ความเสี่ยงการเสียชีวิตจากอุณหภูมิที่สูงและต่ำ

ความเสี่ยงการเสียชีวิตจากอุณหภูมิที่สูงและต่ำ

Lancet. Published Online: 20 May 2015.

บทความเรื่อง Mortality Risk Attributable to High and Low Ambient Temperature: A Multicountry Observational Study รายงานว่า การศึกษาการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากสภาพอากาศร้อนหรือเย็นในบางประเทศก่อนหน้านี้ยังไม่ครอบคลุมการประเมินจากประชาชนในสภาพอากาศที่ต่างกัน ซึ่งการศึกษานี้ได้ศึกษาการตายเนื่องจากสภาพอากาศที่ผิดปกติ และอิทธิพลจากสภาพอากาศที่ร้อนและเย็น ตลอดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไม่มากและสภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด

การศึกษารวบรวมข้อมูลจากสถานที่ 384 แห่งในออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สเปน สวีเดน ไต้หวัน ไทย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา และสร้างตัวแบบ standard time-series Poisson model สำหรับแต่ละพื้นที่โดยควบคุมแนวโน้มและวันในสัปดาห์ การศึกษาได้ประมาณความสัมพันธ์ระหว่างสภาพอากาศและอัตราตายด้วยตัวแบบ distributed lag non-linear model (lag 21 วัน) และรวมข้อมูลใน multivariate metaregression ซึ่งรวมตัวบ่งชี้ประเทศ ค่าเฉลี่ย และพิสัยของอุณหภูมิ นอกจากนี้ได้คำนวณการเสียชีวิตจากสภาพอากาศร้อนและเย็นประเมินจากอุณหภูมิที่สูงหรือต่ำกว่าระดับปกติ และการเสียชีวิตจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไม่มากและสภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือเย็นจัดประเมินจากจุดตัดที่ 2.5th และ 97.5th temperature percentiles

การศึกษาได้วิเคราะห์การเสียชีวิต 74,225,200 รายในหลายช่วงเวลาระหว่างปี ค.ศ. 1985-2012 โดยรวมพบว่า 7.71% (95% empirical CI 7.43-7.91) ของอัตราตายมาจากสภาพอากาศที่ผิดปกติในประเทศที่ศึกษา โดยพบความต่างที่ชัดเจนระหว่างแต่ละประเทศตั้งแต่ 3.37% (3.06-3.63) ในประเทศไทยถึง 11.00% (9.29-12.47) ในจีน โดย temperature percentile ของอัตราตายต่ำสุดอยู่ในช่วง 60th percentile ในเขตร้อนถึงประมาณ 80-90th percentile ในเขตอบอุ่น และพบว่าการเสียชีวิตจากสภาพอากาศมักมีสาเหตุจากสภาพอากาศเย็น (7.29%, 7.02-7.49) เทียบกับสภาพอากาศร้อน (0.42%, 0.39-0.44) และสภาพอากาศที่เย็นจัดหรือร้อนจัดเป็นสาเหตุสำหรับ 0.86% (0.84-0.87) ของอัตราตายรวม

การเสียชีวิตจากอุณหภูมิส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากสภาพอากาศเย็น โดยวันที่มีอุณหภูมิสูงหรือต่ำมากมีผลน้อยกว่าสภาพอากาศผิดปกติซึ่งระดับอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงน้อยกว่า หลักฐานนี้มีนัยสำคัญต่อการวางมาตรการสาธารณสุขเพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพจากสภาพอากาศผิดปกติ รวมถึงการทำนายผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในอนาคต