เรียนรู้ “โรคลมชัก” รับมืออย่างเข้าใจ
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ร่วมกับสหพันธ์ประสาทวิทยาโลก (World Federation of Neurology: WFN) สมาพันธ์นานาชาติในการต้านโรคลมชัก (International League Against Epilepsy: ILAE) กำหนดให้วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 เป็นวันสมองโลก (World Brain Day) โดยปีนี้กำหนดให้รณรงค์เกี่ยวกับโรคลมชัก (Epilepsy) ทั่วโลกพร้อมกัน
มูลนิธิเพื่อโรคระบบประสาทแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับ สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย และสมาคมโรคลมชักแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมใน “วันสมองโลก” ขึ้น เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์นั้นได้จัดให้มีประชุมวิชาการทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคลมชักขึ้นเมื่อวันที่ 22-24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมสุโกศล ภายในงานมีการบรรยายทางวิชาการและเสนอผลงานวิจัยของแพทย์ด้านโรคลมชัก ทั้งการรักษาทางยา การผ่าตัด ตลอดจนกลไกของการเกิดโรค พยาธิวิทยา สรีรพยาธิวิทยา ตลอดจนเภสัชวิทยาของยารักษาโรคลมชักชนิดใหม่ ๆ เพื่อให้แพทย์ทั่วไปมีความรู้ความสามารถที่ทันสมัย เพื่อจะได้นำไปใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ทั่วทั้งประเทศ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมบรรยายเป็นจำนวนมาก
ศ.นพ.นิพนธ์ พวงวรินทร์ ประธานมูลนิธิเพื่อโรคระบบประสาทแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การอนามัยโลก และสหพันธ์ประสาทวิทยาโลก ต้องการที่จะตอบสนองต่อนโยบายระดับโลกมาสู่ระดับประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักรับรู้ถึงสถานการณ์ของโรคลมชักในประเทศไทย และเพื่อยกระดับมาตรฐานของการดูแลผู้ป่วยโรคระบบประสาทของทั้งประเทศ
โรคลมชักเป็นโรคที่พบได้บ่อยในระบบประสาท เนื่องจากมีพยาธิสภาพเกิดขึ้นที่ผิวสมอง ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการชักเกร็งเฉพาะที่ หรือชักหมดสติทั้งตัว ผู้ป่วยโรคลมชักมักจะถูกสังคมรังเกียจและเลือกปฏิบัติ โดยจะถูกแยกออกจากสังคมและเป็นปมด้อยของชีวิต เพราะยังมีความเชื่อที่ผิด ๆ ติดต่อกันมายาวนานจนถึงปัจจุบัน เช่น เชื่อว่าโรคนี้เกิดจากผีเข้า ผีสิง เป็นบ้า หรือเป็นโรคติดต่อ ส่งผลให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ถูกลิดรอนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน รวมทั้งอาจก่อให้เกิดความรุนแรงจากการถูกแยกออกจากสังคม
สำหรับโรคลมชักสามารถพบได้บ่อยในทุกประเทศทั่วโลก โดยไม่จำกัดเพศ อายุ เชื้อชาติ สัญชาติ และผิวสี โรคนี้มักมีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำบ่อย ๆ ถ้าหากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง โดยในปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคลมชักมากกว่า 50 ล้านคน จากประชากรโลกราว 7,000 ล้านคน และทุก ๆ ปีจะมีผู้ป่วยโรคลมชักเกิดขึ้นใหม่ราว 2.4 ล้านคน ซึ่งในผู้ป่วยที่เกิดขึ้นใหม่นี้ ราว 3 ใน 4 จะเกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งเป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่ำถึงปานกลาง
“โรคลมชักเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนอายุขัยมากกว่าคนทั่วไป 2-6 เท่า (โดยเสียชีวิตมากกว่า 6 เท่าในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง และเสียชีวิตมากกว่า 2 เท่าในประชากรของประเทศที่มีรายได้สูง หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว) จึงต้องมีการรณรงค์เกี่ยวกับโรคลมชัก โดยการเน้นให้ประชาชนและสังคมเข้าใจถึงโรคนี้อย่างถูกต้องในด้านการเกิดโรค การป้องกัน และรักษาโรค ตลอดจนลบล้างความเชื่อผิด ๆ ในอดีต เพราะมากกว่าร้อยละ 75 ของผู้ป่วยโรคลมชักจะสามารถมีชีวิตเหมือนเช่นคนปกติได้อย่างดีในสังคม โดยไม่เกิดการชักซ้ำอีกหากได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม” ศ.นพ.นิพนธ์ กล่าว
ศ.นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า โรคลมชักสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ โรคลมชักทั้งตัว ซึ่งเดิมคนไทยจะเรียกว่าโรคลมบ้าหมู ภาวะนี้ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยเด็กและจัดว่าเป็นโรคทางพันธุกรรมโรคหนึ่ง โดยพบว่าผู้ป่วยจะมีประวัติว่ามีบิดา มารดา หรือญาติพี่น้องฝ่ายบิดาหรือมารดา ตลอดจนพี่น้องในครอบครัวเดียวกันเป็นโรคดังกล่าวด้วย ราวร้อยละ 50 บางคนอาจเกิดจากภาวะสมองถูกกระทบกระเทือนขณะคลอดในรายที่คลอดยาก หรือต้องใช้เครื่องมือช่วยคลอด หรือมีภาวะสมองขาดเลือดหรือขาดออกซิเจนขณะแรกเกิด
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น อุบัติเหตุรุนแรงที่ศีรษะ ทำให้เกิดแผลที่ผิวสมองหรือสมองช้ำ สมองบวมน้ำ เช่น จากอุบัติเหตุรถยนต์ ทำให้ผู้ป่วยหมดสติและชักตามมา การติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัส เชื้อรา เชื้อวัณโรค หรือพยาธิชนิดต่าง ๆ เช่น พยาธิตืดหมู พยาธิตัวจี๊ด โรคเอดส์หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เนื่องจากเชื้อไวรัสเอดส์เองหรือโรคติดเชื้ออื่น ๆ เช่น เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ภาวะสมองขาดเลือดจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ อุดตันหรือแตก หรือเกิดภายหลังภาวะหัวใจหยุดเต้น หรือช็อก โรคเนื้องอกสมองชนิดเนื้องอกของสมองเอง หรือเนื้องอกมะเร็งกระจายมาสู่สมอง โรคทางกายต่าง ๆ เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะเกลือแร่ในร่างกายต่ำ ภาวะกระแสโลหิตเป็นพิษจากการติดเชื้อ โรคไทรอยด์ โรคไต โรคตับ พิษจากสารเคมีต่าง ๆ เช่น ยาบ้า ทินเนอร์ หรือกาว ยาโคเคน เฮโรอีน ยาไอซ์ ตลอดจนสารเสพติดต่าง ๆ รวมทั้งเหล้าหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสม ภาวะแพ้ยาต่าง ๆ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคเบาหวาน ยาเคมีบำบัด รวมถึงหาสาเหตุไม่พบ
โรคลมชักเฉพาะที่ ภาวะนี้จะมีอาการกระตุกหรือเกร็งเฉพาะที่ โดยที่ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดีตลอดเวลาและไม่มีภาวะหมดสติ ตาค้างหรือไม่รู้สึกตัวแต่อย่างใด เพราะมีพยาธิสภาพเกิดขึ้นเฉพาะบางตำแหน่งของผิวสมองเท่านั้น เช่น มีแขนหรือขากระตุก มุมปากกระตุกหรือตาค้าง คอหันสะบัดไปข้างใดข้างหนึ่ง เป็นต้น ดังนั้น แพทย์ผู้รักษาจะต้องรีบหาสาเหตุในผู้ป่วยกลุ่มนี้ทุกราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้พบว่าไม่เกี่ยวข้องกับโรคทางพันธุกรรม จึงไม่เป็นโรคที่พบร่วมกันในครอบครัว สาเหตุการเกิดโรคในผู้ป่วยกลุ่มนี้คล้ายกับโรคลมชักทั้งตัว เช่น อุบัติเหตุศีรษะที่รุนแรง การติดเชื้อ เนื้องอกสมอง และเหตุสารพิษต่าง ๆ
