จักษุแพทย์พร้อมรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
จัดตั้ง ‘สมาคมจักษุวิทยาในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’
ขับเคลื่อนงานวิชาการ การวิจัย ระดับภูมิภาค
สมาคมจักษุแพทย์ของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ จัดตั้งสมาคมจักษุวิทยาในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Ophthalmology Society) หรือ AOS เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) หรือ AEC ในปี พ.ศ. 2558 และเพื่อร่วมขับเคลื่อนการเป็น Medical Hub ของประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง AOS ประกอบด้วย ความร่วมมือกันในการป้องกันตาบอด การรักษาโรคทางจักษุวิทยาทุกแขนง และการฟื้นฟูการมองเห็นและสุขภาพตาของผู้ป่วยในภูมิภาคผ่านความร่วมมือในงานวิชาการ งานวิจัย การศึกษา และการให้บริการ AOS จะให้การสนับสนุนงานด้านต่าง ๆ เหล่านี้ของสมาคมจักษุแพทย์ในประเทศสมาชิก ผ่านการเผยแพร่ผลงานของจักษุแพทย์อาเซียนในการประชุมวิชาการนานาชาติของ AOS ซึ่งจะจัดมีขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยในปีหน้า และทุก ๆ 2 ปีในอนาคต นอกเหนือจากการประชุมวิชาการดังกล่าว AOS จะสนับสนุนกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในระดับภูมิภาค และจะสนับสนุนความร่วมมือกับองค์กรจักษุแพทย์ในลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรระดับชาติ หรือระดับนานาชาติในภูมิภาคอื่น ๆ อีกด้วย
นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมของประธานและผู้แทนขององค์กรจักษุแพทย์แห่งชาติของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อก่อตั้ง AOS เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นไปด้วยดี ตัวแทนของแต่ละประเทศพร้อมใจกันลงนาม MOU โดยมี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติเดินทางมาเป็นประธาน และสักขีพยาน ซึ่งที่ประชุมได้เห็นพ้องต้องกันในธรรมนูญขององค์กรที่ร่างร่วมกัน และเรื่องอื่น ๆ โดยมีสาระสำคัญคือ
1. ให้ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการของ AOS secretariat ซึ่งได้แก่ สำนักงานของราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
2. ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการครั้งที่ 1 ของ AOS เพื่อเปิดตัวสมาคมอย่างเป็นทางการ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557
3. ให้ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยพิจารณาตั้งประธาน เลขาธิการ เหรัญญิกของ Founding AOS Executive Council เพื่อดำเนินการประชุมวิชาการครั้งที่ 1 โดยมีตัวแทนของประเทศต่าง ๆ ที่มาในวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นสมาชิกของ Council จนมีการประชุม Executive Council กันอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ซึ่งจะเป็นการจัดการร่วมกับการประชุมวิชาการครั้งที่ 33 ของราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
“ตามปกติจักษุแพทย์ส่วนหนึ่งในอาเซียนจะมีการพบปะ ติดต่อ และร่วมประชุมวิชาการกันอยู่บ้างแล้ว และได้มีความคิดสอดคล้องกันว่าอยากจะก่อตั้ง AOS ขึ้น แต่ยังไม่มีประเทศใดเป็นผู้นำในการจัดตั้ง ประกอบกับมีเรื่องของ AEC เข้ามา ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีความพร้อมจึงได้แสดงบทบาทการเป็นผู้นำ เชิญตัวแทนของจักษุแพทย์ในภูมิภาคมาประชุมเพื่อก่อตั้ง AOS ซึ่งจักษุแพทย์ในภูมิภาคต่างก็ขานรับเป็นอย่างดี เรามีตัวแทนที่เป็นประธานองค์กรจักษุแพทย์จากแทบทุกประเทศมาประชุม สำหรับ 3 ประเทศที่ประธานมาไม่ได้ ก็มีการส่งตัวแทนมาอย่างเป็นทางการ แม้แต่บูรไนซึ่งยังไม่มีองค์กรจักษุแพทย์ก็ยังมีตัวแทนมาเข้าร่วมประชุม ที่ประชุมเห็นพ้องกันที่จะผลักดันให้ AOS เป็นองค์กรจักษุแพทย์ที่แข็งแรงที่สุดองค์กรหนึ่ง และให้ไทยเป็นผู้นำในการขับเคลื่อน”
