การทำงานของปอดที่นำไปสู่ปอดอุดกั้นเรื้อรัง

การทำงานของปอดที่นำไปสู่ปอดอุดกั้นเรื้อรัง

N Engl J Med 2015;373:111-122.

บทความเรื่อง Lung-Function Trajectories Leading to Chronic Obstructive Pulmonary Disease รายงานว่า โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเชื่อกันว่าเป็นผลจากการเสื่อมลงอย่างรวดเร็วของ forced expiratory volume in 1 second (FEV1) แต่ก็อาจเป็นได้ว่าการเสื่อมลงตามปกติของ FEV1 ก็อาจนำไปสู่โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในผู้ที่ FEV1 ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

การศึกษาได้จำแนกผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม (Framingham Offspring Cohort, Copenhagen City Heart Study และ Lovelace Smokers Cohort) ตามการทำงานของปอด (FEV1 ≥ 80% หรือ < 80% ของค่าพยากรณ์) ที่ระยะเริ่มต้น (ค่าเฉลี่ยอายุผู้ป่วยประมาณ 40 ปี) และการพบหรือไม่พบโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่นัดครั้งสุดท้าย จากนั้นจึงได้ประเมินอัตราการเสื่อมลงของ FEV1 ตามระยะเวลาในกลุ่มตัวอย่างตาม FEV1 ที่ระยะเริ่มต้น และสถานะของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเมื่อสิ้นสุดการศึกษา

จากกลุ่มตัวอย่าง 657 ราย ซึ่งมี FEV1 ต่ำกว่า 80% ของค่าพยากรณ์ก่อนอายุ 40 ปี พบว่า 174 ราย (26%) เกิดปอดอุดกั้นเรื้อรังหลัง 22 ปีของการเฝ้าสังเกตการณ์ ขณะที่ในกลุ่มตัวอย่าง 2207 รายซึ่งมี FEV1 พื้นฐานอย่างน้อย 80% ของค่าพยากรณ์ก่อนอายุ 40 ปี พบว่า 158 ราย (7%) เกิดปอดอุดกั้นเรื้อรังหลัง 22 ปีของการเฝ้าสังเกตการณ์ (p < 0.001) ประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง 332 รายซึ่งเกิดปอดอุดกั้นเรื้อรังเมื่อสิ้นสุดการเฝ้าสังเกตการณ์มี FEV1 เป็นปกติก่อนอายุ 40 ปี และเสื่อมลงอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น โดยมีค่าเฉลี่ย (± SD) ของการเสื่อมลงเท่ากับ 53 ± 21 มิลลิลิตรต่อปี และที่เหลือมีระดับ FEV1 ต่ำในช่วงต้นวัยผู้ใหญ่ และมีค่าเฉลี่ยการเสื่อมลงของ FEV1 หลังจากนั้นเท่ากับ 27 ± 18 มิลลิลิตรต่อปี (p < 0.001) แม้มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไม่ต่างกัน

ข้อมูลจากการศึกษาเสนอแนะว่า ระดับ FEV1 ที่ต่ำในช่วงต้นวัยผู้ใหญ่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และการเสื่อมลงอย่างรวดเร็วของ FEV1 ไม่ได้เชื่อมโยงกับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง