ผลลัพธ์เสริมฮอร์โมนเพศชายต่อหลอดเลือดแดงแข็งในชายสูงอายุ

ผลลัพธ์เสริมฮอร์โมนเพศชายต่อหลอดเลือดแดงแข็งในชายสูงอายุ

JAMA. 2015;314(6):570-581.

บทความเรื่อง Effects of Testosterone Administration for 3 Years on Subclinical Atherosclerosis Progression in Older Men with Low or Low-Normal Testosterone Levels: A Randomized Clinical Trial รายงานว่า การเสริมเทสโทสเตอโรนในชายสูงอายุเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยที่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์ระยะยาวต่อการลุกลามของโรคหลอดเลือดแดงแข็ง

บทความนี้ได้รายงานข้อมูลจากการศึกษา Testosterone’s Effects on Atherosclerosis Progression in Aging Men (TEAAM) ซึ่งศึกษาผลของการเสริมเทสโทสเตอโรนต่อหลอดเลือดแดงแข็งที่ยังไม่มีอาการในชายอายุ 60 ปีหรือมากว่า ซึ่งมีระดับเทสโทสเตอโรนต่ำหรือค่อนข้างต่ำ (100-400 ng/dL; free testosterone < 50 pg/mL) จำนวน 308 คนในสหรัฐอเมริกา การรวบรวมมีขึ้นระหว่างเดือนกันยายน ค.ศ. 2004 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2009 โดยอาสาสมัครคนสุดท้ายเสร็จสิ้นการศึกษาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2012 อาสาสมัคร 156 ราย ได้รับ 7.5 กรัมของ 1% testosterone และ 152 ราย ได้รับยาหลอกวันละครั้งเป็นเวลา 3 ปี โดยปรับขนาดยาเพื่อให้ระดับเทสโทสเตอโรนอยู่ระหว่าง 500-900 ng/dL ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ ความหนาของผนังหลอดเลือดแดงที่คอและหินปูนผนังหลอดเลือดหัวใจ ผลลัพธ์รอง ได้แก่ สมรรถภาพทางเพศและคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ

ทั้ง 2 กลุ่มมีลักษณะที่พื้นฐานใกล้เคียงกัน โดยผู้ป่วยมีอายุเฉลี่ย 67.7 ปี, 42% เป็นโรคความดันโลหิตสูง, 15% เป็นโรคเบาหวาน, 15% เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และ 27% เป็นโรคอ้วน อัตราการเปลี่ยนแปลงของความหนาผนังหลอดเลือดแดงที่คอเท่ากับ 0.010 มิลลิเมตร/ปี ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก และ 0.012 มิลลิเมตร/ปี ในกลุ่มที่ได้รับเทสโทสเตอโรน (ค่าเฉลี่ยความต่างปรับตามอายุและสถานที่วิจัยเท่ากับ 0.0002 มิลลิเมตร/ปี; 95% CI -0.003 to 0.003; p = 0.89) อัตราการเปลี่ยนแปลงของคะแนนหินปูนผนังหลอดเลือดหัวใจเท่ากับ 41.4 Agatston units/year ในกลุ่มยาหลอก และ 31.4 Agatston units/year ในกลุ่มเทสโทสเตอโรน (ค่าเฉลี่ยความต่างปรับแล้วเท่ากับ -10.8 Agatston units/year; 95% CI -45.7 to 24.2; p = 0.54) การเปลี่ยนแปลงของคะแนนความหนาผนังหลอดเลือดแดงหรือหินปูนไม่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของระดับเทสโทสเตอโรนในผู้ที่ได้รับเทสโทสเตอโรน อนึ่ง ความต้องการทางเพศ การแข็งตัวของอวัยวะเพศ คะแนนสมรรถภาพทางเพศโดยรวม ความใกล้ชิดกับคู่นอน และคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างทั้งสองกลุ่ม และระดับ hematocrit และ prostate-specific antigen เพิ่มขึ้นมากกว่าในกลุ่มที่ได้รับเทสโทสเตอโรน

การศึกษาจากชายสูงอายุซึ่งมีระดับเทสโทสเตอโรนต่ำหรือค่อนข้างต่ำชี้ว่า การเสริมเทสโทสเตอโรนเป็นเวลา 3 ปีไม่มีความต่างที่มีนัยสำคัญด้านการเปลี่ยนแปลงของความหนาผนังหลอดเลือดแดงที่คอหรือหินปูนหลอดเลือดหัวใจ หรือฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศโดยรวมหรือคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ อย่างไรก็ดี เนื่องจากการศึกษานี้มุ่งศึกษาการลุกลามของหลอดเลือดแดงแข็งเป็นหลักจึงไม่สามารถยืนยันถึงความปลอดภัยต่อหัวใจและหลอดเลือดจากการใช้เทสโทสเตอโรนในชายสูงอายุ