ผลเลิกสูบบุหรี่ต่อการคุมน้ำตาลในเบาหวานชนิดที่ 2
Lancet Diabetes Endocrinol. Published Online: 29 April 2015.
บทความเรื่อง The Association between Smoking Cessation and Glycaemic Control in Patients with Type 2 Diabetes: A THIN Database Cohort Study รายงานว่า การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อย่างไรก็ดี หลายการศึกษาชี้ให้เห็นความเสี่ยงที่สูงขึ้นในผู้ที่เลิกสูบบุหรี่มาแล้ว 3-5 ปี เทียบกับผู้ที่ยังคงสูบบุหรี่ และความเสี่ยงลดลงมาเทียบเท่าผู้ที่ไม่เคยสูบหลังจากเลิกสูบมาแล้ว 10-12 ปี และมีข้อมูลจากการศึกษาขนาดเล็กเสนอว่า การควบคุมโรคเบาหวานเสื่อมลงชั่วคราวระหว่างปีแรกหลังจากเลิกสูบบุหรี่ ผู้วิจัยจึงได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเลิกสูบบุหรี่และการเปลี่ยนแปลงของการควบคุมระดับน้ำตาล ระยะเวลาที่ความสัมพันธ์คงอยู่ รวมถึงอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำหนักตัวต่อความสัมพันธ์ดังกล่าว
ผู้วิจัยศึกษาแบบ retrospective cohort study (วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2005 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2010) ในผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่และมีโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูล The Health Improvement Network (THIN) ของสหราชอาณาจักร และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการเลิกสูบบุหรี่ ระยะเวลาที่ไม่สูบบุหรี่ การเปลี่ยนแปลงของ HbA1c และอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวด้วยตัวแบบ adjusted multilevel regression models
ผู้วิจัยศึกษาจากผู้ใหญ่ 10,692 รายที่สูบบุหรี่และมีโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ผู้ป่วย 3,131 ราย (29%) เลิกสูบบุหรี่และไม่สูบอีกเลยอย่างน้อย 1 ปี หลังจากปรับตัวแปรกวนพบว่า ระดับHbA1c เพิ่มขึ้น 0.21% (95% CI 0.17-0.25; p < 0.001; [2.34 มิลลิโมล/โมล (95% CI 1.91-2.77)]) ภายในปีแรกหลังเลิกสูบบุหรี่ และระดับ HbA1c ลดลงโดยที่ยังคงไม่สูบบุหรี่และเท่ากับผู้ที่ยังคงสูบบุหรี่หลังจาก 3 ปี และการเพิ่มขึ้นของระดับ HbA1c ไม่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว
การเลิกสูบบุหรี่ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สัมพันธ์กับการควบคุมระดับน้ำตาลที่เสื่อมลงเป็นเวลา 3 ปีโดยไม่เชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว ซึ่งระดับน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวอาจส่งผลให้ภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดขนาดเล็กสูงขึ้น