ผลลัพธ์ระยะยาวของ Abdominal Aortic Aneurysm ในผู้ป่วยเมดิแคร์
N Engl J Med 2015;373:328-338.
บทความเรื่อง Long-Term Outcomes of Abdominal Aortic Aneurysm in the Medicare Population รายงานว่า ข้อมูลจากการศึกษาเปรียบเทียบและการสังเกตชี้ว่าการรักษา abdominal aortic aneurysm ทางหลอดเลือดมีอัตราภาวะแทรกซ้อนและการตายระหว่างผ่าตัดต่ำกว่าการผ่าตัดแบบเปิด อย่างไรก็ดี ประโยชน์ด้านการรอดชีวิตยังคงไม่แน่ชัด ขณะเดียวกันก็มีความกังวลถึงความเสี่ยงระยะยาวต่อ aneurysm rupture หรือการรักษาซ้ำหลังการรักษาทางหลอดเลือด
การศึกษาได้ประเมินการรอดชีวิตระหว่างผ่าตัดและระยะยาว การรักษาซ้ำ และภาวะแทรกซ้อนหลังการรักษา abdominal aortic aneurysm ทางหลอดเลือดเทียบกับการรักษาแบบเปิดในผู้ป่วยเมดิแคร์ซึ่งได้รับการรักษาระหว่างปี ค.ศ. 2001-2008 และติดตามถึงปี ค.ศ. 2009
จากกลุ่มตัวอย่างได้จับคู่ผู้ป่วยที่รักษาทางหลอดเลือดหรือเปิดหลอดเลือด 39,966 คู่ อัตราตายระหว่างผ่าตัดโดยรวมเท่ากับ 1.6% จากการรักษาทางหลอดเลือดเทียบกับ 5.2% จากการรักษาแบบเปิด (p < 0.001) นับจากปี ค.ศ. 2001-2008 พบว่าอัตราตายระหว่างผ่าตัดลดลง 0.8 percentage points ในผู้ป่วยรักษาทางหลอดเลือด (p = 0.001) และลดลง 0.6 percentage points ในผู้ป่วยรักษาแบบเปิด (p = 0.01) อัตราการเปลี่ยนจากการรักษาทางหลอดเลือดเป็นการรักษาแบบเปิดลดลงจาก 2.2% ในปี ค.ศ. 2001 มาที่ 0.3% ในปี ค.ศ. 2008 (p < 0.001) อัตราการรอดชีวิตสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญหลังการรักษาทางหลอดเลือดเทียบกับการรักษาแบบเปิดจนถึง 3 ปีแรกของการติดตาม และอัตราการรอดชีวิตใกล้เคียงกันหลังจากนั้น เมื่อถึงปีที่ 8 ของการติดตามพบว่า การรักษาที่สัมพันธ์กับ aneurysm หรือภาวะแทรกซ้อนจาก aneurysm พบบ่อยกว่าหลังการรักษาทางหลอดเลือด ขณะที่การรักษาซึ่งสัมพันธ์กับภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดเปิดหน้าท้องพบบ่อยกว่าหลังการรักษาแบบเปิด มีรายงาน aneurysm rupture เกิดขึ้นใน 5.4% ของผู้ป่วยหลังการรักษาทางหลอดเลือด และ 1.4% ของผู้ป่วยหลังการรักษาแบบเปิดจนถึง 8 ปีของการติดตาม (p < 0.001) อัตราการรักษาซ้ำที่ 2 ปีหลังการรักษาทางหลอดเลือดลดลงตามระยะเวลา (จาก 10.4% ในปี ค.ศ. 2001 เป็น 9.1% ในปี ค.ศ. 2007)
เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดแล้วพบว่า การรักษา abdominal aortic aneurysm ผ่านทางหลอดเลือดสัมพันธ์กับประโยชน์ที่มีนัยสำคัญของการรอดชีวิตในระยะแรกซึ่งลดลงเมื่อเวลาผ่านไป อัตราของหลอดเลือดแตกในสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญภายหลังการรักษาผ่านหลอดเลือดเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิด อย่างไรก็ดี พบว่าผลลัพธ์ของการรักษาทางหลอดเลือดดีขึ้นตามระยะเวลา