ไทรอยด์ผิดปกติไม่มีอาการและความเสี่ยงกระดูกหัก

ไทรอยด์ผิดปกติไม่มีอาการและความเสี่ยงกระดูกหัก

JAMA. 2015;313(20):2055-2065.

บทความเรื่อง Subclinical Thyroid Dysfunction and Fracture Risk: A Meta-analysis รายงานว่า ความสัมพันธ์ระหว่างความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ที่ไม่มีอาการและกระดูกหักยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน การศึกษานี้จึงได้ประเมินความสัมพันธ์ระหว่างไทรอยด์ผิดปกติที่ไม่มีอาการและกระดูกหักของสะโพก กระดูกสันหลัง ตำแหน่งอื่นนอกเหนือจากกระดูกสันหลัง หรือที่ตำแหน่งใดก็ตาม

ข้อมูลในการศึกษารวบรวมจากฐานข้อมูล MEDLINE และ EMBASE (ถึงวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 2015) โดยรวบรวมการศึกษา prospective cohort study 13 การศึกษาซึ่งมีข้อมูลการทำงานของต่อมไทรอยด์และกระดูกหักในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ระดับการทำงานของต่อมไทรอยด์จำแนกเป็น euthyroidism (thyroid-stimulating hormone [TSH] 0.45-4.49 mIU/L), subclinical hyperthyroidism (TSH < 0.45 mIU/L) และ subclinical hypothyroidism (TSH ≥ 4.50-19.99 mIU/L) โดยมี thyroxine concentrations ปกติ ผลลัพธ์หลักในการศึกษา ได้แก่ กระดูกสะโพกหัก และผลลัพธ์รอง ได้แก่ กระดูกหักที่ตำแหน่งใด ๆ กระดูกหักที่ตำแหน่งอื่นนอกเหนือจากกระดูกสันหลัง และกระดูกสันหลังหัก

จากกลุ่มตัวอย่าง 70,298 ราย พบว่า 4,092 ราย (5.8%) เป็น subclinical hypothyroidism และ 2,219 ราย (3.2%) เป็น subclinical hyperthyroidism ระหว่าง 762,401 person-years ของการติดตามพบกระดูกสะโพกหักใน 2,975 ราย (4.6%; 12 การศึกษา), กระดูกหักที่ตำแหน่งใด ๆ ใน 2,528 ราย (9.0%; 8 การศึกษา), กระดูกหักที่ตำแหน่งอื่นนอกเหนือจากกระดูกสันหลังใน 2,018 ราย (8.4%; 8 การศึกษา) และกระดูกสันหลังหักใน296 ราย (1.3%; 6 การศึกษา) จากการวิเคราะห์ปรับตามอายุและเพศพบว่า hazard ratio (HR) สำหรับ subclinical hyperthyroidism vs euthyroidism เท่ากับ 1.36 สำหรับกระดูกสะโพกหัก (95% CI 1.13-1.64; 146 เหตุการณ์ใน 2,082 ราย vs 2,534 รายใน 56,471 ราย) สำหรับกระดูกหักที่ตำแหน่งใด ๆ พบว่า HR เท่ากับ 1.28 (95% CI 1.06-1.53; 121 เหตุการณ์ใน 888 ราย vs 2,203 รายใน 25,901 ราย) สำหรับกระดูกหักที่ตำแหน่งอื่นนอกเหนือจากกระดูกสันหลังมี HR เท่ากับ 1.16 (95% CI 0.95-1.41; 107 เหตุการณ์ใน 946 ราย vs 1,745 รายใน 21,722 ราย) และสำหรับกระดูกสันหลังหักมี HR เท่ากับ 1.51 (95% CI 0.93-2.45; 17 เหตุการณ์ใน 732 ราย vs 255 รายใน 20,328 ราย) และพบว่า TSH ที่ต่ำกว่าสัมพันธ์กับอัตรากระดูกหักที่สูงกว่า โดย TSH ที่ต่ำกว่า 0.10 mIU/L มี HR เท่ากับ 1.61 สำหรับกระดูกสะโพกหัก (95% CI 1.21-2.15; 47 เหตุการณ์ใน 510 ราย); สำหรับกระดูกหักที่ตำแหน่งใด ๆ มี HR เท่ากับ 1.98 (95% CI 1.41-2.78; 44 เหตุการณ์ใน 212 ราย); สำหรับกระดูกหักที่ตำแหน่งอื่นนอกเหนือจากกระดูกสันหลังมี HR เท่ากับ 1.61 (95% CI 0.96-2.71; 32 เหตุการณ์ใน 185 ราย) และสำหรับกระดูกสะโพกหักมี HR เท่ากับ 3.57 (95% CI 1.88-6.78; 8 เหตุการณ์ใน 162 ราย) ความเสี่ยงใกล้เคียงกันหลังปรับปัจจัยเสี่ยงกระดูกหักตัวอื่น จากการศึกษาพบว่า endogenous subclinical hyperthyroidism (ตัดกลุ่มที่ได้ยาไทรอยด์ออก) สัมพันธ์กับ HRs ที่เท่ากับ 1.52 (95% CI 1.19-1.93) สำหรับกระดูกสะโพกหัก, 1.42 (95% CI 1.16-1.74) สำหรับกระดูกหักที่ตำแหน่งใด ๆ และ 1.74 (95% CI 1.01-2.99) สำหรับกระดูกสันหลังหัก และไม่พบความสัมพันธ์ระหว่าง subclinical hypothyroidism และความเสี่ยงกระดูกหัก

ข้อมูลจากการศึกษาชี้ว่า subclinical hyperthyroidism สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อกระดูกสะโพกหักและกระดูกหักที่ตำแหน่งอื่นโดยเฉพาะผู้ที่มีระดับ TSH ต่ำกว่า 0.10 mIU/L และผู้ที่เป็น endogenous subclinical hyperthyroidism ทั้งนี้ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อประเมินว่าการรักษา subclinical hyperthyroidism สามารถป้องกันกระดูกหักได้หรือไม่