นพ.อดินันท์ กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี นำโรงพยาบาลก้าวไกลสู่เป้าหมาย Digital Hospital
โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของผู้บริหารเครือโรงพยาบาลสมิติเวชที่ต้องการสร้างโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานรองรับการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ย่านฝั่งธนบุรี เพื่อรองรับการขยายตัวของประชากร โดยนอกเหนือจากการให้บริการด้านสุขภาพทั่วไปแล้ว ปัจจุบันโรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี ยังเป็นโรงพยาบาลที่มุ่งพัฒนาความเป็นเลิศทางการแพทย์และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น สถาบันเต้านมสมิติเวช ให้การดูแลเต้านมอย่างครบวงจร, ศูนย์กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ ให้การรักษาโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ, ศูนย์จักษุกรรมและเลสิก ให้การรักษาโรคทางตา และการแก้ไขปัญหาสายตาด้วย Femto LASIK ที่แม่นยำ รวมถึงมีการจัดตั้งสถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวช ให้การวินิจฉัย ค้นหาสาเหตุ และรักษาโรคภูมิแพ้ต่าง ๆ
นพ.อดินันท์ กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี เปิดเผยถึงวิสัยทัศน์ของโรงพยาบาล และการดำเนินการรักษาผู้ป่วยทางการแพทย์ หลังจากที่เข้ามาบริหารและจัดการพัฒนาโรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ที่เริ่มจากการปรับปรุงโครงสร้างอาคาร ห้องการแพทย์ พื้นที่เพื่อการบริการรักษาให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการก้าวสู่ฐานะ Digital Hospital ที่ได้มาตรฐานสามารถรองรับผู้เข้ามาใช้บริการย่านฝั่งธนบุรีได้อย่างเต็มรูปแบบที่คาดว่าจะครบถ้วนทั้งหมดภายในเดือนกรกฎาคมนี้
ด้วยวิสัยทัศน์ 3 ส่วนหลัก เพื่อก้าวสู่โรงพยาบาลดิจิตอล ครบถ้วนด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในทุกส่วนงานบริการ ดังนั้น เป้าหมายในการปรับเปลี่ยนรูปแบบ (Transformation) ที่รับตรงจากเครือข่ายโรงพยาบาลแม่ต้นแบบคือ โรงพยาบาลกรุงเทพส่วนหนึ่งแล้ว การดำเนินการใน 3 หลักการปรับเปลี่ยนรูปแบบยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย
1. Fiscal Transformation ที่เป็นส่วนงานของอาคารสถานที่ห้องบริการการแพทย์ ส่วนโครงสร้างหลักของตัวอาคารและพื้นที่ใช้งานภายในบริเวณโรงพยาบาล
2. Medical Transformation ที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการให้การรักษาทางการแพทย์ การนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการรักษาพยาบาล การนำเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยเข้ามาใช้สนับสนุนการรักษาและการทำงานของคณะแพทย์ให้แก่ผู้ป่วย การเพิ่มผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาทำงานด้านการวิจัย วิเคราะห์ และแก้ไขโรคเฉพาะทางต่าง ๆ
3. Service Transformation การเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ในการเข้ารับการรักษาพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการกรอกเอกสารและประวัติเพื่อรับบริการอีกต่อไป เพียงยื่นบัตรประชาชนและเอกสารทั้งหมดจะประมวลนำเข้าสู่ระบบดิจิตอล เป็นการบริหารจัดการข้อมูลแบบไร้กระดาษ (Paperless) ทำให้ผู้ป่วยมีเวลาในการพบแพทย์ได้มากขึ้น เพราะไม่ต้องเสียเวลาไปกับการกรอกเอกสารการเจ็บป่วยที่ส่วนงานทะเบียนเหมือนเช่นในอดีต
โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี ตั้งเป้าหมายของการเป็นโรงพยาบาลดิจิตอล หรืออินโนเวชั่น เฮลธ์แคร์ ที่ทันสมัยสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน มีการลงทุนใหม่ในส่วนของระบบไอทีเพื่อให้สร้างโครงข่ายที่จะเข้ามาสนับสนุนการทำงานทั้งด้านการบริการและการจัดการทางการแพทย์และเครื่องมือในการรักษาพยาบาลต่าง ๆ ดังนั้น การลงทุนด้านไอทีช่วงแรกใช้เงินลงทุนประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อพัฒนาและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาติดตั้งและกำหนดใช้ได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ด้วยความร่วมมือกับหลากหลายบริษัทไอทีเพื่อทำการติดตั้งระบบฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เครือข่ายต่าง ๆ และหนึ่งในระบบไอที ได้มอบหมายให้บริษัท ฟูจิตสึ ซีสเต็ม บีสซีเนส (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาติดตั้งและวางระบบเซิร์ฟเวอร์ อุปกรณ์สแกนนิ้วมือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมไอทีที่จะเข้ามาสนับสนุนการเป็นโรงพยาบาลดิจิตอลเช่นกัน
