Intermittent Hypoxemia หรือ Bradycardia ต่อการตายหรือพิการในทารกคลอดก่อนกำหนด
JAMA. 2015;314(6):595-603.
บทความเรื่อง Association Between Intermittent Hypoxemia or Bradycardia and Late Death or Disability in Extremely Preterm Infants ชี้ว่า ทารกคลอดก่อนกำหนดมากอาจเกิด intermittent hypoxemia หรือ bradycardia หลายสัปดาห์หลังคลอด และการพยากรณ์เหตุการณ์ดังกล่าวก็ยังไม่แน่นอน
การศึกษานี้ได้ประเมินความสัมพันธ์ระหว่าง intermittent hypoxemia หรือ bradycardia และการตายหรือพิการในภายหลัง โดยศึกษาแบบ post hoc analysis ด้วยข้อมูลจาก inception cohort ในการศึกษา Canadian Oxygen Trial จากโรงพยาบาล 25 แห่งในแคนาดา สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา ฟินแลนด์ เยอรมนี และอิสราเอล รวมทารก 1,019 ราย ซึ่งมีอายุครรภ์ 23 สัปดาห์ 0 วัน ถึง 27 สัปดาห์ 6 วัน คลอดระหว่างเดือนธันวาคม ค.ศ. 2006 ถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2010 และมีชีวิตอยู่ถึง postmenstrual ageเท่ากับ 36 สัปดาห์ การติดตามประเมินมีขึ้นระหว่างเดือนตุลาคม ค.ศ. 2008 ถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2012
การศึกษาได้ติดตาม hypoxemia (pulse oximeter oxygen saturation < 80%) หรือ bradycardia (pulse rate < 80/min) เป็นเวลา 10 วินาทีหรือนานกว่า โดยบันทึกค่าทุก 10 วินาทีภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด จนถึง postmenstrual age อย่างน้อย 36 สัปดาห์ ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ การตายหลัง postmenstrual age เท่ากับ 36 สัปดาห์ ความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหว พัฒนาการทางสติปัญญาหรือภาษาที่ช้า สูญเสียการได้ยิน หรือตาบอดทั้ง 2 ข้างที่อายุที่ปรับแล้วเท่ากับ 18 เดือน ผลลัพธ์รอง ได้แก่ ความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหว พัฒนาการทางสติปัญญาหรือภาษาที่ช้า และจอตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีอาการรุนแรง
มัธยฐานระยะเวลาเก็บข้อมูลความอิ่มตัวของออกซิเจนและชีพจรเท่ากับ 68.3 วัน (interquartile range 56.8-86.0 วัน) ค่าเฉลี่ยร้อยละของเวลาที่เกิด hypoxemia ในทารกกลุ่ม 10% ที่เกิดน้อยที่สุด และ 10% ที่เกิดมากที่สุดเท่ากับ 0.4% และ 13.5% ตามลำดับ โดยค่าเฉลี่ยสำหรับ bradycardia เท่ากับ 0.1% และ 0.3% ผลลัพธ์หลักได้ยืนยันในทารก 972 ราย และพบในทารก 414 ราย (42.6%) การเกิด hypoxemic episodes สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อการตายหรือพิการที่อายุ 18 เดือน เท่ากับ 56.5% ใน decile สูงสุดของการเกิด hypoxemic episodes เทียบกับ 36.9% ใน decile ต่ำสุด (modeled relative risk 1.53; 95% CI 1.21-1.94) ความสัมพันธ์นี้มีนัยสำคัญเฉพาะ hypoxemic episodes ที่นานอย่างน้อย 1 นาที (relative risk 1.66; 95% CI 1.35-2.05 vs for shorter episodes, relative risk 1.01; 95% CI 0.77-1.32) และความเสี่ยงสัมพัทธ์สำหรับผลลัพธ์รองทั้งหมดสูงขึ้นใกล้เคียงกันหลังเกิด hypoxemia ที่นาน โดยที่ bradycardia ไม่มีผลต่อค่าพยากรณ์ของ hypoxemia
ข้อมูลจากทารกคลอดก่อนกำหนดมากซึ่งอยู่รอดถึง postmenstrual age 36 สัปดาห์ชี้ว่า hypoxemic episodes ที่นานซึ่งเกิดระหว่าง 2-3 เดือนแรกหลังคลอดสัมพันธ์กับผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์ที่ 18 เดือน หากข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันในการศึกษาอื่นนับจากนี้ก็จำเป็นที่จะมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ดังกล่าว