ส่วนสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจ
N Engl J Med 2015;372:1608-1618.
บทความเรื่อง Genetically Determined Height and Coronary Artery Disease รายงานว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับกลไกและความสัมพันธ์แบบกลับระหว่างส่วนสูงวัยผู้ใหญ่และความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ (CAD)
การศึกษานี้ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างส่วนสูงและ CAD โดยใช้ genetic variants ที่สัมพันธ์กับส่วนสูง 180 ตัว โดยทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของส่วนสูงตามกรรมพันธุ์ที่เท่ากับ 1 SD (6.5 เซนติเมตร) กับความเสี่ยง CAD ในผู้ป่วย 65,066 ราย และกลุ่มควบคุม 128,383 ราย การศึกษายังได้ประเมินความเสี่ยง CAD ที่สัมพันธ์กับจำนวน alleles ที่เกี่ยวข้องกับส่วนสูงโดยใช้ข้อมูล genotype ระดับบุคคลจากกลุ่มตัวอย่าง 18,249 ราย ทั้งนี้ในการระบุกลไกที่เกี่ยวข้องได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนสูงตามกรรมพันธุ์กับปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด และวิเคราะห์ pathway ของยีนที่มีบทบาทต่อส่วนสูง
จากการศึกษาพบการเพิ่มขึ้น 13.5% (95% confidence interval [CI], 5.4-22.1; p < 0.001) ในความเสี่ยง CAD ต่อ 1-SD ที่ลดลงของส่วนสูงตามกรรมพันธุ์ และพบความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนตัวแปรเพิ่มส่วนสูงที่มากขึ้นและความเสี่ยงที่ต่ำลงต่อ CAD (odds ratio for height quartile 4 versus quartile 1, 0.74; 95% CI 0.68- 0.84; p < 0.001) และจากปัจจัยเสี่ยงที่ศึกษาทั้ง 12 ตัวพบความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญเฉพาะระดับ low-density lipoprotein cholesterol และ triglycerides (มีผลประมาณ 30% ของความสัมพันธ์) นอกจากนี้ยังพบ pathway ที่เกี่ยวข้องกับยีนซึ่งมีบทบาททั้งด้านพัฒนาการและโรคหลอดเลือดแดงแข็งทับซ้อนกัน
จากการศึกษาพบความสัมพันธ์ระหว่างส่วนสูงตามกรรมพันธุ์ที่น้อยกว่าและความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อ CAD ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากความสัมพันธ์ระหว่างส่วนสูงที่น้อยกว่าและระดับไขมันที่ไม่ดี และกระบวนการทางชีววิทยาที่กำหนดส่วนสูงและการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งอาจมีผลต่อความสัมพันธ์ดังกล่าว