ด้วยจำนวนสมาชิกสมาคมกว่า 4,500 คน จากการรวมตัวของจักษุแพทย์ทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน ประกอบด้วยประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิชาการสูงกว่า เช่น ไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งจะให้การสนับสนุนทางวิชาการแก่ประเทศอื่น ๆ เช่น ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม ในขณะเดียวกันประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิชาการสูงก็จะสามารถจับมือกันเพื่อพัฒนางานทางด้านวิชาการ งานวิจัย ให้ดีเด่นยิ่งขึ้นไปอีก
ในแง่การบริการ แม่แบบของการให้บริการของประเทศใดที่ประสบความสำเร็จจะมีการนำมาประยุกต์ใช้แก่ประเทศอื่นได้ เช่น โครงการป้องกันตาบอดจากโรคเบาหวานของไทย ซึ่งเคยได้รางวัล Public Service Award ขององค์การสหประชาชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2555 ก็สามารถจะถูกนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยเบาหวานสูง เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งให้ความสนใจโครงการนี้เป็นอย่างมาก คาดว่าการรวมตัวของจักษุแพทย์ในอาเซียนจะทำให้งานด้านจักษุวิทยาในทุกภาคส่วนมีความเชื่อมโยงและมีมาตรฐานที่สูงขึ้น
“การจับมือกันในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC แล้ว วัตถุประสงค์สำคัญคือ ช่วยกันทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในแต่ละประเทศดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการมองเห็น ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของจักษุแพทย์”
นพ.ไพศาล กล่าวต่อถึงอุบัติการณ์โรคตาในอาเซียนว่า ยังไม่เคยมีรายงานในภาพรวมของอาเซียน ส่วนในประเทศไทยเคยมีการสำรวจระดับชาติเมื่อปี พ.ศ. 2549-2550 พบว่ามีอัตราตาบอด 0.6% และสายตาเลือนราง 1.6% ใกล้เคียงกับอัตราตาบอดของสากล ซึ่งประเมินโดยองค์การอนามัยโลกว่ามีอัตราตาบอด 0.6% และสายตาเลือนราง 2% ซึ่งเราพยายามจะลดอัตราตาบอดของประเทศให้น้อยลงไปอีก ส่วนประเทศอื่น ๆ เช่น ลาว กัมพูชา พม่า ทราบว่าเคยมีการสำรวจมาบ้าง แต่อาจไม่ใช่ตัวเลขระดับชาติจริง ๆ จึงอาจต้องมีการลงไปช่วยสำรวจ และเชื่อมโยงข้อมูลของแต่ละประเทศเข้าด้วยกัน เพื่อลดอัตราตาบอดของอาเซียนในอนาคต
“เนื่องจากเพิ่งจะจัดตั้ง AOS เพราะฉะนั้นข้อมูลต่าง ๆ คงต้องรอสักระยะหนึ่ง และต้องมาช่วยกันดูทีละเรื่อง เช่น เรื่องป้องกันตาบอด แต่ละประเทศมีอัตราเท่าไร ถ้ายังไม่ทราบก็ต้องมีการลงไปสำรวจ เราเชื่อว่าสาเหตุหลักของตาบอดในประเทศอาเซียนน่าจะเป็นต้อกระจก ซึ่งยังคงเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของบ้านเราอยู่ ทางเราเองก็มีโครงการแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่หลายโครงการ จักษุแพทย์ไทยยังได้เดินทางไปช่วยผ่าตัดต้อกระจกให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านอยู่เรื่อย ๆ ผู้ป่วยในประเทศเพื่อนบ้านได้เดินทางมารับการผ่าตัดที่บ้านเราก็มีอยู่เสมอ ปัจจุบันเรายังให้การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดให้แก่บางประเทศในภูมิภาค ซึ่งเราอาจทำได้มากขึ้นหลังการก่อตั้ง AOS ในอนาคตน่าจะมีการวางแผนแก้ปัญหาร่วมกันได้ นอกจากปัญหาต้อกระจกแล้วยังมีโรคอื่นที่ทำให้ตาบอด เช่น ต้อหิน โรคจอตา เช่น เบาหวานเข้าจอตา จุดภาพชัดบนจอตาเสื่อม โรคกระจกตา และโรคตาบอดในเด็ก เป็นต้น”
สำหรับการแก้ปัญหาตาบอดในประเทศไทย นพ.ไพศาล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้วางนโยบายพร้อมกับการปรับโครงสร้างใหม่ โดยมีการจัดเขตบริการ และมีการใช้ตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับตาบอดโดยเฉพาะ เพื่อให้สอดรับกับโครงการ Vision 2020 ขององค์การอนามัยโลกที่ต้องการแก้ปัญหาตาบอดของโลกให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานภายในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งจักษุแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมกันหลายครั้งเพื่อผลักดันให้มีการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับตัวชี้วัดนี้
