ค่าการพยากรณ์จากแรงบีบมือ
Lancet. 2015;386(9990):266-273.
บทความเรื่อง Prognostic Value of Grip Strength: Findings from the Prospective Urban Rural Epidemiology (PURE) Study รายงานว่า ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อซึ่งประเมินจากแรงบีบมือที่ต่ำลงสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของการตายทุกสาเหตุและการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด การจำแนกความเสี่ยงการตายเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือดตามแรงบีบมือนี้เป็นที่น่าสนใจศึกษาเนื่องจากทำได้ง่าย รวดเร็ว และด้วยต้นทุนที่ต่ำ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับค่าการพยากรณ์ของแรงบีบมือตามจำนวนและพิสัยของประชากรและตัวแปรกวน ในการศึกษานี้ได้ประเมินความสำคัญด้านการพยากรณ์ของการวัดแรงบีบมือในหลายประเทศซึ่งมีแตกต่างกันทั้งด้านสังคม-วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ
การศึกษา Prospective Urban-Rural Epidemiology (PURE) ได้ศึกษาใน 17 ประเทศซึ่งมีเศรษฐกิจและสังคม-วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การศึกษารวบรวมจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งครอบครัวมีสมาชิกอายุระหว่าง 35-70 ปีอย่างน้อยหนึ่งคน และครอบครัวประสงค์จะพำนักในบ้านเลขที่เดิมอีก 4 ปี การศึกษาได้ประเมินแรงบีบมือวัดจาก Jamar dynamometer และระหว่างมัธยฐานการติดตาม 4.0 ปี (IQR 2.9-5.1) ได้ประเมินการตายทุกสาเหตุ, การตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด, การตายด้วยสาเหตุอื่นนอกเหนือจากโรคหัวใจและหลอดเลือด, กล้ามเนื้อหัวใจตาย, สโตรค, เบาหวาน, มะเร็ง, ปอดอักเสบ, เข้าโรงพยาบาลเนื่องจากปอดอักเสบหรือปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD), เข้าโรงพยาบาลเนื่องจากโรคทางเดินหายใจ (รวมถึง COPD, หอบหืด, วัณโรค และปอดอักเสบ), บาดเจ็บเนื่องจากหกล้ม และกระดูกหัก
ระหว่างเดือนมกราคม ค.ศ. 2003 ถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 2009 มีผู้เข้าร่วมในการศึกษา PURE รวม 142,861 ราย โดยวิเคราะห์ข้อมูลจาก 139,691 รายซึ่งยังคงมีชีวิตอยู่ ระหว่างมัธยฐานการติดตาม 4.0 ปี (IQR 2.9-5.1) พบว่า 3,379 ราย (2%) จาก 139,691 รายเสียชีวิต ภายหลังการปรับพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างแรงบีบมือและผลลัพธ์แต่ละด้านยกเว้นโรคมะเร็งและการเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากโรคทางเดินหายใจมีผลใกล้เคียงกันในแต่ละประเทศ แรงบีบมือมีความสัมพันธ์แบบกลับต่อการตายทุกสาเหตุ (hazard ratio ต่อแรงบีบที่ลดลง 5 กิโลกรัมเท่ากับ 1.16, 95% CI 1.13-1.20; p < 0.0001), การตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (1.17, 1.11-1.24; p < 0.0001), การตายด้วยสาเหตุอื่นนอกเหนือจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (1.17, 1.12-1.21; p < 0.0001), กล้ามเนื้อหัวใจตาย (1.07, 1.02-1.11; p = 0.002) และสโตรค (1.09, 1.05-1.15; p < 0.0001) และแรงบีบมือเป็นตัวพยากรณ์การตายทุกสาเหตุและการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เห็นชัดกว่าความดันซิสโตลิก จากการศึกษาไม่พบความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญระหว่างแรงบีบมือและโรคเบาหวาน, ความเสี่ยงการเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากปอดอักเสบหรือ COPD, การบาดเจ็บจากหกล้ม หรือกระดูกหัก ในประเทศรายได้สูงพบว่า ความเสี่ยงต่อมะเร็งและแรงบีบมือมีความสัมพันธ์เป็นบวก (0.916, 0.880-0.953; p < 0.0001) แต่ความสัมพันธ์นี้ไม่พบในประเทศรายได้ปานกลางและรายได้น้อย
การศึกษานี้เสนอแนะว่า การวัดแรงบีบมือเป็นวิธีประเมินความเสี่ยงการตายทุกสาเหตุ, การตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ทำได้ง่ายและมีต้นทุนไม่สูง และควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อระบุปัจจัยกำหนดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมถึงทดสอบว่าการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดการตายและโรคหัวใจและหลอดเลือดได้หรือไม่