ผู้สูงอายุไทย สูงวัยอย่างทรงพลัง
ในช่วงเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สถานการณ์ทางประชากรของประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราเพิ่มของประชากรผู้สูงอายุเร็วกว่าประชากรในวัยอื่น ๆ ทั้งหมด ทำให้ในปี พ.ศ. 2568 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว คาดว่าจะมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 14 ล้านคน โดยผลสำรวจล่าสุดพบว่ามีผู้สูงอายุกว่า 1 ล้านคนที่สุขภาพไม่ดี นอนติดเตียง ต้องพึ่งคนอื่นดูแล และมีแนวโน้มที่ผู้สูงอายุจะต้องอยู่ลำพัง ไร้ลูกหลานดูแลเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุของการเพิ่มจำนวนประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วนี้ เป็นเพราะภาวะเจริญพันธุ์ที่เคยสูงในอดีต ทำให้ประชากรในรุ่นที่เคยเป็นเด็กซึ่งเกิดมาเป็นจำนวนมากในอดีตค่อย ๆ ทยอยเข้าสู่วัยแรงงานและวัยผู้สูงอายุในที่สุด
เมื่อพิจารณาอัตราส่วนทางเพศของประชากรในประเทศไทยจะพบว่า อัตราส่วนทางเพศเมื่อแรกเกิดจะมีเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง แต่ในกลุ่มผู้สูงอายุกลับพบว่ามีผู้สูงอายุเพศหญิงมากกว่าเพศชาย สะท้อนถึงอัตราการตายที่สูงกว่าของประชากรเพศชาย นอกจากนี้ปัญหาสำคัญที่ผู้สูงอายุไทยประสบคือ ปัญหาทางเศรษฐกิจและสุขภาพ เกือบครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุมีรายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ 2 ใน 3 มีสุขภาพอยู่ในระดับปานกลางถึงไม่ดีมาก เพราะการที่ประชากรไทยมีอายุยืนยาวขึ้นก็ไม่ได้หมายถึงประชากรผู้สูงอายุมีสุขภาพดีขึ้น แต่ดูเหมือนว่าช่วงชีวิตที่ยืนยาวขึ้นนั้นจะเป็นช่วงชีวิตที่มีการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับด้วย
โดยโรคที่เป็นกันมากในกลุ่มผู้สูงอายุคือ ปวดหลัง ปวดเอว ไขข้ออักเสบ ความดันโลหิตสูง โรคกระเพาะ โรคหัวใจ อีกทั้งยังพบว่าภาวะการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุนี้เป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพได้ ประเด็นหนึ่งที่มักจะมีการพูดถึงกันบ่อยด้วยความห่วงใยคือ เรื่องของการที่ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง แต่ประเทศไทยยังโชคดีเนื่องจากสถาบันครอบครัวยังคงเป็นสถาบันหลักในการเกื้อหนุนผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุที่มีบุตรส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่กับบุตร มีเพียงร้อยละ 2 ของผู้สูงอายุที่มีบุตรแต่อยู่คนเดียว อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าผู้สูงอายุเหล่านี้ยังได้รับการเยี่ยมเยียนจากบุตรเสมอ มีผู้สูงอายุไทยจำนวนไม่มากนักที่ถูกทอดทิ้งจากครอบครัวหรือญาติพี่น้อง แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจ เพราะภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจในปัจจุบันอาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถของครอบครัวในการเกื้อหนุนผู้สูงอายุได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุเป็นประเด็นหนึ่งที่น่าห่วงใย ทำอย่างไรจึงจะให้ประชากรที่มีอายุยืนยาวขึ้นมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นภาระของบุตรหลาน ช่วยเหลือตนเองได้ต่อไป
รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สังคมไทยในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงและก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริการทุก ๆ ด้านที่จะเปลี่ยนแปลงไปทั้งเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา รวมทั้งการสาธารณสุขและการแพทย์ โดยจะมีผู้สูงอายุที่ต้องการบริการและการดูแลมากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุก็ยังจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในอนาคตทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม การศึกษา
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล็งเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงในอนาคตอันใกล้นี้ จึงได้มุ่งพัฒนาและการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ดังจะเห็นได้จากการจัดการประชุมวิชาการแห่งชาติด้านสูงวัยและผู้สูงอายุ ครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2550 ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2553 และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22-24 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา เพื่อติดตามความก้าวหน้าของความรู้ความเข้าใจด้านการแพทย์ สังคมศาสตร์ และการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ ผลงานศึกษาวิจัย ประสบการณ์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการปรับปรุงบริการและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้ดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพให้มากที่สุด พร้อมทั้งส่งเสริมการดูแลผู้สูงอายุอย่างครบถ้วนในระดับนานาชาติ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรี สังคมยอมรับในระดับนานาชาติ และเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
