การรักษาเสริมด้วย Prednisone ในผู้ป่วย Community-Acquired Pneumonia

การรักษาเสริมด้วย Prednisone ในผู้ป่วย Community-Acquired Pneumonia

Lancet. 2015;385(9977):1511-1518.

บทความเรื่อง Adjunct Prednisone Therapy for Patients with Community-Acquired Pneumonia: A Multicentre, Double-Blind, Randomised, Placebo-Controlled Trial รายงานว่า ข้อมูลจากการศึกษาทางคลินิกยังคงไม่มีข้อสรุปแน่ชัดเกี่ยวกับประโยชน์ของการเพิ่ม systemic corticosteroids ในการรักษาปอดอักเสบชุมชน นักวิจัยจึงได้ประเมินผลการรักษาด้วย corticosteroid ระยะสั้นต่อการร่นระยะเวลาจนถึงมีอาการดีขึ้นในผู้ป่วยที่รับเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากโรคปอดอักเสบชุมชน

การศึกษาได้รวบรวมผู้ป่วยปอดอักเสบชุมชนซึ่งมีอายุ 18 ปี หรือมากกว่าจากโรงพยาบาลตติยภูมิ 7 แห่งในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ภายใน 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่มาโรงพยาบาล โดยสุ่มให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วย prednisone 50 มิลลิกรัม วันละครั้งเป็นเวลา 7 วัน หรือได้รับยาหลอก ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ ระยะเวลาจนถึงอาการดีขึ้นประเมินจากเวลา (วัน) จนกว่าที่จะมีสัญญาณชีพคงที่อย่างน้อย 24 ชั่วโมง และวิเคราะห์แบบ intention-to-treat

จากวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2009 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 2014 มีผู้ป่วย 785 รายจาก 2,911 ราย ได้รับ prednisone (n = 392) หรือได้รับยาหลอก (n = 393) มัธยฐานเวลาจนถึงเมื่อมีอาการดีขึ้นสั้นกว่าในกลุ่มที่ได้รับ prednisone (3.0 วัน, IQR 2.5-3.4) เทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (4.4 วัน, 4.0-5.0; hazard ratio [HR] 1.33, 95% CI 1.15-1.50, p < 0.0001) ภาวะแทรกซ้อนจากปอดอักเสบจนถึง 30 วันไม่ต่างกันระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม (11 ราย [3%] ในกลุ่มที่ได้รับ prednisone และ 22 ราย [6%] ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก; odds ratio [OR] 0.49 [95% CI 0.23-1.02]; p = 0.056) กลุ่มที่ได้รับ prednisone มีอุบัติการณ์ที่สูงกว่าของภาวะน้ำตาลสูงในเลือดซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยอินซูลิน (76 [19%] vs 43 [11%]; OR 1.96, 95% CI 1.31-2.93, p = 0.0010) อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่นจากการใช้ corticosteroid พบได้น้อยและใกล้เคียงกันในทั้งสองกลุ่ม

การรักษาด้วย prednisone เป็นเวลา 7 วันในผู้ป่วยปอดอักเสบชุมชนที่รับเข้ารักษายังโรงพยาบาลสามารถร่นระยะเวลาที่ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นโดยไม่ทำให้ภาวะแทรกซ้อนสูงขึ้น ซึ่งผลลัพธ์นี้มีนัยเกี่ยวข้องกับมุมมองผู้ป่วย และเป็นปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดต้นทุนและประสิทธิภาพของโรงพยาบาล