การทำงานของต่อมไทรอยด์ และความเสี่ยงหัวใจขาดเลือด
JAMA Intern Med. Published online April 20, 2015.
บทความเรื่อง Thyroid Function within the Normal Range and Risk of Coronary Heart Disease: An Individual Participant Data Analysis of 14 Cohorts รายงานว่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเสนอแนะให้พิจารณาว่าระดับ serum thyrotropin ที่ส่วนบนของค่าอ้างอิงในปัจจุบันเป็นภาวะผิดปกติ ซึ่งหากยึดตามแนวทางนี้ก็อาจเป็นผลให้ผู้ที่ถือว่ามีภาวะ mild hypothyroidism มีมากขึ้น และแม้ผลกระทบต่อสุขภาพจากระดับ thyrotropin ดังกล่าวยังไม่มีข้อมูลชัดเจน แต่มีหลักฐานว่าระดับ thyrotropin ที่ส่วนบนของค่าอ้างอิงอาจสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อโรคหัวใจขาดเลือด
การศึกษานี้ได้ประเมินความสัมพันธ์ระหว่างความแตกต่างด้านการทำงานของต่อมไทรอยด์ภายในค่าอ้างอิงและความเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือด โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 14 กลุ่มซึ่งวัดค่าพื้นฐานระหว่างเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1972 ถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2002 และมีมัธยฐานการติดตามระหว่าง 3.3-20.0 ปี กลุ่มตัวอย่างจำนวน 55,412 ราย มีระดับ serum thyrotropin ระหว่าง 0.45-4.49 mIU/L และไม่มีประวัติโรคไทรอยด์ หรือโรคหัวใจและหลอดเลือดที่พื้นฐาน
ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ hazard ratios (HRs) ของการตายเนื่องจากหัวใจขาดเลือดและเหตุการณ์ของหัวใจขาดเลือดตามระดับ thyrotropin ภายหลังปรับตามอายุ เพศ และการสูบบุหรี่
จากกลุ่มตัวอย่าง 55,412 ราย พบว่า 1,813 ราย (3.3%) เสียชีวิตเนื่องจากโรคหัวใจขาดเลือดระหว่าง 643,183 person-years ของการติดตาม ในกลุ่มตัวอย่าง 10 กลุ่มที่มีข้อมูลทั้งเหตุการณ์ของโรคหัวใจขาดเลือดที่ถึงแก่ชีวิตและไม่ถึงแก่ชีวิตพบว่า 4,666 ราย จาก 48,875 ราย (9.5%) เกิดเหตุการณ์ของโรคหัวใจขาดเลือดครั้งแรกระหว่าง 533,408 person-years ของการติดตาม สำหรับทุก 1-mIU/L ที่สูงขึ้นของระดับ thyrotropin มี HR เท่ากับ 0.97 (95% CI 0.90-1.04) สำหรับการเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด และ 1.00 (95% CI 0.97-1.03) สำหรับการเกิดเหตุการณ์ของโรคหัวใจขาดเลือดครั้งแรก สอดคล้องกับการวิเคราะห์ตามระดับของ thyrotropin ซึ่งพบว่า HRs สำหรับการเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด (0.94 [95% CI 0.74-1.20]) และเหตุการณ์ของโรคหัวใจขาดเลือด (0.97 [95% CI 0.83-1.13]) ใกล้เคียงกันในกลุ่มที่มี thyrotropin ในระดับสูงสุด (3.50-4.49 mIU/L) เทียบกับต่ำสุด (0.45-1.49 mIU/L) โดยผลการวิเคราะห์กลุ่มย่อยตามเพศและอายุก็ได้ผลลัพธ์สอดคล้องกัน
ระดับของ thyrotropin ภายในค่าอ้างอิงไม่สัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ของโรคหัวใจขาดเลือดหรือการเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด ผลลัพธ์นี้เสนอแนะว่าความต่างด้านการทำงานของต่อมไทรอยด์ภายในค่าอ้างอิงไม่มีผลต่อความเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อโรคหัวใจขาดเลือดไม่น่าจะเป็นเหตุผลสำหรับการลดค่าอ้างอิงของระดับ thyrotropin