นพ.อดินันท์ กล่าวถึงประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัยและระบบไอทีที่มีประสิทธิภาพมาประยุกต์ใช้งานว่า ช่วยยกระดับการให้บริการสุขภาพของโรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี ได้อย่างมาก ทั้งประโยชน์ต่อผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล และบุคลากร รวมถึงโรงพยาบาลเอง ซึ่งในแง่ของผู้ป่วยและผู้เข้าใช้บริการจะได้รับบริการที่รวดเร็วขึ้น เพราะข้อมูลเวชระเบียน ฟิล์มเอกซเรย์ และข้อมูลการตรวจจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ เป็นข้อมูลดิจิตอลทั้งหมด ซึ่งแพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยสามารถเรียกดูได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ผู้ป่วยก็ไม่จำเป็นต้องมีเวชระเบียนในรูปแบบกระดาษอีกต่อไป ขณะเดียวกันผู้ป่วยก็สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้ป่วยของโรงพยาบาลจะมี username และ password เพื่อให้สามารถล็อกอินเข้ามาดูข้อมูลสุขภาพเบื้องต้นของตนเองผ่านเว็บไซต์ของโรงพยาบาลได้ แพทย์เจ้าของไข้เองก็ได้รับประโยชน์จากระบบไอทีที่ทันสมัยภายในโรงพยาบาล เซิร์ฟเวอร์รุ่นใหม่ประสิทธิภาพสูง ช่วยให้การใช้งานแอพพลิเคชั่นทางการแพทย์และการเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์สามารถทำได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยได้ถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็วขึ้น เมื่อโรงพยาบาลมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีข้อมูลการรักษาผู้ป่วยที่ทันสมัย และสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว ทำให้โรงพยาบาลสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลและต่อยอดไปสู่โรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ง่ายยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น การจัดตั้งสถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวช สถาบันเต้านมสมิติเวช ศูนย์กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ และศูนย์จักษุกรรมและเลสิก หากปราศจากระบบไอทีที่มีประสิทธิภาพ การรวบรวมและประมวลผลข้อมูลการรักษาและงานวิจัยทางการแพทย์จำนวนมหาศาลคงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลามาก
“การนำระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมไอทีมาใช้ปรับเปลี่ยนและสนับสนุนการรักษาพยาบาลทางการแพทย์นั้น มีส่วนช่วยในเรื่องลดทอนระยะเวลาในการรับการรักษาให้สั้นลง มีความถูกต้องแม่นยำ รวมทั้งช่วยให้บุคลากร คณะแพทย์ พยาบาล และผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคต่าง ๆ สามารถได้รับข้อมูลผู้ป่วย ความคืบหน้าของการรักษา ความรวดเร็วในการอ่านผลการรักษา ซึ่งในปัจจุบันคุณหมอสามารถอ่านฟิล์มเอกซเรย์ของผู้ป่วยได้ในทุกเวลา ทุกสถานที่ด้วยระบบ Teleradiology ทำให้สะดวกในการรักษาพยาบาลเบื้องต้นได้อย่างดี ทั้งนี้สำหรับผู้ป่วยเองยังสามารถเช็กประวัติข้อมูลการรักษาของตนเองผ่านรหัสส่วนตัว (passcode) ที่ได้รับจากทางโรงพยาบาลได้อีกด้วย”
นพ.อดินันท์ ยังกล่าวต่อถึงสิ่งที่ได้ทำตั้งแต่เริ่มปรับปรุงและเพิ่มเติมสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดในรูปแบบของการ Transformation ตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เพื่อต้องการให้บริการรักษาประชาชนย่านฝั่งธนบุรีทำได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเมื่อนึกถึงโรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี จะนึกถึงความโดดเด่นในเรื่องของการรักษาพยาบาล การเป็นสถาบันการแพทย์ ประกอบด้วย 1. สถาบันเต้านมสมิติเวช 2. ศูนย์จักษุกรรมและเลสิก ให้บริการแก้ไขสายตาด้วยนวัตกรรมเลสิก (LASIK) การผ่าตัดไร้ใบมีดหรือเทคโนโลยี Femto LASIK ปลอดภัยต่อดวงตาด้วยเลเซอร์ทุกขั้นตอน 3. ศูนย์กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ เป็นศูนย์ข้อเทียมครบวงจร 4. สถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวช
ปัจจุบันโรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี สามารถรองรับผู้ป่วยในได้สูงถึง 150 เตียง มีห้องตรวจผู้ป่วยนอกสูงถึง 62 ห้อง แบ่งแยกเป็นศูนย์คลินิกทางการแพทย์ต่าง ๆ มากมายครบวงจร 17 ศูนย์ และมีแพทย์คอยดูแลผู้ป่วยทั้งสิ้น 250 ท่าน ซึ่งทางโรงพยาบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนา 1. มาตรฐานการรักษา 2. ปรับปรุงอาคารสถานที่เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี 3. ปรับปรุงดูแลเรื่องของการแพทย์ 4. ปรับปรุงในเรื่องการให้บริการเพื่อยกระดับคุณภาพของการบริการ เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำในย่านฝั่งธนบุรี นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีเพื่อการรักษาอื่นพร้อมให้บริการด้วย อาทิ MRI, CT Scan, เครื่อง Digital Mammogram (เครื่องตรวจหามะเร็งเต้านม) เครื่อง X-ray ชนิด Fluoroscope รวมไปถึงศูนย์หัวใจที่มีเครื่อง Echocardiogram และเครื่อง Exercise Street Test
Kiralık bahis siteleri