เสริม Isoflavone ต่อการทำงานของปอด และผลลัพธ์ทางคลินิกในผู้ป่วยหอบหืด
JAMA. 2015;313(20):2033-2043.
บทความเรื่อง Effect of a Soy Isoflavone Supplement on Lung Function and Clinical Outcomes in Patients with Poorly Controlled Asthma: A Randomized Clinical Trial รายงานว่า soy isoflavone มีการใช้กันแพร่หลายเพื่อรักษาโรคเรื้อรังแม้มีข้อมูลสนับสนุนจำกัด โดยบางข้อมูลเสนอว่าการเสริม soy isoflavone อาจเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยหอบหืดที่ควบคุมโรคได้ไม่ดี
การศึกษาได้ประเมินผลของการเสริม soy isoflavone เพื่อเพิ่มการควบคุมหอบหืดในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่ควบคุมโรคได้ไม่ดี โดยศึกษาจากโรงพยาบาลโรคทางเดินหายใจและภูมิแพ้ 19 แห่งในเครือข่าย American Lung Association Asthma Clinical Research Centers ระหว่างเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2010 ถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2012 ในผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปี รวม 386 ราย ซึ่งยังคงอาการของหอบหืดแม้ได้รับยาควบคุมและรับประทานถั่วเหลืองน้อย และผู้ป่วย 345 ราย (89%) ได้ตรวจสมรรถภาพปอดที่ 24 สัปดาห์
กลุ่มตัวอย่างได้รับการเสริม soy isoflavone ซึ่งมี 100 มิลลิกรัมของ total isoflavones (n = 193) หรือยาหลอก (n = 193) วันละครั้งเป็นเวลา 24 สัปดาห์ ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของปริมาตรอากาศที่หายใจออกในหนึ่งวินาที (FEV1) ที่ 24 สัปดาห์ ผลลัพธ์รอง ได้แก่ อาการ การเกิดอาการหอบหืด คะแนน Asthma Control Test score (พิสัย 5-25 โดยคะแนนที่สูงกว่าชี้ว่ามีการควบคุมที่ดีกว่า) ตลอดจน systemic และ airway biomarkers ของการอักเสบ
ความแตกต่างก่อน-หลังของค่าเฉลี่ย FEV1 ก่อนให้ยาขยายหลอดลมตลอด 24 สัปดาห์เท่ากับ 0.03 ลิตร (95% CI -0.01 to 0.08 L) ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก และ 0.01 ลิตร (95% CI -0.07 to 0.07 L) ในกลุ่มที่ได้รับ soy isoflavone ซึ่งไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p = 0.36) ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนอาการตาม Asthma Control Test (placebo 1.98 [95% CI 1.42-2.54] vs soy isoflavones, 2.20 [95% CI 1.53-2.87] โดยค่าเป็นบวกชี้ว่ามีอาการลดลง), จำนวนครั้งที่มีอาการหอบหืด placebo, 3.3 [95% CI 2.7-4.1] vs soy isoflavones, 3.0 [95% CI 2.4-3.7]) และความแตกต่างของ exhaled nitric oxide (placebo -3.48 ppb [95% CI -5.99 to -0.97 ppb] vs soy isoflavones, 1.39 ppb [95% CI -1.73 to 4.51 ppb]) ไม่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการเสริม soy isoflavone เทียบกับยาหลอก ค่าเฉลี่ย plasma genistein เพิ่มขึ้นจาก 4.87 นาโนกรัม/มิลลิลิตร เป็น 37.67 นาโนกรัม/มิลลิลิตร (p < 0.001) ในกลุ่มที่เสริม soy isoflavone
ข้อมูลจากผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีซึ่งควบคุมโรคหอบหืดได้ไม่ดีแม้ได้รับยาชี้ว่า การเสริม soy isoflavone เมื่อเทียบกับยาหลอกแล้วไม่ได้ช่วยให้การทำงานของปอดหรือผลลัพธ์ทางคลินิกดีขึ้น จึงไม่แนะนำให้ใช้ soy isoflavone สำหรับผู้ป่วยที่ควบคุมหอบหืดได้ไม่ดี