ตึกผู้ป่วยพิเศษในโรงพยาบาลรัฐ
ผมคิด เขียน พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ (ทำให้โรงพยาบาลรัฐบาลมีเตียงที่รับผู้ป่วยพิเศษ) มาตั้งแต่ก่อนที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จะเกิดคลินิกนอกเวลาเสียอีก ผมไม่ได้คิดถึงระเบียบก่อนว่าโรงพยาบาลรัฐจะมีคลินิกนอกเวลา มีการรับผู้ป่วยพิเศษ (เสียเงิน) ได้หรือไม่ เวลาผมจะคิดจะพยายามคิดนอกกรอบก่อน แล้วจึงมาดูกรอบ กฎหมาย ระเบียบ ว่าทำได้หรือไม่ ถ้าคิดเฉพาะในกรอบก่อนทุกเรื่องก็จะไม่เกิดความคิดที่สร้างสรรค์ ผมมักจะคิด พูด เขียน จากสามัญสำนึกก่อน
เราควรที่จะมีตึกที่จะรับผู้ป่วยพิเศษ ผู้ป่วยจำนวนมากยินดีมาพบแพทย์แบบผู้ป่วยพิเศษที่โรงพยาบาลรัฐ ผมคุยกับหลาย ๆ คนรวมทั้งเพื่อนผมที่เคยเป็นรองอธิบดีกรมบัญชีกลางว่าทำได้ไหม ทุก ๆ คนอยากเข้าที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศิริราช รามาธิบดี ฯลฯ มากกว่าที่จะไปโรงพยาบาลเอกชน ถ้าโรงพยาบาลรัฐเหล่านี้มีระบบรองรับที่ดี มีคุณภาพ รวดเร็ว บุคลากรทางการแพทย์ยิ้มแย้มแจ่มใส มีบริการที่ดี และค่าใช้จ่ายถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชน
ทำไมผู้บริหารของโรงพยาบาลรัฐจึงใช้เวลาคิดนานมาก บางแห่งเริ่มทำ หลายแห่งยังไม่ได้เริ่มทำ ถ้ากฎไม่อนุญาตให้ทำได้ รัฐบาลควรสนับสนุนให้ทำอย่างเป็นทางการ ยังจะดีกว่าให้ผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น เป็นการป้องกันสมองไหล เป็นการหารายได้จากผู้มีฐานะมาช่วยผู้ป่วยที่ด้อยโอกาส แต่เราต้องบริหารจัดการให้ดี โดยที่เราต้องไม่ดูผู้ป่วยพิเศษเท่านั้น และละเลยผู้ป่วยธรรมดา เราต้องหาวิธีบริหารจัดการที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยธรรมดา และทุก ๆ ฝ่าย ที่โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย Leeds สมัยผมเรียน (ค.ศ. 1960-1965) ยังมีตึกหนึ่งเพื่อรับผู้ป่วยพิเศษโดยเฉพาะ
แต่ประเด็นที่สำคัญคือ ค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยพิเศษต้องไม่แพงเกินไป ต้องมีราคาต่ำกว่าโรงพยาบาลเอกชนมาก ๆ อย่าไปคิดแพงเท่าโรงพยาบาลเอกชน และแพทย์ต้องไม่บกพร่องต่อผู้ป่วยทั่ว ๆ ไป
ผมทราบดีว่าค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเอกชนต้องมีราคาแพงกว่าโรงพยาบาลรัฐบาล เพราะมีการลงทุนสร้างตึก ซื้ออุปกรณ์ มีบริการที่รวดเร็ว เงินเดือนบุคลากรแพง แต่ผมก็อยากจะฝากผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนทุกท่านไว้ และเคยได้เรียนผู้บริหารสูงสุดที่โรงพยาบาลกรุงเทพตอนที่ผมเป็นผู้กล่าวขอบคุณแทนคณะนักศึกษาจากสถาบันพระปกเกล้าตอนที่ไปเยี่ยมชมโรงพยาบาลด้วยว่า ขออย่าให้คิดแพงเกินไป ขอให้ถือว่าเป็นน้ำบ่อทราย แพทย์เราเก่งอยู่แล้ว ไม่แพ้ชาติใดในโลก ขอให้มีความดีด้วย ถูกต้องตามวิชาการ จริยธรรม และไม่คิดแพงเกินเหตุ ถ้าทำเช่นนี้ไทยจะเป็น Medical Hub ของชาวโลกตลอดไปอย่างแน่นอน
ผมคิดว่าถ้าโรงพยาบาลรัฐบาลทำอย่างที่ผมคิดได้ เราก็จะแข่งกับโรงพยาบาลของภาคเอกชนได้เป็นอย่างดี ถ้าเราบริการดีจริง ๆ ราคาถูก รวดเร็ว ผมว่าใคร ๆ ก็อยากเข้าที่จุฬาลงกรณ์ ศิริราช รามาธิบดี ฯลฯ มากกว่าไปเอกชน ถ้าโรงพยาบาลรัฐทำได้ดีจริง ๆ ก็จะเป็นการดูแลค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนในทางอ้อม แต่ถึงแม้โรงพยาบาลรัฐทำอย่างนี้ได้จริง โรงพยาบาลเอกชนก็จะยังอยู่ได้ เพราะตลาดยังกว้าง ยังมีผู้ป่วยเยอะมากกว่าความสามารถในการให้บริการ ถ้าโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งที่มีศักยภาพสามารถทำเช่นนี้ได้และทำจริง ๆ โรงพยาบาลเอกชนถึงแม้จะมีผู้ป่วยมาก แต่จะไม่สามารถคิดแพงเกินไปได้ เพราะผู้ป่วยมีทางเลือก ถึงแม้อาจจะมีห้อง สถานที่ไม่พอกับความต้องการของผู้ป่วย แต่ก็ยังเป็นการควบคุมราคาค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนวิธีหนึ่ง
ผมคิด เขียนจากสามัญสำนึก จากความเป็นจริง หลายคนอาจพูดว่าโรงพยาบาลรัฐทำไม่ได้ ผมว่าเราทำได้ และการที่เราทำจะเป็นการช่วยประชาชน ผู้ป่วย ประเทศ ทางอ้อมด้วยซ้ำไป แต่ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมว่าผู้ป่วยต้องมาก่อน และต้องไม่ลืมผู้ป่วยธรรมดา การดูแลผู้ป่วยพิเศษในโรงพยาบาลรัฐจะเป็นการรักษาคุณภาพของการบริการไว้ให้ดี ด้วยการเก็บแพทย์ที่ดีไว้ในโรงพยาบาล เป็นครูแพทย์ ป้องกันสมองไหล เป็นการทำให้ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนไม่สูงเกินไปในทางอ้อม