ด้านการพัฒนาทางการแพทย์เพื่อการก้าวสู่การเป็นผู้นำในอาเซียน นพ.ไพศาล กล่าวว่า หากมอง 10 ประเทศในอาเซียน สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางการแพทย์ในเชิงวิชาการสูงใกล้เคียงกับเรา แต่ทั้งนี้การเป็นผู้นำควรได้รับการประเมินในหลายแง่มุม ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับสิงคโปร์แล้ว แม้ไทยจะด้อยกว่าในเรื่องของจำนวนผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ แต่ไทยก็มีข้อได้เปรียบอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิศาสตร์ จำนวนประชากร ประสบการณ์การดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีมากกว่ามากจากจำนวนผู้ป่วยที่มากกว่าหลายเท่าตัว
“ถ้าเรื่องของ 'จำนวน' งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ ต้องยอมรับว่าไทยยังตามหลังสิงคโปร์ แต่ในความเป็นจริง จำนวนงานวิจัยที่ว่ามากของสิงคโปร์ก็ผลิตออกมามากจากไม่กี่สถาบันเท่านั้น เขามีสถาบันวิจัยแห่งชาติทางจักษุโดยเฉพาะ ซึ่งเรายังไม่มี เราเสียเปรียบตรงเราเขียนไม่ทัน เขียนได้ช้ากว่า เพราะงานประจำมาก แต่ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยก็ได้วางแผนยุทธศาสตร์ทางงานวิจัยอยู่ ซึ่งคงต้องมาประเมินดูแผนกันเป็นระยะ แต่หากพิจารณาในเชิงคุณภาพ งานวิจัยแต่ละชิ้นของเราที่ได้รับการตีพิมพ์มีคุณภาพไม่ด้อยไปกว่างานวิจัยของทุกประเทศ เราไม่ควรมองสิงคโปร์เป็นคู่แข่ง เราสามารถทำงานวิจัยร่วมกับสิงคโปร์ได้ ซึ่งเราก็ร่วมมือกันมาตลอด AOS จะทำให้เราจับมือกันได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่การเป็นผู้นำของอาเซียนไม่ได้ขึ้นกับงานวิจัยอย่างเดียว ปัจจุบัน เราให้การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดให้แก่บางประเทศในภูมิภาค ซึ่งเราอาจทำได้มากขึ้นหลังการก่อตั้ง AOS การที่เราสามารถก่อตั้ง AOS ก็นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญ หาก AOS เติบโตเป็นองค์กรที่แข็งแกร่ง ทำให้เรามีบทบาทเป็นผู้นำในการประสานงานวิชาการทางจักษุของอาเซียน การยกระดับคุณภาพการดูแลรักษาโรคตาของประเทศอาเซียนให้ดีขึ้น ผมว่าบทบาทตรงนี้ก็สามารถทำให้เราเป็นผู้นำได้”
สำหรับการประชุมวิชาการครั้งที่ 1 ของ AOS เพื่อเปิดตัวสมาคมอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 นพ.ไพศาล กล่าวว่า ถือเป็นการเปิดโอกาสให้จักษุแพทย์ในภูมิภาคอาเซียนที่อาจไม่ค่อยมีโอกาสได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมวิชาการที่ต่างประเทศบ่อยนักมาร่วมประชุมได้ เพราะจะจัดหมุนเวียนกันในประเทศสมาชิก ทำให้จักษุแพทย์เหล่านี้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความก้าวหน้าทางวิชาการที่ทันสมัย โดยไม่ต้องเดินทางไกล หัวข้อการประชุมจะครอบคลุมทั้งเทคโนโลยีหรือวิชาการใหม่ ๆ และหัวข้อทางสาธารณสุข ทางการบริหารจัดการ เช่น การป้องกันตาบอดที่ยังเป็นปัญหาของอาเซียน
“การก่อตั้ง AOS ขึ้นมา เราไม่ได้คิดอยู่ข้างหน้าแค่ปีสองปี เราคิดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว AOS จะต้องเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งเมื่อเข้าสู่ AEC ในปี ค.ศ. 2015 ด้วยแล้ว AOS จะเป็นเวทีให้จักษุแพทย์ในภูมิภาคได้มาช่วยกันมองว่าเราจะช่วยกันพัฒนาวิชาการให้เข้มแข็งขึ้น หรือจับมือกันแก้ปัญหาตาบอดอย่างไร AEC จะเป็นจุดเปลี่ยนและจุดท้าทายสำคัญที่เราน่าจะใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาจักษุวิทยาควบคู่ไปกับที่ระดับรัฐบาลจะใช้เป็นเครื่องมือในการผลักดันเศรษฐกิจให้ก้าวไปข้างหน้า การจับมือร่วมกันเดินไปข้างหน้าของจักษุแพทย์ทั้ง 10 ประเทศจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการพัฒนาจักษุวิทยาในภูมิภาค ซึ่งสุดท้ายแล้วผลประโยชน์ก็จะตกมาอยู่ที่ประชาชน” นพ.ไพศาล กล่าวทิ้งท้าย
นับว่าเป็นครั้งแรกของการร่วมมือในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสมาคมวิชาชีพทางจักษุวิทยา ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้ประกาศขับเคลื่อนและพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ หรือ Medical Hub โดยมุ่งสู่ความเป็นเลิศในการเป็นศูนย์บริการด้านสุขภาพแบบครบวงจร และการเป็นศูนย์พัฒนางานวิชาการด้านการวิจัย และถือเป็นการรองรับการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้มีการเปิดกว้างด้านความร่วมมือของวิชาชีพสาขาต่าง ๆ ในภูมิภาคมากขึ้น