ประสิทธิภาพกรดโฟลิกป้องกันสโตรคในผู้ใหญ่ความดันสูง

ประสิทธิภาพกรดโฟลิกป้องกันสโตรคในผู้ใหญ่ความดันสูง

JAMA. 2015;313(13):1325-1335.

บทความเรื่อง Efficacy of Folic Acid Therapy in Primary Prevention of Stroke Among Adults with Hypertension in China รายงานว่า ข้อมูลที่จำกัดและไม่ชัดเจนทำให้ยังไม่สามารถสรุปประสิทธิภาพของกรดโฟลิกสำหรับใช้ป้องกันสโตรค การศึกษานี้จึงได้ทดสอบสมมติฐานว่าการรักษาด้วย enalapril และกรดโฟลิกมีประสิทธิภาพลดการเกิดสโตรคครั้งแรกดีกว่าการรักษาด้วย enalapril ในชาวจีนวัยผู้ใหญ่ซึ่งเป็นความดันโลหิตสูง

การศึกษา China Stroke Primary Prevention Trial มีขึ้นระหว่างวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 2008 ถึงวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 2013 ของโรงพยาบาล 32 แห่งในมณฑลเจียงซูและอานฮุยของจีน โดยศึกษาจากผู้ใหญ่ 20,702 คนซึ่งเป็นความดันโลหิตสูงแต่ไม่มีประวัติสโตรคหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย กลุ่มตัวอย่างซึ่งแบ่งชั้นตาม MTHFR C677T genotypes (CC, CT และ TT) ได้รับการรักษาด้วยยา combination แบบยารับประทานของ enalapril 10 มิลลิกรัม และกรดโฟลิก 0.8 มิลลิกรัม (n = 10,348) หรือ enalapril 10 มิลลิกรัมอย่างเดียว (n = 10,354) ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ การเกิดสโตรคครั้งแรก และผลลัพธ์รอง ได้แก่ การเกิดหลอดเลือดสมองตีบครั้งแรก หลอดเลือดสมองแตกครั้งแรก กล้ามเนื้อหัวใจตาย การตายทุกสาเหตุ และผลรวมของเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดประกอบด้วยการตายเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย และสโตรค

ระหว่างมัธยฐานการรักษา 4.5 ปี พบว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ enalapril อย่างเดียวแล้ว กลุ่มที่ได้รับ enalapril-folic acid มีความเสี่ยงที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญสำหรับการเกิดสโตรคครั้งแรก (2.7% ของกลุ่มตัวอย่างในกลุ่มที่ได้รับ enalapril-folic acid vs 3.4% ในกลุ่มที่ได้รับ enalapril อย่างเดียว; hazard ratio [HR] 0.79; 95% CI 0.68-0.93), หลอดเลือดสมองตีบครั้งแรก (2.2% ในกลุ่มที่ได้รับ enalapril-folic acid vs 2.8% ในกลุ่มที่ได้รับ enalapril อย่างเดียว; HR 0.76; 95% CI 0.64-0.91) และผลรวมของเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดประกอบด้วยการตายเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย และสโตรค (3.1% ในกลุ่มที่ได้รับ enalapril-folic acid vs 3.9% ในกลุ่มที่ได้รับ enalapril อย่างเดียว; HR 0.80; 95% CI 0.69-0.92) ขณะที่ความเสี่ยงต่อหลอดเลือดสมองแตก (HR 0.93; 95% CI 0.65-1.34), กล้ามเนื้อหัวใจตาย (HR 1.04; 95% CI 0.60-1.82) และการตายทุกสาเหตุ (HR 0.94; 95% CI 0.81-1.10) ไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างทั้งสองกลุ่ม และไม่พบความต่างที่มีนัยสำคัญระหว่างทั้งสองกลุ่มด้านความถี่ของการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

การรักษาด้วย enalapril ร่วมกับกรดโฟลิกสามารถลดความเสี่ยงการเกิดสโตรคครั้งแรกได้อย่างมีนัยสำคัญในชาวจีนวัยผู้ใหญ่ที่มีความดันโลหิตสูงแต่ไม่มีประวัติสโตรคหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเมื่อเทียบกับการรักษาด้วย enalapril อย่างเดียว ซึ่งข้อมูลนี้สอดคล้องกับประโยชน์จากการใช้โฟเลตในผู้ใหญ่ที่เป็นความดันโลหิตสูงและมีระดับโฟเลตต่ำ