รศ.พญ.นาราพร ประยูรวิวัฒน์ นายกสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การวินิจฉัยโรคลมชัก บางครั้งวินิจฉัยได้ง่าย บางครั้งก็ซับซ้อน ถ้าหากวินิจฉัยได้ก็สามารถจะรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมอาการชักได้โดยไม่ต้องผ่าตัด แต่สิ่งสำคัญที่อยากจะเน้นคือ การสร้างความตระหนักเพื่อไม่ให้เกิดแผลที่ผิวสมอง ซึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคที่น่าจะป้องกันได้คือ อุบัติเหตุ ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะพบจำนวนผู้ป่วยโรคลมชักน้อยกว่า เพราะเห็นความสำคัญในการดูแลป้องกันอุบัติเหตุว่าเป็นเรื่องใหญ่ มองว่าประชากรเป็นทรัพยากรของชาติที่มีความสำคัญ จึงเน้นในเรื่องของการป้องกันอุบัติเหตุ การดูแลเรื่องกฎจราจร ซึ่งมีโอกาสความเสี่ยงสูงที่จะทำเกิดแผลที่ผิวสมอง
“ผู้ป่วยโรคลมชัก ถ้ายังควบคุมอาการไม่ได้ต้องรับผิดชอบต่อผู้อื่นด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ขับขี่รถสาธารณะ ในต่างประเทศมีกระบวนการดูแลรับผิดชอบผู้ขับขี่รถสาธารณะ โดยจะมีการประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคลมชัก หรือในการทำงานด้านอื่น ๆ ถ้าพบว่าเป็นโรคนี้จะให้เวลาผู้ป่วยไปรักษาจนสามารถควบคุมอาการได้ดี หรือสลับไปทำงานในส่วนที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อเครื่องจักร หรือรถยนต์ ขณะที่บ้านเราจะให้ออกจากงานเลย ทำให้สูญเสียโอกาสการทำงาน ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่กล้าที่จะบอกว่าเป็นโรคลมชัก เนื่องจากกลัวตกงาน ดังนั้น สังคมจะต้องเห็นใจและพยายามให้ความช่วยเหลือ หาวิธีให้เขาดำรงชีวิตต่อไปในสังคมได้” รศ.พญ.นาราพร กล่าว
รศ.พญ.นาราพร กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคลมชัก กระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์สุขภาพด้านโรคหลอดเลือดสมอง รณรงค์ให้มีการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในระดับโรงพยาบาลทั้งประเทศ หรือ Stroke Fast Track เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยไม่เสียชีวิตและลดอัตราการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าโรคหลอดเลือดสมองจะมีวิธีการรักษาที่ดีในปัจจุบัน แต่ในความต้องการของแพทย์แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ การป้องกันปัจจัยเสี่ยงก่อนที่จะเกิดโรค เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น เพราะถ้าเป็นโรคหลอดเลือดสมองก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคลมชักเป็นของแถมตามมา
ในการวินิจฉัยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคลมชักทุกรายจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยแยกโรคและหาสาเหตุ เพื่อจะได้ให้การรักษาและแก้ไขได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย การวินิจฉัยโรคลมชักมีขั้นตอนต่าง ๆ เริ่มจากซักประวัติและตรวจร่างกายทางระบบประสาทโดยละเอียดโดยแพทย์ผู้รักษา ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองเพื่อยืนยันว่ามีความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าที่ผิวสมองจริง ตรวจหาพยาธิสภาพของสมองโดยวิธี Neuroimaging เช่น ตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์สมอง (CT brain scan) หรือเอ็มอาร์ไอสมอง (MRI brain) เพื่อหาตำแหน่งและชนิดของรอยโรค บางครั้งอาจจำเป็นต้องตรวจพิเศษโดยเครื่อง PET scan ฉีดสีดูหลอดเลือดสมอง เพื่อหาความผิดปกติที่ทำให้เกิดโรคลมชัก และตัดชิ้นเนื้อสมองเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
