กทม.ชูนวัตกรรม ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เปิดโครงการนำร่องแก่นักเรียนในสังกัด กทม.
เพราะความน่ากลัวของโรคมะเร็งปากมดลูกที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทยเฉลี่ย 14 คนต่อวัน หรือทุก 2 นาที มีผู้หญิงทั่วโลก 1 คนต้องเสียชีวิตจากโรคนี้ และในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นประมาณ 5,000 คน โดยมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทยรองจากมะเร็งเต้านม จึงเป็นภัยร้ายใกล้ตัวผู้หญิงทุกคน ด้วยเหตุนี้กรุงเทพมหานครจึงเปิดโครงการ “การให้บริการวัคซีนป้องกันเอชพีวี (HPV) ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร” ขึ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อเอชพีวีซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก โดยกลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวนกว่า 18,000 คน ใน 438 โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เนื่องจากการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กในช่วงอายุนี้จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้สูงที่สุด โดยเปิดตัวโครงการดังกล่าวที่โรงเรียนวิชากร เขตดินแดง
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า “กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานภาครัฐแห่งแรกในประเทศไทยที่จัดให้มีบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกให้แก่เด็กนักเรียนฟรี จากการศึกษาข้อมูลพบว่า การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวีเป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเป็นการดำเนินการเชิงรุกที่เน้นป้องกันและลดความเสี่ยงตั้งแต่แรกเริ่ม อีกทั้งยังช่วยประหยัดงบประมาณในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในอนาคตอีกด้วย กทม.จึงอยากเชิญชวนให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหันมาให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มากขึ้นเพื่อป้องกันโรคให้แก่ประชาชนและประหยัดงบประมาณเพื่อการรักษาในอนาคต”
ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความสำคัญของการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคว่า “การป้องกันโรคเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเราต้องการประชาชนที่แข็งแรงเพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติในอนาคต ดังตัวอย่างเช่น การฉีดวัคซีนได้ป้องกันชาวโลกจากโรคต่าง ๆ มากมาย อาทิ โรคฝีดาษซึ่งถูกกำจัดหมดไปจากโลกนี้แล้ว โรคโปลิโอซึ่งกำลังจะถูกกำจัดออกไปจากโลกนี้ในลำดับถัดไป เป็นต้น นอกจากนั้นบางโรคที่ยังไม่สามารถกำจัดออกไปโดยเด็ดขาดก็ถูกควบคุมและป้องกันโดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรค อาทิเช่น คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นโอกาสดีของเด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครที่จะได้รับการป้องกันตัวเองจากโรคมะเร็งปากมดลูก”
รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ หัวหน้าสาขาวิชามะเร็งนรีเวชวิทยา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเลขาธิการสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่า “ในปีหนึ่ง ๆ พบว่ามีสตรีป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกทั่วโลก ทั้ง ๆ ที่เป็นมะเร็งที่ตรวจพบง่ายและสามารถป้องกันได้ อันดับแรกคือ ลดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย หรือการตั้งครรภ์เมื่ออายุน้อย การมีคู่นอนหลายคน สองคือ การตรวจคัดกรองมะเร็ง เช่น การตรวจแปปสเมียร์ ซึ่งเป็นการตรวจสอบเซลล์บริเวณปากมดลูกเพื่อหาเซลล์ที่ผิดปกติ และสุดท้าย การฉีดวัคซีนป้องกันเอชพีวี ซึ่งหากจะฉีดวัคซีนให้ได้ผลและเกิดประโยชน์มากที่สุดนั้น ควรฉีดก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก”
นางจุฑาภัค มีฉลาด ผู้อำนวยการโรงเรียนวิชากร ซึ่งเป็นโรงเรียนที่กรุงเทพมหานครเปิดตัวโครงการการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันเอชพีวี กล่าวว่า “นับว่าเป็นความโชคดีของโรงเรียนและเด็ก ๆ ที่ได้รับโอกาสนี้จากกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเรามีการสอนเรื่องเพศศึกษาและการปฏิบัติตัวที่ดีเพื่อป้องกันตัวเองจากภัยและโรคอันตรายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะโรคมะเร็งปากมดลูกซึ่งเกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี เมื่อมีวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ เราก็อยากจะให้เด็กของเราเข้าถึงได้ จึงรู้สึกขอบคุณกรุงเทพมหานครมากที่จัดโครงการนี้ขึ้นมา เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในอนาคตทั้งตัวเด็กเอง ผู้ปกครอง สังคม และประเทศชาติ”
ด.ญ.พลอยไพริน ทันการ นักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หนึ่งในนักเรียนที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเอชพีวี ณ โรงเรียนวิชากร แสดงความรู้สึกต่อโครงการนี้ว่า “มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่อันตรายมาก คุณพ่อและคุณแม่ดีใจมากที่หนูจะได้รับวัคซีนป้องกันเอชพีวีฟรี เพราะถ้าไปฉีดข้างนอก คุณพ่อและคุณแม่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายพันบาท หนูไม่กลัวเข็ม แต่กลัวการเจ็บป่วยที่ทรมาน หนูอยากมีร่างกายแข็งแรงเพื่อทำอะไรดี ๆ ในวันข้างหน้าให้แก่คุณพ่อและคุณแม่ และประเทศไทยค่ะ ขอบคุณกรุงเทพมหานครที่จัดโครงการดี ๆ แบบนี้ให้หนูและเพื่อน ๆ ค่ะ”
ท้ายนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวย้ำว่า “ภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งประชาชนเองต้องพิจารณาว่า เราอยากจะเสียค่าใช้จ่ายจำนวนเล็กน้อยเป็นค่าฉีดวัคซีนป้องกันในวันนี้ หรือจะยอมเสียค่าใช้จ่ายเป็นแสน ๆ เพื่อการรักษาโรคในวันข้างหน้า อีกทั้งการฉีดวัคซีนยังเป็นการลดภาระทางสังคมในการดูแล รักษา และลดความเจ็บปวดทางด้านสภาพจิตใจทั้งของผู้ป่วยเองและคนรอบข้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและสำคัญกว่าเรื่องค่าใช้จ่ายเสียอีก”