ดนตรีช่วยฟื้นตัวหลังผ่าตัด

ดนตรีช่วยฟื้นตัวหลังผ่าตัด

The Lancet. Published online: August 12, 2015.

บทความเรื่อง Music as an Aid for Postoperative Recovery in Adults: A Systematic Review and Meta-Analysis รายงานว่า ดนตรีเป็นแนวทางการบำบัดที่ไม่ทำให้เจ็บตัว ปลอดภัย และไม่แพง ซึ่งสามารถทำได้ง่ายและได้ผลลัพธ์ที่ดี การศึกษานี้ได้ประเมินผลของดนตรีต่อการฟื้นตัวหลังผ่าตัดโดยศึกษาแบบ systematic review และ meta-analysis

การศึกษาได้รวบรวมข้อมูลการศึกษาเปรียบเทียบด้วยวิธีการสุ่ม (RCTs) ในผู้ใหญ่ที่ได้รับการผ่าตัด โดยไม่รวมการผ่าตัดระบบประสาทส่วนกลางหรือศีรษะและคอ โดยประเมินจากการศึกษาซึ่งเปิดเพลงในช่วงก่อนผ่าตัด ระหว่างผ่าตัด และหลังผ่าตัด เทียบกับการดูแลตามมาตรฐานหรือการบำบัดโดยไม่ใช้ยาวิธีอื่น ข้อมูลในการศึกษารวบรวมจากฐานข้อมูล MEDLINE, Embase, CINAHL และ Cochrane Central การวิเคราะห์ meta-analysis วิเคราะห์ด้วย RevMan (version 5.2) ร่วมกับ standardised mean differences (SMD) และ random-effects models และวิเคราะห์ meta-regression ด้วย Stata (version 12)

มีการศึกษา RCTs ที่นำมาศึกษาใน systematic review รวม 73 การศึกษา จำนวนอาสาสมัครอยู่ระหว่าง 20-458 ราย โดยมีความแตกต่างกันในด้านแนวเพลง เวลาที่เปิดเพลง และระยะการฟังเพลง ตัวเปรียบเทียบประกอบด้วยการดูแลมาตรฐาน ใส่หูฟังโดยไม่เปิดเพลง เสียง white noise และพักผ่อนบนเตียงโดยไม่รบกวน จากการศึกษาพบว่าดนตรีช่วยลดอาการปวดหลังผ่าตัด (SMD -0.77 [95% CI -0.99 to -0.56]), ความวิตกกังวล (-0.68 [-0.95 to -0.41]) และการใช้ยาบรรเทาปวด (-0.37 [-0.54 to -0.20]) ขณะที่เพิ่มความพึงพอใจของผู้ป่วย (1.09 [0.51-1.68]) แต่ไม่มีความต่างด้านระยะการพักในโรงพยาบาล (SMD -0.11 [-0.35 to 0.12]) การวิเคราะห์กลุ่มย่อยชี้ว่า แนวเพลงและเวลาที่เปิดเพลงมีผลเล็กน้อยต่อผลลัพธ์ และจาก meta-regression ก็ไม่พบสาเหตุของ heterogeneity ในตัวแปรทั้ง 8 ตัวที่ศึกษา ทั้งนี้ดนตรียังคงให้ผลดีแม้ผู้ป่วยอยู่ภายใต้ยาสลบ

ดนตรีอาจเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดอาการปวดและความวิตกกังวลในช่วงหลังการผ่าตัด โดยอาจปรับให้สอดคล้องกับบริบททางคลินิกและคณะผู้ให้การรักษา