“การจัดการประชุมวิชาการแห่งชาติด้านสูงวัยและผู้สูงอายุติดต่อกัน 3 ครั้ง แสดงถึงความมุ่งมั่นของเราที่จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญของประเทศในอนาคต ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมน่าจะมีบทบาทที่จะช่วยกันในเรื่องนี้ ในฐานะที่เราเป็นผู้ดูแลทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข และเรื่องอื่น ๆ เช่น เรื่องทางสังคม เศรษฐกิจ เป็นต้น จึงอยากจะสร้างความตระหนักให้สังคมเห็นถึงความสำคัญของสังคมผู้สูงอายุในอนาคต ซึ่งจะนำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการรับมือและพัฒนาสังคมผู้สูงอายุต่อไป” รศ.นพ.โศภณ กล่าว
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีประชากรผู้สูงอายุถึงร้อยละ 15.9 ของประชากรทั้งประเทศ และประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น โดยผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 72 ปี ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 78.6 ปี จากแนวโน้มของกลุ่มผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น นำมาซึ่งภาวะเสี่ยงและปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการเจ็บป่วยด้วยโรคกระดูกและข้อ โรคทางตา และอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย
ไม่เพียงเท่านั้น จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2557 ยังระบุว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 10,014,699 คน และมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 500,000 คน โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 95 มีโรคเรื้อรังประจำตัว โรคที่เกิดจากความชรา หรือปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยเฉพาะโรคซึมเศร้า และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2568 ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Ageing Society) มีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ จึงต้องเร่งเตรียมการรองรับเพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขในครอบครัว
กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญต่อการพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริ และโครงการเฉลิมพระเกียรติ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ และขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลภายใต้กรอบแนวคิด “ลดความเหลื่อมล้ำ ค้ำจุนกัน สร้างสรรค์สังคม” โดยมีนโยบายการพัฒนาระบบบริการสำหรับผู้สูงอายุ ระบบการสร้างเสริมสุขภาพและการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ และผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง รวมทั้งผู้ป่วยในระยะท้ายของชีวิต ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม มีความต่อเนื่องอย่างยั่งยืน เน้นการทำงานเชิงบูรณาการกับทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ได้จัดทำแผนบูรณาการพัฒนาสุขภาพกลุ่มวัยผู้สูงอายุ พ.ศ. 2558-2567 (10 ปี) โดยมียุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน คือ 1. สนับสนุนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุโดยระบบคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ มีระบบฐานข้อมูลที่ดี 2. การพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพเชื่อมโยงจากสถานบริการสู่ชุมชน และ 3. พัฒนาการมีส่วนร่วมของสถานพยาบาล ครอบครัว ชุมชนและท้องถิ่น ซึ่งมีการดำเนินงานและบริการที่สำคัญสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ การตรวจคัดกรองและการตรวจประเมินสุขภาพ การประยุกต์ใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานในการดูแลสุขภาพ การสร้างและพัฒนาทีมผู้จัดการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager), ผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care giver), ทีมหมอครอบครัว (Family Care Team) จัดให้มีหน่วยดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care Unit) และการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน การพัฒนาความร่วมมือในกลุ่มประเทศอาเซียนให้มีความเชี่ยวชาญหรือความเป็นเลิศด้านผู้สูงอายุ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดทักษะ ประสบการณ์และเทคโนโลยีด้านผู้สูงอายุให้แก่ประเทศสมาชิกในอาเซียน และประเทศอื่น ๆ ต่อไป