“ความยากง่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลมชักขึ้นอยู่กับสาเหตุและการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยแต่ละรายซึ่งมีความแตกต่างกัน ผู้ป่วยบางรายรักษาง่ายมาก รับประทานยาหนึ่งชนิดหรือไม่กี่ชนิดก็ไม่มีอาการชักอีกเลย ส่วนในรายที่รักษายากจะได้รับการส่งต่อมาถึงมือผู้เชี่ยวชาญ ด้วยองค์ความรู้ของประเทศไทยทำให้เรามีความสามารถที่จะรักษาผู้ป่วยได้ โดยหลักสำคัญของการรักษาคือ ไม่ให้ผู้ป่วยเกิดอาการชักอีกเลย” รศ.พญ.นาราพร กล่าว
ศ.นพ.อนันต์นิตย์ วิสุทธิพันธ์ นายกสมาคมโรคลมชักแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความสามารถในการรักษาโรคลมชักเท่าเทียมอารยประเทศ ด้วย 2 วิธีการใหญ่ ๆ คือ การรักษาทางยา โดยให้ยารักษาอาการชักและป้องกันไม่ให้เกิดชักซ้ำอีก เพราะการชักแต่ละครั้งเซลล์สมองจะสูญเสียหรือตายไปนับแสนตัว ดังนั้น ถ้าชักบ่อย ๆ จะทำให้เซลล์สมองถูกทำลาย และมีผลเสียตามมา เช่น ความจำเสื่อมหรือสมองเสื่อม สมองช้า และเกิดความพิการตามมาได้ และ การรักษาโดยการผ่าตัด โดยศัลยแพทย์ระบบประสาทจะเป็นผู้ทำการผ่าตัดแก้ไขสาเหตุของการชัก เช่น เนื้องอกสมอง หรือหลอดเลือดผิดปกติในสมอง หรือภาวะแผลเป็นที่ผิวสมอง โดยการตัดเอาสมองส่วนผิดปกติออกไป
ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคลมชักจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนคนปกติได้ ถ้าหากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีและเหมาะสม ปัจจุบันมียาทั้งชนิดใช้รักษาและป้องกันการชักชนิดใหม่ ๆ จำนวนมากที่มีคุณภาพดีและสามารถควบคุมการชักได้อย่างดีและมีผลแทรกซ้อนน้อย ผู้ป่วยโรคลมชักอย่างน้อยต้องได้ยารักษาและป้องกันจนไม่มีอาการชักอีกเลยอย่างน้อย 3 ปี จึงจะค่อย ๆ ปรับลดยาและอาจหยุดยาได้ในที่สุดและถือว่าหายขาด หรือบางรายใช้วิธีผ่าตัดแก้ไขก็จะหายชักได้อย่างถาวร อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยโรคลมชักไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจเกิดชักติดต่อเนื่องและไม่รู้สึกตัว ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายมากและมีอัตราเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 10
ศ.นพ.อนันต์นิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้สมาคมโรคลมชักกำลังผลักดันเพื่อให้เกิดกฎหมาย โดยมีการร่างกฎระเบียบข้อหนึ่งเข้าไปในการทดสอบเพื่อออกใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ จะต้องมีการรับรองว่าไม่เป็นโรคที่เป็นปัญหาต่อการขับขี่รถยนต์ เช่น โรคลมชัก หรือเคยมีประวัติการเป็นโรคลมชักแต่สามารถควบคุมได้ ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกันในรายละเอียดต่อไป
“โรคลมชักเป็นโรคที่สามารถรักษาและป้องกันได้อย่างดี ถ้าหากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม ทั้งนี้โรคลมชักสามารถรักษาให้หายขาดได้ ในต่างประเทศมีกฎหมายห้ามผู้ป่วยโรคลมชักขับรถยนต์จนกว่าจะได้ยารักษาและป้องกันจนสามารถควบคุมอาการชักและไม่มีอาการชักอีกเลยติดต่อกันอย่างน้อย 1 ปี จึงอนุญาตให้กลับไปขับรถยนต์ได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องไปพบแพทย์และต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ในประเทศไทยกำลังร่างเสนอกฎหมายอันนี้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป เพื่อความปลอดภัยของประชาชนโดยรวม แต่ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือ การที่ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคลมชักอย่างถูกต้องเหมาะสม และมีการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคลมชักอย่างเป็นระบบและยั่งยืน” ศ.นพ.อนันต์นิตย์ กล่าวทิ้งท้าย