ผลการรักษาอย่างเข้มงวดต่อการผ่าตัดตาในเบาหวานชนิดที่ 1
N Engl J Med 2015;372:1722-1733.
บทความเรื่อง Intensive Diabetes Therapy and Ocular Surgery in Type 1 Diabetes อ้างถึงผลการศึกษา Diabetes Control and Complications Trial (DCCT) โดยชี้ว่าพบประโยชน์ของการควบคุมน้ำตาลอย่างเข้มงวดเป็นระยะเวลา 6.5 ปี ต่อภาวะเบาหวานขึ้นจอตาในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1
ระหว่างปี ค.ศ. 1983-1989 มีผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 รวม 1,441 รายในการศึกษา DCCT ได้รับการสุ่มเป็นกลุ่มควบคุมน้ำตาลอย่างเข้มงวดหรือกลุ่มรักษามาตรฐานซึ่งมีเป้าหมายเพื่อป้องกันอาการจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ผู้ป่วยได้รับการรักษาและติดตามจนถึงปี ค.ศ. 1993 จากนั้นได้ติดตามผู้ป่วย 1,375 รายต่อในการศึกษา Epidemiology of Diabetes Interventions and Complications (EDIC) โดยประเมินประวัติการผ่าตัดตาเป็นรายปี นอกจากนี้ยังได้ประเมินผลของการรักษาอย่างเข้มงวดเทียบกับการรักษามาตรฐานต่ออุบัติการณ์และค่าใช้จ่ายด้านการผ่าตัดตาในทั้งสองการศึกษา
ตลอดมัธยฐานการติดตาม 23 ปี พบการผ่าตัด 130 ครั้งในผู้ป่วย 63 รายจาก 711 รายในกลุ่มที่ควบคุมน้ำตาลอย่างเข้มงวด (8.9%) และ 189 ครั้งใน 98 รายจาก 730 รายในกลุ่มรักษามาตรฐาน (13.4%) (p < 0.001) ภายหลังปรับตามปัจจัยพื้นฐานของการศึกษา DCCT พบว่า การควบคุมน้ำตาลอย่างเข้มงวดสัมพันธ์กับความเสี่ยงของการผ่าตัดตาเนื่องจากเบาหวานที่ลดลง 48% (95% confidence interval [CI] 29-63; p < 0.001) และความเสี่ยงต่อการผ่าตัดตาทั้งหมดที่ลดลง 37% (95% CI 12-55; p = 0.01) ผู้ป่วย 42 รายซึ่งได้รับการรักษาอย่างเข้มงวดและ 61 รายซึ่งได้รับการรักษามาตรฐานได้ลอกต้อกระจก (adjusted risk reduction จากการรักษาอย่างเข้มงวด 48%; 95% CI 23-65; p = 0.002) โดยผู้ป่วย 29 รายซึ่งได้รับการรักษาอย่างเข้มงวดและ 50 รายซึ่งได้รับการรักษามาตรฐานได้ทำ vitrectomy หรือ retinal-detachment surgery หรือทั้งสองอย่าง (adjusted risk reduction 45%; 95% CI 12-66; p = 0.01) กลุ่มที่รักษาอย่างเข้มงวดมีค่าใช้จ่ายการผ่าตัดที่ต่ำกว่า 32% และพบด้วยว่า ประโยชน์ของการควบคุมน้ำตาลอย่างเข้มงวดอ่อนลงภายหลังการปรับค่าเฉลี่ย glycated hemoglobin ตลอดการติดตามทั้งหมด
การควบคุมน้ำตาลอย่างเข้มงวดในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 สัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการผ่าตัดตาในระยะยาวที่ต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