ผศ.ดร.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ประเด็นผู้สูงอายุ มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้น สัดส่วนของเด็กน้อยลง ซึ่งเป็นปกติของประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้ว ถ้าประเทศใดไม่มีการเตรียมความพร้อมจะเกิดปัญหาตามมาอย่างมาก ทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การประกอบอาชีพ การดูแลรักษาพยาบาล เป็นต้น แต่สำหรับประเทศที่มีการเตรียมความพร้อมอย่างดีตั้งแต่ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางประชากร แทนที่จะเป็นปัญหาก็จะกลายเป็นพลังทางบวก โดยผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยสามารถที่จะทำประโยชน์และมีบทบาทต่าง ๆ ในสังคม
การดูแลผู้สูงอายุจึงต้องเป็นการมองในมิติที่หลากหลาย เพราะชีวิตของผู้สูงวัยแต่ละคนมีมิติหลากหลายคาบเกี่ยวกัน ทั้งด้านสุขภาพอนามัย จิตใจ ศรัทธาความเชื่อ สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การสื่อสาร เทคโนโลยี การดูแลการใช้ชีวิต การอยู่อาศัย และสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันมีผลงานด้านวิชาการและงานวิจัยที่โดดเด่น ตัวอย่างจริงจากชุมชนและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ของประเทศไทย รวมทั้งบทเรียนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งประเทศที่มีความก้าวหน้าและประสบการณ์การเป็นสังคมสูงวัย เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งแสดงให้เห็นแนวทางการพัฒนาสังคมสูงวัยในประเทศและในอาเซียนที่จะนำไปสู่อาเซียนสูงวัยอย่างทรงพลัง
“ประเทศไทยสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำเสนอต้นแบบด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นต้นแบบที่เป็นรูปธรรมและสะท้อนให้เห็นว่าในประเทศไทยและอาเซียนมีความก้าวหน้าและนวัตกรรมที่ต้องสนับสนุนให้ขยายผลและพัฒนาเพิ่มเติมต่อไป เช่น ต้นแบบด้านการดูแลรักษาพยาบาลแบบรอบด้าน อาคารที่อยู่อาศัย ระบบสวัสดิการในอนาคต ผู้สูงอายุเป็นอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ การส่งเสริมพลังใจ ต้นแบบชุมชนดูแลผู้สูงอายุ และเทคโนโลยีเอื้อความสะดวกกับชีวิตประจำวัน เป็นต้น” ผศ.ดร.วีรสิทธิ์ กล่าว
ผศ.ดร.วีรสิทธิ์ ยังได้เน้นย้ำถึงหลักการดูแลรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ 1. มองผู้สูงอายุเป็นศูนย์กลาง สร้างการแพทย์แบบมนุษยธรรม มนุษยสัมพันธ์ และปฏิสัมพันธ์ เนื่องจากผู้สูงอายุจะมีลักษณะนิสัยเหมือนเด็กคือ มีจิตใจอ่อนแอ น้อยใจง่าย และมีความกังวล ถ้าไม่สร้างมนุษยธรรม มนุษยสัมพันธ์ และปฏิสัมพันธ์กับผู้สูงอายุ การดูแลรักษาพยาบาลก็จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร 2. มองรูปแบบแนวทางการบริการรักษาสุขภาพแบบนอกกรอบ นำการดูแลรักษาพยาบาลผู้สูงอายุไปถึงที่บ้าน ถึงในชุมชน เพื่อที่ผู้สูงอายุจะได้ไม่ต้องเดินทาง เพราะในการเดินทางแน่นอนว่ามีความยากลำบาก เสี่ยงอุบัติเหตุ และเสียค่าใช้จ่าย และ 3. สร้างศักยภาพของผู้สูงอายุให้รู้จักในการป้องกันโรคและสร้างเสริมสุขภาพอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาทางการแพทย์ได้ในอนาคต
“ประเทศไทยมีอัตราผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ภายใน 5-10 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นสังคมสูงวัย ดังนั้น เราต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อม ดูแลให้ครบทุกมิติ มีตัวอย่างให้เห็นว่าแนวทางการพัฒนาสังคมสูงวัยควรจะเป็นอย่างไร คาดหวังอยากให้สังคมสูงวัยของประเทศไทยเป็นผู้สูงอายุที่ทรงพลัง อยู่ในสังคมสูงวัยที่มีความพร้อมของการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทั้งทางกาย ใจ เศรษฐกิจ สังคม ทั้งผู้สูงอายุที่มีความพร้อม ยังสามารถช่วยสังคมและประกอบการงานอาชีพได้อยู่ และผู้สูงอายุที่ต้องได้รับความช่วยเหลือซึ่งก็ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างยั่งยืน เพื่อให้พึ่งตนเองได้ ไม่ใช่เป็นการสงเคราะห์หยิบยื่นในแต่ละครั้งไป” ผศ.ดร.วีรสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย