ป้องกัน Cognitive Decline ในผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยง
Lancet. 2015;385(9984):2255-2263.
บทความเรื่อง A 2 Year Multidomain Intervention of Diet, Exercise, Cognitive Training, and Vascular Risk Monitoring Versus Control to Prevent Cognitive Decline in At-Risk Elderly People (FINGER): A Randomised Controlled Trial รายงานว่า ข้อมูลการศึกษาแบบ observational study ได้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเสี่ยงด้านหลอดเลือดและรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ปรับได้สัมพันธ์กับความเสี่ยงสมองเสื่อม ซึ่งการศึกษา Finnish Geriatric Intervention Study to Prevent Cognitive Impairment and Disability (FINGER) นี้ได้ประเมินการใช้แนวทางหลายสาขาเพื่อป้องกัน cognitive decline ในผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยง
กลุ่มตัวอย่างเป็นประชากรอายุ 60-77 ปี โดยมีเกณฑ์การรวบรวม ได้แก่ คะแนน CAIDE (Cardiovascular Risk Factors, Aging and Dementia) Dementia Risk Score อย่างน้อย 6 คะแนน และการรับรู้ที่อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยประเมินตามอายุหรือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยเล็กน้อย การศึกษาได้สุ่มกลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มได้รับแทรกแซงหลายสาขา (อาหาร ออกกำลังกาย ฝึกการรู้คิด ติดตามความเสี่ยงด้านหลอดเลือด) หรือกลุ่มควบคุม (ให้คำแนะนำด้านสุขภาพทั่วไป) ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ ความต่างของการรู้คิดประเมินจากคะแนน neuropsychological test battery (NTB) Z score และวิเคราะห์แบบ modified intention to treat (ผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมดที่ประเมินอย่างน้อยหนึ่งครั้งนับจากพื้นฐาน)
ระหว่างวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 2009 ถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 2011 มีผู้ได้รับการตรวจคัดกรอง 2,654 ราย และได้สุ่มให้ 1,260 รายอยู่ในกลุ่มทดลอง (n = 631) หรือกลุ่มควบคุม (n = 629) โดย 591 ราย (94%) ในกลุ่มทดลองและ 599 ราย (95%) ในกลุ่มควบคุมได้รับการประเมินหลังพื้นฐานอย่างน้อย 1 ครั้ง และรวมอยู่ใน modified intention-to-treat analysis ความแตกต่างก่อน-หลังของค่าเฉลี่ยคะแนน NTB total Z score ที่ 2 ปีเท่ากับ 0.20 (SE 0.02, SD 0.51) ในกลุ่มทดลอง และ 0.16 (0.01, 0.51) ในกลุ่มควบคุม ความต่างระหว่างทั้ง 2 กลุ่มด้านการเปลี่ยนแปลงของคะแนน NTB total score ต่อปีเท่ากับ 0.022 (95% CI 0.002-0.042, p = 0.030) และโดยรวมมีผู้ถอนตัวจากการศึกษา 153 ราย (12%) เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์พบใน 46 ราย (7%) ในกลุ่มทดลองเทียบกับ 6 ราย (1%) ในกลุ่มควบคุม โดยพบอาการปวดกล้ามเนื้อมากที่สุด (32 ราย [5%] ในกลุ่มทดลอง vs ไม่พบในกลุ่มควบคุม)
ข้อมูลจากการศึกษานี้เสนอว่าการรักษาร่วมกันหลายสาขาอาจเพิ่มหรือคงการทำงานของสมองในผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงได้