริ่มจากการแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.. 2545 เพื่อมิให้กฎหมายนี้เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการบริหารจัดการด้านการประกันสุขภาพ และต้องจัดสรรงบประมาณและบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขให้เหมาะสม เพียงพอต่อการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพมาตรฐานเพื่อความสะดวกและปลอดภัยต่อประชาชน และทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี เป็นทรัพยากรบุคคลที่แข็งแรงเพื่อที่จะช่วยสร้างสรรค์จรรโลงประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป

ถ้าไม่มีการแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และไม่มีการแก้ไขกระบวนการบริหารจัดการกระทรวงสาธารณสุขให้ถูกต้องเหมาะสมตามแนวทางบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีแล้ว อนาคตมาตรฐานการแพทย์ไทยก็คงจะมืดมนและน่าห่วงใยว่าจะถอยหลังไปอยู่ในระดับท้ายสุดของอาเซียนอย่างแน่นอน

 

เอกสารอ้างอิง

  1. http://www.thairath.co.th/content/493578 โยกเกษม เขี่ยบัญชา พ้น ผอ.ประกันสุขภาพ

  2. http://www.komchadluek.net/detail/20141211/197545.html สปสช.ยัน ร.พ.ขาดทุนไม่เกี่ยวกับงบบัตรทอง

  3. http://www.tannetwork.tv/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000030491 ๓๐ บาทรักษาได้ทุกโรค กำลังเป็นยาเสพติดเกินขนาดของสังคมไทยและทางแก้ไข

  4. https://www.facebook.com/apiwat.mutirangura/posts/10200281519038858:0 แก้ปัญหาโครงการประชานิยม 30 บาทก่อนชาติจะล่ม

  5. http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9580000031341 “บิ๊กตู่” สั่งเอง ตั้ง กก.สอบ “กองทุน 30 บาทรักษาทุกโรค” ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือไม่